ถ้าจะถามหาเรื่องที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ และเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจคงหนีไม่พ้นเรื่องของ การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ก็อยากรู้ว่า งบประมาณ 1,300 ล้านบาทถูกใช้ไปกับเรื่องใดบ้าง iTAX หาข้อมูลมาให้เรียบร้อยแล้ว
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
-
วุฒิสภาไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489
วุฒิสภาไทย เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 มีการแบ่งรูปแบบสำคัญออกเป็น 2 ยุค คือ ยุคสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง และยุคสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งและการสรรหา และกำหนดให้วุฒิสภามีวาระ 4 ปี
-
วุฒิสภาไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
วุฒิสภาไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประกอบไปด้วย สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มีกำหนดวาระคราวละ 6 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
และรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ และมีหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
-
วุฒิสภาไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
ในวาระเริ่มแรก กฎหมายกำหนดให้วุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยจะมีอายุตามกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และอย่างที่หลายคนรู้กันว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 นั้น มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้ง 250 คน โดยมีขั้นตอนดังนี้
- คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกผู้ได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 50 คน และคัดเลือกจากรายชื่อสำรองจำนวน 50 คน โดยเป็นการคัดเลือกจากบุคคลกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง
- คสช. คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกให้ได้จำนวน 194 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจำนวน 50 คน
- ผู้ดำรงตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง)
- คสช. นำรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับคัดเลือกจำนวน 250 คน ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ
ข้อมูลจาก : https://library2.parliament.go.th/
งบประมาณที่ใช้ในการสรรหา ส.ว.
อย่างที่สำนักข่าวหลายแห่งได้นำเสนอข่าวงบประมาณที่ใช้ในการสรรหา ส.ว. ไปทั้งหมด 1,300 ล้านบาทนั้น ทีมงาน iTAX จึงลองทำการค้นข้อมูลดูว่า การคัดเลือก ส.ว. นั้นมีการใช้งบประมาณไปในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ของ กกต (www.ect.go.th) ได้ความว่า
เรื่อง |
งบประมาณที่ถูกใช้ไป (บาท) |
จ้างทำวิจัยประเมินผลกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 |
3,000,000 |
จ้างการจัดการเลือก ส.ว. ระดับประเทศ |
4,394,942 |
จ้างทำอาหารกลางวัน และอาหารว่างพร้อมเครื่องดื่ม โครงการศูนย์ประชาสัมพันธ์การได้มาซึ่ง ส.ว. |
45,000 |
จ้างจัดกิจกรรมรณรงค์ตามสถานการณ์ |
210,000 |
ซื้อวัสดุอุปกรณ์ประจำสถานที่เลือกระดับประเทศ 10 ชุด |
10,000 |
จ้างพิมพ์บัตรตัวอย่างบัตรลงคะแนนเลือก ส.ว. |
119,930 |
จ้างพิมพ์บัตรลงคะแนนเลือก ส.ว. |
902,708.50 |
จ้างประชาสัมพันธ์ข้อมูลการได้มาซึ่ง ส.ว. ผ่านเครือข่ายสมาคมออนไลน์ |
2,200,000 |
จ้างทำแนวกั้นแถบพลาสติก สำหรับเลือก ส.ว. |
545,849.70 |
ผลิตสื่อให้ความรู้การดำเนินการได้มาซึ่ง ส.ว. จำนวน 4 รายการ |
2,700,000 |
จ้างจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ข้อมูลการได้มา ซึ่ง ส.ว. |
500,000 |
จ้างทำแผ่นพับการเลือก ส.ว. |
301,400 |
จ้างทำแฟลตไดร์ฟ ความจุ 32 GB ติดโลโก้ข้อความ กกต. และ ส.ว. 2561 |
78,645 |
จ้างทำป้ายประชาสัมพันธ์ ติดตั้งภายในศูนย์อำนวยการ เลือก ส.ว. |
16,264 |
รวม |
15,024,739 |
[สรุปได้ว่า งบประมาณที่ใช้ในการสรรหา ส.ว. 250 คน จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ใช้จริงไปเพียง 15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.16% ของงบประมาณที่ตั้งไว้เท่านั้น]
** หมายเหตุ งบประมาณข้างต้นปรากฎในเว็บไซต์ของ กกต. ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น จึงอาจจะมีรายการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เงินเดือนเท่าไหร่?
