นายกรัฐมนตรีสั่งการ เงินเยียวยาประกันสังคม ให้นายจ้าง 6 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศล็อคดาวน์ วงเงินต่อรายสูงสุด 600,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน และเตรียมเยียวยาลูกจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) ด้วย
นายกฯ ประกาศ แก้ปัญหาทุจริต เป็นวาระแห่งชาติ ไทยอันดับ 104 ของโลก
วัคซีนจอห์นสัน เตรียมเข้าไทย 25 ล้านโดส หลังนายกฯ ลงนามสั่งซื้อ
ครม. เห็นชอบ ลดเงินสมทบประกันสังคม ให้อาชีพอิสระ ม.40 เหลือ 60%
หลังจากที่ประกาศกึ่งล็อคดาวน์ (ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 25) มีผลแล้วตั้งแต่วันนี้ (28 มิถุนายน 2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้แถลงมติของที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) โดยเริ่มเยียวยาในพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้มก่อน
เยียวยานายจ้าง 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม 1 เดือน งบ 7,500 ล้าน
นายกรัฐมนตรี แถลงว่าการประชุม ศบศ. วันนี้ ได้หารือทั้งภาครัฐ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และโรงเรียนแพทย์ และยืนยันว่ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี และส่วนราชการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนเพื่อนำมาพิจารณาเสมอ โดยจะมีการเยียวยาเป็นระยะเวลา 1 เดือน เริ่มจากในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข็มงวด (สีแดงเข้ม) ใน 6 จังหวัดเพื่อลดผลกระทบของการประกาศข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 25 ก่อน ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร
- นครปฐม
- สมุทรปราการ
- สมุทรสาคร
- นนทบุรี และ
- ปทุมธานี
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณส่วนของรัฐบาลเพื่อเยียวยาพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งมาจากเงินกู้และเงินกองทุนประกันสังคมรวมเป็นเงินจำนวน 7,500 ล้านบาท สำหรับการเยียวยาเป็นระยะเวลา 1 เดือน
เยียวยานายจ้าง ก่อสร้าง-โรงแรม-ร้านอาหาร ตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุด 600,000 บาท ลูกจ้างได้เยียวยาเพิ่มคนละ 2,000 บาท
นายกรัฐมนตรี แถลงเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเยียวยา 3 กลุ่มธุรกิจใน 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบในช่วงระยะเวลา 1 เดือน ได้แก่
- ก่อสร้าง
- ที่พักแรม
- บริการด้านอาหาร สถานบันเทิงและนันทนาการ
โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยแผนการเยียวยา ดังนี้
นายจ้างในระบบประกันสังคม
- รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้นายจ้างในระบบประกันสังคมตามจำนวนลูกจ้างในอัตรา 3,000 บาทต่อคน แต่สูงสุดไม่เกิน 200 คน (เยียวยานายจ้างสูงสุด 600,000 บาท/ราย)
นายจ้างนอกระบบประกันสังคม
- จะช่วยให้เข้าระบบประกันสังคมก่อนภายใน 1 เดือน แล้วรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้ตามจำนวนลูกจ้างในอัตรา 3,000 บาทต่อคน
สถานประกอบการนอกระบบประกันสังคมและไม่มีลูกจ้าง
- กรณีเป็นสถานประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างและไม่สามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ จะช่วยให้เข้าระบบถุงเงินในโครงการ คนละครึ่ง.com ภายใน 1 เดือน โดยผู้ประกอบการกลุ่มร้านอาหาร เครื่องเดิม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคมจะได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาท
ลูกจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33)
- กระทรวงแรงงานจ่ายเงินเยียวยาให้ลูกจ้างที่เข้าระบบประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในอัตรา 50% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกินคนละ 7,500 บาท (ได้รับตามสิทธิประกันสังคม เนื่องจากเหตุสุดวิสัย)
- รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติมให้กับลูกจ้างในระบบประกันสังคมประมาณอีกคนละ 2,000 บาท
- รวมลูกจ้างในระบบประกันสังคมมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาสุงสุดคนละ 9,500 บาท
ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม
- ลูกจ้างนอกระบบที่มีสัญญาติไทย – ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท
- ลูกจ้างนอกระบบที่เป็นคนต่างด้าว – ไม่ได้รับการเยียวยา
หมายเหตุ: การเยียวยาแคมป์คนงานกรณีถูกสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง จะมีการเช็กชื่อลูกจ้างในแคมป์คนงานด้วยโดยจะจ่ายเงินให้เฉพาะคนที่อยู่เท่านั้น หากเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือออกจากแคมป์จะไม่ได้รับเงินเยียวยา โดยการจ่ายเงินเยียวยาจะแบ่งจ่ายให้ทุก 5 วัน
ทั้งนี้ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งจะมีพื้นที่จังหวัดอื่นที่ได้รับเยียวยาด้วย แต่วันนี้จะเริ่มจากพื้นที่ 6 จังหวัดดังกล่าวก่อน
นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ได้รับผลกระทบและผมเป็นห่วงในวันนี้ก็คือร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารรายย่อยที่ปกติคนค่อนข้างระมัดระวังเรื่องโควิดระบาดอยู่แล้ว ไม่ค่อยออกนอกบ้านจึงได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมก่อสร้างกับผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ เพื่อประกอบอาหารและจัดส่งไปยังสถานประกอบการและแคมป์คนงานต่างๆ เพื่อที่จะได้มีรายได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เรื่องนี้ทางกรุงเทพฯ รับเรื่องไปแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีคนไม่สบายใจหรือยังไม่พอใจแต่ก็ต้องเข้าใจว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องบริหารงานให้เป็นระบบไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา พันกันยุ่งเหยิงในอนาคต รัฐบาลต้องดำเนินการให้รอบคอบรัดกุม”