สรุปเนื้อหาจากเสวนาวิชาการ “เปิดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยผู้แทน 6 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ 9 สมาคมด้านดิจิทัล สรุปโดยทีมงาน iTAX media
- ค้นหาหน่วยเลือกตั้ง 2566 เช็กสิทธิเลือกตั้งของตัวเอง
- เบอร์พรรค ปาร์ตี้ลิสต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลือกตั้ง 66
รูปแบบกิจกรรมเสวนาวิชาการ “เปิดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล”
- ผู้แทนพรรคการเมืองจะมีโควต้าเวลาตอบคำถามตลอดงานเสวนาคนละ 15 นาที โดยสามารถวางแผนใช้สิทธิตอบคำถามข้อละนานกี่นาทีก็ได้หรือขอไม่ตอบคำถามใดก็ได้ ดังนั้น คำตอบบางข้ออาจสั้น-ยาวไม่เท่ากัน และบางข้ออาจไม่มีคำตอบจากผู้แทนบางพรรคเนื่องจากไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถามข้อดังกล่าว
- หากใช้เวลาครบหมด 15 นาทีแล้วจะไม่สามารถตอบคำถามได้อีก
- คำถามจะเป็นการถามสดจากตัวแทนภาคเอกชน โดยมี 6 คำถาม ประกอบด้วย
- คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที
- คุณวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
- คุณมิ้นท์ กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA)
- ดร.แป้ง อสมา กุลวานิชไชยนันท์ ตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล (DTE)
- คุณแคสเปอร์ ธนกฤต เสริมสุขสันต์ อุปนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
- คุณอั๋น คุณพิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ อุปนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
- ในกรณีที่ผู้แทนพรรคการเมืองขอใช้สิทธิตอบข้อเดียวกันมากกว่า 1 คน ให้ผู้แทนของแต่ละพรรคตกลงลำดับการตอบคำถามกันเอง
- ผู้แทนพรรคการเมืองประกอบด้วย
- พรรคชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค
- พรรคประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ
- พรรคเพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ
- พรรคก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- พรรคไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน รองเลขาธิการพรรค
- พรรคพลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สรุปคำตอบของผู้แทนพรรคการเมือง จาก 6 คำถามจากงานเสวนา “เปิดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยผู้แทนภาคเอกชน
1. แนวทางแก้ไขด้านการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ที่ขาดแคลนในไทยเป็นอย่างไร? – คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที
ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน
- ผลักดันผ่านสถานศึกษาทั้งอาชีวะและมหาวิทยาลัยหากร่วมกัน คาดว่าภายใน 3 ปีจะแก้ปัญหาให้ได้ และมีคนเพียงพอ
- นอกจากทักษะด้าน coding แล้ว ควรเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาด้วย เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ startup ด้วยตัวเองได้
ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ
- ระยะสั้น แก้ไขให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นกำลังคนทดแทนด้านดิจิทัลก่อน ทั้งคนเวียดนาม คนอินเดีย คนจีน แต่ต้องตั้งกฎกติกาให้รัดกุม
- ระยะยาว ปฏิรูประบบการศึกษาให้มหาวิทยาลัยเป็น marketplace ทางวิชาการ ต้องมีหลักสูตรเร่งรัดโดยหารือกับภาคเอกชนเพื่อผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ เพราะภาคการศึกษามักตามไม่ทันความต้องการของตลาด
- พัฒนากำลังคนด้านอื่น ให้มาเป็นกำลังคนด้านดิจิทัล
ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
- ระยะสั้น แก้ไขให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นกำลังคนทดแทนด้านดิจิทัลก่อน
- ระยะกลาง ทำให้ธุรกิจ startup ในไทยเติบโตเป็นบริษัทใหญ่เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดทักษะด้าน coding ที่ใช้งานได้จริงให้กับกำลังคนด้านดิจิทัล เพราะเชื่อว่าทักษะที่ใช้งานได้จริงเกิดขึ้นนอกห้องเรียนมากกว่าในชั้นเรียน
- ภาครัฐสามารถเป็นสร้าง demand ให้ผู้พัฒนาได้โดยกำหนดโจทย์ของเมือง เช่น ปัญหาด้านประปา ไฟฟ้า ไฟส่องสว่าง สามารถพัฒนา smart censor ด้วย iOT โดยใช้งบหลวงเพื่อนำมาซื้อเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยผู้ผลิตในประเทศไทยก่อน
ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร
- ต้องมีสถาบันเสริมทักษะเพิ่ม แม้จะไม่ได้เรียนจบมาทางด้าน coding
- สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับการพัฒนาบุคลากรและการสร้างธุรกิจ startup
เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ
- ระยะสั้น แก้ไขให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นกำลังคนทดแทนด้านดิจิทัลก่อน
- ผลักดันนโยบายการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดอัตรานักเรียนที่หลุดออกจากระบบ สนับสนุนอินเตอร์เน็ตและแท็ปเล็ตฟรี และคัดกรองการเรียนที่เหมาะสมกับศักยภาพเป็นรายบุคคล แรงงานอายุ 40 ขึ้นไปก็สามารถสนับสนุนให้มีทักษะสูงขึ้นได้
- ภาครัฐเป็นตัวกลางเชื่อมความรู้จากทั่วโลกมาให้ มากกว่าจะเป็นผู้ผลิตความรู้เอง
พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
- ไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถาม
2. นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะผลักดัน SME ไทยเป็นพิเศษและโฟกัสกลุ่มไหนเป็นพิเศษ? – คุณวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ รองประธานสมาพันธ์ SME ไทย
ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ
- SME ไทยมีปัญหาเรื่องเงินทุนมาตลอด ต้องเปลี่ยนระบบการใช้สินเชื่อเดิมแล้วใช้ระบบ credit score แทน ซึ่งจะทำได้ต้องมีเรื่อง Big Data เช่น ประเทศจีนสามารถพิจารณาการให้สินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว หากปล่อยให้เป็นระบบเดิมต่อไป SME จะติดหนี้นอกระบบกันทั้งประเทศ
- มีการสนับสนุนด้านนวัตกรรมให้ SME ซึ่งจำเป็นต้องมีเรื่อง Research & Development โดยต้องให้สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองด้าน R&D ให้เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้คนอย่างคิด
- ไม่เห็นด้วยกับโครงการ OTOP เพราะเน้นด้านการผลิตแต่ไม่ได้เน้นด้านการตลาด สิ่งที่ควรเป็นคือหาตลาดก่อนแล้วค่อยบอกแต่ละตำบลว่าควรผลิตอะไร จังหวัดไหนควรทำ supply chain สินค้าตัวนั้นอย่างไร หนึ่งจังหวัดควรมีไม่เกิน 5 ผลิตภัณฑ์
ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
- สร้างแต้มต่อให้ SME สามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
- พัฒนา trade bureau ผ่านระบบ e-tax invoice & e-receipt เพื่อตรวจสอบการดึงเวลาจ่ายเงิน และสามารถนำข้อมูลบนระบบไปใช้ด้านการให้สินเชื่อได้
- หวยใบเสร็จ เพื่อสนับสนุนให้มีลูกค้าเดินเข้าหา SME มากขึ้น
พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
- ผลักดันด้าน Digital Transformation เพื่อพัฒนาให้ SME มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้เกิด startup ที่สร้างระบบพัฒนาศักยภาพให้ SME ได้มากขึ้น
- ดำเนินงานบัญชีบริการดิจิทัลให้ภาครัฐซื้อบริการดิจิทัลแบบเฉพาะเจาะจงได้ต่อไป ตอนนี้ติดที่กรมบัญชีกลาง
- เชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลระหว่างภาคเอกชนให้ได้มากขึ้น เพื่อทำให้พัฒนาธุรกิจร่วมกันได้
- เงินสนับสนุนปัจจุบันมีน้อยเกินไป ต้องแก้ไขกฎหมายให้สนับสนุนการลงทุนกับ Startup ให้ได้มากกว่านี้ เพราะปัจจุบันนี้ใช้งบประมาณภาครัฐแล้วมีข้อจำกัดยังไม่สามารถลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงแบบ Angel Fund ได้และมีความเสี่ยงเรื่องความรับผิดมากเกินไป
เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ
- มีแผนจะพัฒนาโครงการ OTOP ให้ดีกว่านี้ และมีแผนพัฒนา digital economy ซึ่งจะเป็นระบบเศรษฐกิจฐานรากของทุกธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอน
- ต้องสร้าง digital government เพื่อแก้ไขปัญหาที่ SME พบด้านเวลา ข้อมูล และแหล่งทุน เพราะอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐราชการ ที่มีกระบวนการเยอะมากและไม่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เข้าถึงและนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยภาคเอกชนแบบ machine-readable ไม่ใช่ไฟล์ PDF หรือใช้เลขไทย เปลี่ยนจากรัฐอุปสรรคเป็นรัฐสนับสนุน หากปลดล็อกอุปสรรคที่เกิดจากภาครัฐได้แล้ว แหล่งเงินทุนจะตามมาได้เอง
ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร
- ตั้งกองทุน SME 3 แสนล้านบาทเพื่อร่วมลงทุนกับ SME ได้โดยไม่ต้องกู้
- จัดงบประมาณลงทุนในสัดส่วน 3% ของ GDP ด้านการพัฒนานวัตกรรม ภายใน 4 ปี โดย 70% ของงบประมาณส่วนนี้จะให้รัฐร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินทางปัญหา
- ต้องให้ SME รายเล็กได้ประโยชน์จากการเปิดข้อมูลก่อนรายใหญ่
- ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านนวัตกรรมตามนิยามขององค์การการค้าโลก (WTO) และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และพัฒนามหาวิทยาลัยมาร่วมพัฒนาบุคลากรด้วย เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าลงทุนติดอันดับโลก
- ไปสู่ no-stop service ให้บริการภาครัฐเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด
ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน
- ไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถาม
3. แผน 100 วันและ action plan ด้านการพัฒนา e-commerce หากท่านได้เป็นรัฐบาลจะเป็นอย่างไร? – คุณมิ้นท์ กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA)
ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ
- ปัญหาที่มีมานานคือรัฐบาลไม่เข้าใจ e-commerce สิ่งที่ทำได้ระยะสั้นคืออุดหนุนค่าขนส่งให้ e-commerce ซึ่งเป็นโมเดลที่ประเทศจีนทำและเริ่มดำเนินนโยบายเรื่อง e-commerce park
- แก้ปัญหาเรื่อง Fraud เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการโกงในไทยค่อนข้างรุนแรง
- ต้องสร้าง e-commerce platform ของไทย เพราะทุกวันนี้ไม่มี e-commerce platform ของไทยเหลืออีกแล้ว และเสียเอกราชทาง e-commerce ไปแล้ว คนจีนรู้ก่อนล่วงหน้า 6 เดือนแล้วว่าตลาดไทยต้องการอะไร
- ต้องเปลี่ยนบท E-commerce จากแค่ user ให้เป็นผู้ขายให้ได้ และต้องการรัฐบาลที่เข้าใจเพราะ E-commerce แข่งกันที่ความเร็วและความยืดหยุ่น ถ้ารัฐบาลไม่เข้าใจ ประเทศไทยจะเสียท่าและเป็นได้แค่ประเทศผู้ซื้อไปเรื่อยๆ ไม่มีทางเป็นผู้ขายได้
พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
- รัฐบาลมีหน้าที่ต้องวางรากฐานให้เกิด e-commerce ได้ ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ดีระดับโลกอยู่แล้ว
- ต้องแก้ปัญหาเรื่อง Fraud ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่จริงและรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ และอยู่ในระหว่างการพัฒนา Digital Post ID โดยไปรษณีย์ไทย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และทำให้ e-commerce ไทยเข้มแข็งขึ้นได้
- ต้องมีการจดแจ้งขึ้นทะเบียนธุรกิจ Plaform เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีการกำกับดูแล แต่ก็ต้องหาทางรับมือในอนาคตด้วยว่าสำหรับ plaform ต่างชาติที่ไม่เข้ามาจดแจ้งในไทยและไม่ทำตามกฎหมายไทย ภาครัฐควรดำเนินการเข้มข้นเพียงใด ต้องถึงขนาดปิดกั้นการเข้าถึงเลยหรือไม่ เพราะหากปิดมากเกินไปผู้บริโภคไทยก็อาจเดือดร้อน คงต้องชั่งน้ำหนักว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม และภาครัฐก็มีข้อจำกัดตามกรอบของกฎหมายที่อยากให้ภาคเอกชนเข้าใจด้วย
ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน
- ภาครัฐสามารถช่วยเหลือ e-commerce ไทยได้ และน่ามองหาตลาดต่างประเทศให้สินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศได้ด้วย เช่น ส่งสินค้าไทยไปขายในตลาดอินเดียผ่าน e-commerce
- ต้องพัฒนาด้าน logistics เพื่อให้การขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ และต้องส่งเสริมด้าน R&D เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพพร้อมสำหรับส่งออกต่างประเทศได้
ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร
- กองทุน SME สามารถช่วยแก้ปัญหา E-commerce ได้ภายใน 100 วัน
- ต้องแก้ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย เช่นเรื่องการจัดการเครือข่าย call center ที่อยู่ตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยดำเนินการได้แค่ภายในประเทศ จึงต้องหาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน
- ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันหาทางออก เพราะภาครัฐอย่างเดียวเก่งไม่พอ
ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
- ต้องแก้ปัญหาด้าน supply chain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ถ้าคนจีนมาสั่งทุเรียนผ่าน platform ไทย ทำอย่างไรจึงจะส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้โดยสินค้ายังไม่เน่าเสีย เพราะถ้าคนจีนสั่งทุเรียนจาก platform จีน จะมีเครือข่ายของ platform จีนในไทยมารับซื้อทุเรียนเพื่อไปส่งถึงมือลูกค้าได้ ทำให้เห็นปัญหาว่า supply chain ฝั่งไทยยังไม่ครบวงจรและพร้อมสำหรับตลาดต่างประเทศ
เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ
- ตั้งหน่วยงานจัดการเรื่อง cybercrime และแก้กฎหมายเรื่อง e-signature สามารถทำได้ภายใน 100 วัน
- นำ blockchain มาปรับใช้เรื่องเงินดิจิทัล เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน อาจทำได้ภายใน 100 วันหรืออย่างช้าภายใน 1 ปี
- แก้ปัญหาโครงสร้างด้านพลังงาน เพราะมีผลต่อต้นทุนด้าน logistics
- ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงอีกครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการส่งออกสินค้าไทย
4. ปัญหาด้าน Big Data ของหน่วยงานรัฐคือไม่รู้ว่าเก็บที่ไหน ไม่เชื่อมโยงกัน และไม่มีมาตรฐาน ควรจะดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างไร? ดร.แป้ง อสมา กุลวานิชไชยนันท์ ตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล (DTE)
พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
- ภาครัฐมีแนวทางจัดทำ data catalog เพื่อสร้างมาตรฐาน ซึ่งเพิ่งเริ่มมาไม่นาน และยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีมาตรฐานการเก็บข้อมูลมาก่อน จึงจำเป็นต้องใช้เวลา
- ตั้งสถาบัน GBDi เพื่อดูแลด้าน Big Data ของประเทศโดยเฉพาะ
- มีโครงการ Health link เพื่อเชื่อมข้อมูลระหว่าง 200 โรงพยาบาล เพื่อให้ประวัติคนไข้เชื่อมโยงกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากทำสำเร็จจะเก็บไว้ระบบ cloud กลางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
- มีแผนทำ cloud กลางด้านการเกษตรอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่คาดว่าถ้าทำสำเร็จจะมีประโยชน์กับภาคการเกษตรในการนำไปวิเคราะห์อย่างมาก ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีข้อมูลค่อนข้างพร้อม ทาง GBDi จะดูแลการนำข้อมูลไปใช้ต่อไป
- ประเทศไทยมี พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบังคับให้ภาครัฐใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ แต่ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความต้องการที่แตกต่างกันและแต่ละหน่วยงานก็ยังมีโอกาสปรับปรุงให้ประสิทธิภาพให้ดีกว่านี้ได้
ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
- ออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจข้อมูลให้เกิดขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
- รัฐต้องมีฐานข้อมูลกลางโดยหน่วยงานต้องแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยให้ GBDi เป็นผู้ดูแล เพื่อให้ AI มาเรียนรู้ข้อมูลได้
ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ
- ดำเนินการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชาชนต้องเป็นของประชาชน ประชาชนสามารถควบคุมได้ว่าจะนำไปใช้อย่างไร
- ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมทั้ง application ทั้ง software ให้ภาคเอกชนและประชาชนนำไปใช้ได้
ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน
- ต้องเปลี่ยนความคิดให้ภาครัฐตัดสินใจโดยเป็น data-driven government ซึ่งที่จริงภาครัฐมีข้อมูลเยอะมาก แต่ไม่เคยจัดระเบียบให้นำมาใช้งานได้จริง ทุกวันนี้จึงเป็นการตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณเสียมากกว่า
- ภาครัฐต้องจัดเตรียมบริการข้อมูลให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร
- ต้องจัดระเบียบข้อมูลภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับประชาชน แต่ต้องทำร่วมกับภาคเอกชน โดยมีคณะทำงานร่วมกัน เช่น สมาคมด้านดิจิทัล กกร. สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทยฯ
เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ
- ต้องแก้ปัญหาฐานข้อมูลชุดเดียวกันให้ถูกต้องตรงกัน เช่น จำนวนนักเรียน จำนวนเกษตรกรที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะเป็นไปได้ว่าเป็นความผิดพลาดของข้อมูลด้วยความตั้งใจจะทุจริตคอรัปชัน การจัดการข้อมูลที่ดีจะทำให้เกิดความโปร่งใสและลดโอกาสการทุจริตได้
5. คิดว่า startup คืออะไร? แล้วปัญหาใหญ่ของ startup ที่ทำให้ไปสู่ระดับโลกไม่ได้คืออะไร? – คุณแคสเปอร์ ธนกฤต เสริมสุขสันต์ สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
- สตาร์ทอัพ ต้องมีความสามารถด้านการเติบโตอย่างรวดเร็วได้ ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี เช่น Grab ที่แก้ปัญหาด้าน logistics เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีมาเสริม
- พรรคต้องการเปิดโอกาสให้ทุกสมาคมมาออกแบบนโยบายร่วมกันได้
- ปัญหาที่พบ ได้แก่ ด้านบุคลากรที่ค่าตัวแพง ปัญหาเงินทุนที่ไม่มี VC กล้าเสี่ยง รวมถึงตลาดไทยที่คนไทยยังไม่มั่นใจใน startup และภาครัฐไม่กล้าลงทุนสนับสนุน startup เพราะกังวลเรื่องใช้เงินเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
- รัฐสามารถเริ่มได้โดยเปลี่ยนความต้องการของภาครัฐเป็นตลาดและโอกาสให้ startup มาทำธุรกิจได้ โดยรัฐมีนโยบายพร้อมซื้อสินค้าที่ผลิตในไทยก่อน
ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ
- สตาร์ทอัพ ทำในสิ่งที่ลูกค้าไม่รู้ว่าตัวเองต้องการ ถ้าทำสิ่งที่ลูกค้าอยู่แล้วว่าต้องการอะไรจะเป็น SME สตาร์ทอัพต้องสร้างตลาดและหา demand เอง ซึ่งตลาดไทยมีความท้าทายเพราะหา early adopter ได้ยาก
- สตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องปริมาณแต่เป็นเรื่องคุณภาพ ถ้าภาครัฐไม่เข้าใจจะไปกำหนดเรื่องจำนวนสตาร์ตอัพที่ต้องการเกิดขึ้นซึ่งอาจไม่ตรงโจทย์ ประเทศไทยจึงต้องการรัฐบาลที่เข้าใจสตาร์ทอัพ
- ประเทศสิงคโปร์มีโครงการ BLOCK71 ในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมีโค้ชที่มีประสบการณ์ มีกลุ่ม founder ที่มีความสามารถหลากหลาย และมีแหล่งเงินทุนที่เชื่อมไปหา Silicon Valley ได้ ซึ่งประเทศไทยก็สามารถแบบนี้ได้ เช่น ในรูปแบบ smart city และเรามีความพร้อมที่จะทำด้านนี้ได้อยู่แล้ว
- ทางรอดของ startup ในประเทศไทยควรเป็น corporate VC คือ ใช้ความรู้และเครือข่ายให้ corporate ช่วยเป็นพี่ใหญ่สนับสนุนให้เติบโต รวมถึงให้ภาครัฐเป็นลูกค้าซื้อบริการจากสตาร์ทอัพไทย
ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร
- สตาร์ทอัพ คือธุรกิจที่เกิดใหม่เพราะเห็นช่องว่างบางอย่างในตลาด และโตแบบก้าวกระโดด ทำในสิ่งที่ลูกค้ารู้ว่าต้องการแต่ไม่มีใครเคยทำให้ได้มาก่อน
- ปัญหาที่พบคือ สภาพแวดล้อมให้ startup เติบโตได้ เช่น นโยบายภาษีที่เหมาะสม บุคลากรที่มีความพร้อมและค่าแรงเหมาะสม และการเลือกตลาดที่ใหญ่พอ เช่น startup ในแคนาดาเลือกเจาะตลาดอเมริกา หรือ startup สิงคโปร์ที่เลือกเจาะตลาดอาเซียน ดังนั้น ประเทศเป้าหมายต้องมีแนวโน้มที่ GDP จะเติบโตด้วยจึงจะเป็นตลาดที่น่าสนใจ
- การช่วยเหลือ startup ของภาครัฐต้องตั้งคำถามด้วยว่าประเทศได้ประโยชน์อะไรจาก startup ไม่ใช่แค่ startup ได้ประโยชน์อะไรจากประเทศ ประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายต้องไปด้วยกัน
ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน
- สตาร์ทอัพ เกิดขึ้นเพราะอยากเป็นผู้แก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่บ่นปัญหาแต่ลงมือทำด้วย
- ต้องพักใช้ใบอนุญาต 1,400 ฉบับเป็นเวลา 3 ปีเพราะคนจะได้กล้าคิดและกล้าทำด้วย
- ปัญหาด้านเงินทุน โดยกำหนดว่าอุตสาหกรรมที่แข็งแรงและมีแต้มต่อคืออะไร รัฐจะได้ผลักดันได้ชัดเจนขึ้น
- แก้ปัญหาด้าน digital nomad ให้เข้ามาทำงานในไทยได้ เพราะคนต่างชาติอยากมา แต่โครงการกฎระเบียบบ้านเรามองคนต่างชาติเหล่านี้ในแง่ร้าย
- ต้องใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนด้าน startup ด้วย
เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ
- สตาร์ทอัพ (รวมถึง SME) คือ คนหิวด้านความสำเร็จ หิวการได้เห็นสังคมที่ดีขึ้น หิวการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นในทุกวัน
- อุปสรรคคือเวลา แหล่งข้อมูล และแหล่งทุน
- ภาครัฐต้องนำแหล่งข้อมูลจากทั่วโลกมาใช้ได้
- ต้องแก้ไขการจัดซื้อจัดจ้างให้ซื้อสินค้าบริการจาก startup และ SME ได้ โดยทำให้โปร่งใส
- ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ปรับโครงสร้างพลังงานและคมนาคม
- สร้างระบบเศรษฐกิจให้ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเพิ่มโอกาสให้มีตลาดผู้บริโภคในไทยมากขึ้น เพราะหากไม่มีกำลังซื้อในไทย สุดท้าย startup จะต้องออกไปขายให้ลูกค้านอกประเทศอย่างเดียว โดยผู้บริโภคไทยไม่มีโอกาสได้รับบริการเลย
พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
- ไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถาม
6. สมมติว่าพรรคของท่านได้ดูแลกระทรวงดิจิทัลฯ และได้งบประมาณ 1,257 ล้านบาท จะนำไปทำอะไรก่อน? – คุณอั๋น พิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ อุปนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
- กระทรวงดิจิทัลฯ ช่วยกำกับและส่งเสริมมากกว่า ไม่ได้มีงบประมาณทำอะไรได้มาก แต่ทุกวันนี้ก็พยายามส่งเสริม startup อยู่แล้ว เช่น depa ซึ่งเป็นหน่วยงานทำหน้าที่สนับสนุนเป็นหลักซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ
- ปัญหาใหญ่ของกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นเรื่องคน เพราะเด็กไทยไม่ได้สนใจวิชาชีพด้านดิจิทัลมากนัก จึงมีบุคลากรออกมาจำนวนไม่มาก ประเทศไทยได้คะแนนดีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี แต่ได้คะแนนต่ำเรื่องบุคลากรด้านเทคโนโลยี การพัฒนาคนจึงสำคัญมาก และหวังว่าทุกพรรคจะให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนด้วยกัน
ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
- งบประมาณไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ควรเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และมีการบูรณาการข้อมูลเพื่อนำไปใช้งานประโยชน์ได้จริง เช่น หากมีสวัสดิการประชาชนจะต้องถึงมือได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องร้องขอ โดยอาศัยโครงการ Digital ID ซึ่งสามารถเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพการใช้งบประมาณได้
- ระบบราชการมีอุปสรรคเวลาพัฒนาระบบด้วยตัวเอง ดังนั้น การพัฒนาระบบสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนได้เช่นกัน
ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร
- งบประมาณไม่ใช่อุปสรรค อุปสรรคคือผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เพียงพอไหมที่จะทำ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน มีงบน้อยมากแต่สร้าง impact ให้ประชาชนได้มาก ดังนั้น ผู้บริการกระทรวงนี้จะต้องเข้าใจและอยู่ ahead of the game เสมอ
- กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องไม่นำงบประมาณเป็นข้อจำกัด เพราะในอดีตเคยมีวิธีที่ภาครัฐเปิดตลาดต่างประเทศให้เอกชนได้โดยใช้งบประมาณน้อยมากแต่เอกชนได้ลูกค้ากลับประเทศ ดังนั้น ภาครัฐต้องคุยกับเอกชนอยู่เสมอ รัฐไม่ควรวางตัวเก่งกว่าเอกชน แต่รัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เอกชนเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้
ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน
- กระทรวงดิจิทัลฯ ควรวางตัวสนับสนุน new S-curve ให้ประเทศไทยได้ และแบ่งงานกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับหน่วยอื่นๆ เรื่องงบประมาณอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
- กระทรวงดิจิทัลฯ ควรใช้งบประมาณส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะใหม่ๆ ที่สำคัญ และต้องเป็นงานที่กระทรวงอื่นไม่ทำ เช่น cyber security
- ทุกวันนี้ทุกหน่วยงานมีแอปเป็นของตัวเอง และเป็นเจ้าของข้อมูลเองด้วย กระทรวงฯ ควรกำหนดบทบาทใหม่ว่าควรดำเนินการอย่างไร และประสานอย่างไรให้แอปเหล่านี้มีความหมายมากกว่านี้ได้
เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ
- กระทรวงดิจิทัลฯ ควรมีบทบาทในการไปช่วยกำหนดการใช้งบประมาณของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดความโปร่งใส เพราะทุกวันนี้ทุกกระทรวงถืองบของตัวเองแต่ไม่ได้พูดคุยกัน
- กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องวางโครงการระบบการชำระเงินดิจิทัลของประเทศและเปิด API ให้ภาคเอกชนมาร่วมกันพัฒนาระบบได้ และจัดซื้อจัดจ้างให้บริสุทธิ์โปร่งใสขึ้นได้
ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ
- ไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถาม
สรุปส่งท้าย
ทุกพรรคเห็นภาพตรงกันว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญ และพบอุปสรรคที่ภาครัฐจำเป็นต้องแก้ปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบภาครัฐ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยให้เติบโตได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสร้างสรรค์ ทั้งผู้แทนจากพรรคการเมืองและสมาคมต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันตลอดการเสวนาไปจนถึงช่วงหลังจบเสวนาด้วย ซึ่งหวังว่าจะทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตต่อไป