ทันทีที่มีการประกาศรายชื่อ ส.ว. ผู้เสียภาษีหลายคนอาจจะตั้งคำถามเกี่ยวกับเงินเดือนที่ ส.ว. ทั้ง 250 คนจะได้รับ ซึ่งสามารถแบ่งออกตามตำแหน่งต่างๆ ได้ดังนี้
ตำแหน่ง |
เงินประจำตำแหน่ง |
เงินเพิ่ม |
รวมทั้งหมด |
ประธานวุฒิสภา |
74,420 |
45,500 |
119,920 |
รองประธานวุฒิสภา |
73,240 |
42,500 |
115,740 |
สมาชิกวุฒิสภา |
71,230 |
42,330 |
113,560 |
นอกเหนือจากเงินเดือนและเงินเพิ่มที่ ส.ว. ได้รับในแต่ละเดือนแล้ว ส.ว. แต่ละคนยังได้รับ เบี้ยประชุมกรรมาธิการครั้งละ 1,500 บาท รวมถึง ค่าพาหนะในการเดินทางครั้งแรกเพื่อเข้ามารับหน้าที่ (กรณีอยู่ต่างจังหวัด) มายังรัฐสภาและค่าเดินทางเมื่อสิ้นสุดวาระ
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มีสวัสดิการเช่นกัน
นอกเหนือจากเงินเดือนและเบี้ยประชุมที่ ส.ว. จะได้รับแล้ว ยังมีสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
1. ส.ว. มีสิทธิเสนอให้แต่งตั้งผู้ช่วยประจำตัว ได้แก่
- ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน ได้รับค่าตอบแทน 24,000 บาทต่อเดือน
- ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน ได้รับค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน
- ผู้ช่วยดำเนินงาน 5 คน ได้รับค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน
2. สิทธิรักษาพยาบาล
ส.ว. จะได้รับแพคเกจตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท และได้รับ
2.1 กรณีรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก
- ทั่วไป 90,000 บาทต่อปี
- อุบัติเหตุ – ฉุกเฉิน 20,000 บาทต่อครั้ง
2.2 กรณีผู้ป่วยใน
- ค่าห้องและค่าอาหารต่อวัน (ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง) 4,000 บาท
- ค่าห้องไอซียู 10,000 บาท
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 100,000 บาทต่อครั้ง
- ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท
- ค่าแพทย์ผ่าตัด 120,000 ต่อครั้ง
3. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางราชการภายในประเทศ
3.1 ค่าพาหนะการเดินทางไป – กลับประชุมรัฐสภา : เบิกตามระยะทางที่แจ้งไว้ครั้งแรก
3.2 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศ : เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 270 บาทต่อคนต่อวัน
3.3 ค่าที่พัก (เบิกตามจริง) แบ่งออกเป็น
- ค่าห้องพักคนเดียว ไม่เกิน 2,500 บาทต่อคนต่อวัน
- ค่าห้องพักคู่ไม่เกิน 1,400 บาทต่อคนต่อวัน
- ค่าที่พักกรณีเหมาจ่าย 1,200 คนต่อวัน
4. ได้รับตั๋วฟรีจากบริษัทขนส่ง ประกอบไปด้วย
- บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
- บริษัท กานต์นิธิ เอวีเอชั่น จำกัด (กานต์แอร์)
- บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด (วัน ทู โก แอร์ไลน์)
- บริษัท แฮปปี้ แอร์ ทราเวิลเลอร์ส จำกัด
- การรถไฟแห่งประเทศไทย
- บริษัท ขนส่ง จำกัด
5. เบี้ยเลี้ยงสำหรับการเดินทางไปราชการต่างประเทศ
ในกรณีที่ ส.ว. เดินทางไปราชการที่ต่างประเทศ จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เป็น 2 กรณีใหญ่ๆ คือ
5.1 เบิกเหมาจ่าย ไม่เกินวันละ 3,100 บาทต่อคน
5.2 กรณีไม่เหมาจ่าย แบ่งออกเป็น
- ค่าอาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม จ่ายจริงไม่เกินวันละ 4,500 บาทต่อคน
- ค่าทำความสะอาดเสื้อผ้า จ่ายจริงไม่เกินวันละ 500 บาทต่อคน
- ค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ด เหมาจ่ายไม่เกินวันละ 500 บาทต่อคน
- อัตราค่าเช่าที่พัก (แบ่งตามกลุ่มประเทศ) 4,500 – 14,000 บาทต่อวันต่อคน
- ค่าเครื่องแต่งตัวเหมาจ่าย 9,000 บาท
ทั้งหมดนี้คือ หน้าที่ เงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ ที่ ส.ว. ชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะได้รับ ส่วนหลังจากนี้ไปจะมีสวัสดิการส่วนไหนเพิ่มขึ้น iTAX จะมาอัปเดตให้ผู้เสียภาษีได้รู้กันต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก