อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส) ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ในความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2555 นั้น เนื่องจากพบข้อเท็จจริงใหม่จากพยานในที่เกิดเหตุและผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมว่าขณะเกิดเหตุ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเป็นความประมาทของผู้ตายเองที่เปลี่ยนเลนจากซ้ายสุดมาขวาสุดจนมาขวางหน้ารถยนต์ของนายวรยุทธในระยะกระชั้นชิด นายวรยุทธจึงไม่สามารถหยุดรถหรือหลบรถได้ทัน อัยการจึงมีความว่าเหตุดังกล่าว นายวรยุทธไม่มีความผิดฐานฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และญาติฝ่ายผู้ตายก็ไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับนายวรยุทธอีกต่อไปแล้ว
ตามที่ปรากฏข่าวอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ในทุกข้อหา จากคดีขับรถชน ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ จนเสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยมี พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการสอบสวน ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ เป็นผู้ลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งเด็ดขาดอัยการไม่สั่งฟ้อง
คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าวสรุปย่อโดย นายสมพงษ์ ภุชงค์โสภาพันธุ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 มีความยาว 4 หน้า โดยมีข้อความดังต่อไปนี้
คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ
คดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1
ข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหายและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 05.20 นาฬิกา ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 1 กำลังขับขี่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อเฟอรารี่ คันหมายเลขทะเบียน ญญ-1111 กรุงเทพมหานคร ไปทางถนนสุขุมวิทฝั่งขาออก ในช่องทางเดินรถที่ 3 ติดกับเกาะกลางถนน จากบริเวณปากซอยสุขุมวิท 45 มุ่งหน้าไปทางพระโขนง เมื่อถึงบริเวณระหว่างปากซอยสุขุมวิท 47 และปากซอยสุขุมวิท 49 ได้ชนท้ายรถจักรยานยนต์ ตราโล่ห์ คันหมายเลขทะเบียน 51511 ซึ่งมีผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่ล้มลงครูดไถลไปตามพื้นถนนหยุดที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 ร่างของผู้ต้องหาที่ 2 พลัดตกจากรถจักรยานยนต์ขึ้นไปกระแทกกระจกด้านหน้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ แล้วตกลงไปที่พื้นถนนชิดเกาะกลางถนน ถึงแก่ความตาย ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่ได้หยุดรถภายหลังเกิดเหตุแต่ได้ขับขี่หลบหนีเข้าไปภายในบ้านพักเลขที่ 8 ซอยสุขุมวิท 53 พนักงานสอบสวนได้เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จากการสืบสวนพบคราบน้ำมันซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่จากบริเวณที่เกิดเหตุเข้าไปหยุดที่บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 9 จึงได้นำหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้เข้าตรวจค้นภายในบ้านหลังดังกล่าว พบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุจอดอยู่ชั้นใต้ดิน และพบผู้ต้องหาที่ 1 แสดงตัวเป็นเจ้าของบ้าน นำตัวผู้ต้องหาที่ 1 มอบต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ กองพิสูจน์หลักฐานเดินทางไปตรวจเก็บวัตถุพยานจากรถยนต์คันดังกล่าว และยึดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันดังกล่าวเป็นของกลาง ส่งตรวจร่องรอยความเสียหายทางวิทยาการพร้อมกับรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่ขณะเกิดเหตุ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาที่ 1 ไปตรวจหาสารเสพติดและปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ในวันเดียวกัน
ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ให้การปฏิเสธ ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย
พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหายและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
คำวินิจฉัย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้มีความเห็นและคำสั่งทางคดี โดยสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันที และขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย จึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 2 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถของผู้อื่นเสียหาย ต่อมาได้เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไปยังอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีสำคัญที่ประชาชนสนใจ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อนให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันที และขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(2), 160 ตรี และมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 2 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถของผู้อื่นเสียหาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157 ซึ่งต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ในระหว่างเสนอสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม แต่ในระหว่างรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม ปรากฏว่าข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน จะขาดอายุความฟ้องร้องในวันที่ 3 กันยายน 2556 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 จึงมีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวนให้ส่งตัวผู้ต้องหาที่ 1 มาพบพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดี แต่ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่มาตามกำหนดนัดโดยมอบอำนาจให้ทนายความมาขอเลื่อน สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เห็นว่าผู้ต้องหาที่ 1 มีพฤติการณ์หลบหนีจึงมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการร้องขอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 แล้วจัดส่งมาให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เป็นเหตุให้ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินขาดอายุความ พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 67, 152, 157 เพราะเหตุคดีขาดอายุความ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 54(6)
ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 อัยการสูงสุดมีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 สำนัดงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 จึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้พนักงานสอบสวนส่งหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 ให้แก่พนัดงานอัยการ แต่พนักงานสอบสวนก็ไม่ดำเนินการ ทั้งผู้ต้องหาที่ 1 ก็ยื่นหนังสือขอเลื่อนการฟังคำสั่งทางคดีของพนักงานอัยการโดยตลอด จนกระทั้งวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้ส่งสำเนาหมายจับและตำหนิรูปพรรณของผู้ต้องหาที่ 1 มายังพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขอให้จัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหาที่ 1 มาฟ้องคดีภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2560 พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 ตามหมายจับมาส่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อยื่นฟ้องได้เป็นเหตุให้ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง ขาดอายุความ พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง ตามตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 เพราะเหตุคดีขาดอายุความ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 54(6)
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติเรื่องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 ไปแล้วผู้ต้องหาที่ 1 ยังคงยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดอีกหลายครั้ง รวมถึงยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. 2557) ด้วย อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมอีกหลายครั้ง
ต่อมา รองอัยการสูงสุด (นายเนตร นาคสุข อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ขณะรักษาการในตำแหน่ง รองอัยการสูงสุด) พิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว มีความเห็นว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเฉพาะข้อกล่าวหาของผู้ต้องหาที่ 1 ว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 291 ตามที่อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้อง ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะกลับความเห็นและคำสั่งเดิมหรือไม่ อย่างไร ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเหตุที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 (โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้) มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ เนื่องจากได้ความจากพันตำรวจตรีธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับ แล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้ตรวจสอบยืนยันว่าการคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร (80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2522 ข้อ 1 (3) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2522 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 67 วรรคแรก การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ได้มีการสอบสวนพยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ พันตำรวจโทสมยศ แอบเนียม และพันตำรวจโทสุรพล เดชรันตวิไชย พยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจดูสภาพความเสียหายของรถทั้งสองคันเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเฉี่ยวชนในคดีอื่นแล้วต่างให้การประเมินความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ผู้ห้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่ ว่าไม่ใช่ความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจากการสอบสวนของศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ (เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560) ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้ความว่า ความเร็วของรถยนต์ Ferrari FF ก่อนเกิดเหตุ จะได้ความเร็วประมาณ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของพันตำรวจโทสมยศที่ตรวจร่องรอยความเสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว สันนิษฐานว่ารถทั้งสองคันแล่นน่าจะแล่นด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเห็นของพันตำรวจโท ธนสิทธิ แตงจั่น (ยศในขณะให้การเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559) ว่าจากการคำนวณหาความเร็วโดยวิธีใหม่ได้ความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ประมาณ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมา เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีกและมีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมคือ พลอากาศโทจักรกฤช ถนอมกุลบุตร และจารุชาติ มาดทอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ได้ความว่าพยานทั้งสองขับรถยนต์แล่นตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปรากฏในภาพวงจรปิด) ให้การว่าผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 50 – 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อพยานทั้งสองปากเป็นประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคดี ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 3 ชิดเกาะกลางถนนด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีนายจารุชาติ มาดทอง ขับรถยนต์กระบะแล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 2 ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 1 (ด้านซ้าย) แล้วผู้ต้องหาที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องทางที่ 1 ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 ที่นายจารุชาติขับรถมา นายจารุชาติชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายมือเพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา แต่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาได้แล่นเข้าไปในช่องทางเดินรถที่ 3 ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาชนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถเข้าไปในช่องทางเดินรถที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาเพื่อความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะกระชั้นชิดทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 2 ที่เปลี่ยนช่องทางเดินทางรถในระยะกระชั้นชิด การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกลับความเห็นและคำสั่งเดิมตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 6 วรรคท้าย, 45
อนึ่ง ฝ่ายผู้ต้องหาที่ 2 (ผู้ตาย) ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายผู้ต้องหาที่ 1 จนเป็นที่พอใจ และไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ต้องหาที่ 1 อีกต่อไปแล้ว
จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1
ฐาน กระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4
(นายสมพงษ์ ภุชงค์โสภาพันธุ์)
อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1
ผู้สรุปย่อคำสั่ง
ข้อสังเกต
- ข้อเท็จจริงใหม่ว่านายวรยุทธไม่ได้ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจนนำมาสู่คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการนั้น มาจากการสืบพยานเพิ่มเติมอีกรวม 5 คน โดยพยานทั้ง 5 คนลงความเห็นว่ารถยนต์ที่นายวรยุทธขับขี่ไม่ได้แล่นด้วยความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกอบด้วยพยานขณะเกิดเหตุการณ์ (ประจักษ์พยาน) และผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่
- พลอากาศโทจักรกฤช ถนอมกุลบุตร (พยานในเหตุการณ์)
- จารุชาติ มาดทอง (พยานในเหตุการณ์) Update เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563
- พันตำรวจโทสมยศ แอบเนียม (ผู้เชี่ยวชาญ)
- พันตำรวจโทสุรพล เดชรันตวิไชย (ผู้เชี่ยวชาญ)
- ศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม (ผู้เชี่ยวชาญ)
- คดีนี้ใช้คำว่า ‘ผู้ต้องหา’ แทนที่จะใช้คำว่า ‘จำเลย’ เพราะตามกฎหมายแล้วจะเรียกบุคคลใดว่า ‘จำเลย’ ได้ก็ต้องเมื่อมีการรับฟ้องคดีในศาลแล้วเท่านั้น เมื่อคดีนี้ไม่มีการฟ้องคดีเกิดขึ้นในศาลจึงคงใช้คำว่า ‘ผู้ต้องหา’ เท่านั้น