‘สรรพากร’ จับมือ ‘สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย’ เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นแนวทางการจัดเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ ตั้งคณะทำงานร่วมกัน ฟังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงรับความเห็นจากนักวิชาการด้านภาษีอากร
- ‘สรรพากร’ เด้งรับนโยบายนายกฯ รับฟังทุกฝ่ายปม ‘ภาษีคริปโต’
- ข้อเสนอ แนวทางเก็บภาษีคริปโต โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ผู้ก่อตั้ง iTAX
12 มกราคม 2565 – กรมสรรพากรได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าประเด็น “ภาษีคริปโต” ว่ากรมสรรพากรได้จับมือสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโตเคอเรนซีแล้ว
‘สรรพากร’ จับมือ ‘สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย’ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญภาษีอากร ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย รับฟังความคิดเห็นภาษีคริปโต
นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะตัวแทนจากกรมสรรพากรในคณะทำงาน 3 ฝ่าย เปิดเผยว่า “กรมสรรพากรได้มีการประชุมหารือร่วมกับนายศุภกฤษฏ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ประเด็นเรื่องของการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัสในทางปฏิบัติที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร
โดยมีข้อสรุปจากที่ประชุม คือ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กรมสรรพากร และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย พร้อมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเทรด นักขุด ผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต รวมถึงรับความเห็นจากนักวิชาการด้านภาษีอากร
โดยในเรื่องของการรับฟังความเห็นนั้น ทางกรมสรรพากรเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือและสรุปร่วมกันว่าจะมีการเผยแพร่แบบสอบถามที่มาจากการทำงานร่วมกันของคณะทำงานในรูปแบบของตัวเลือกในการปฏิบัติ (Options) แทนที่จะเป็นคำถามปลายเปิด เพื่อสะดวกต่อการนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งแบบสอบถามดังกล่าวทางสมาคมฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทำการจัดส่งให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนของสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ช่วยกันเสนอแนวทางก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งภายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการหาข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับแนวทางปฏิบัตินั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนประกอบด้วย
- การสร้างแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความชัดเจน และเป็นแนวทางการปฏิบัติที่มาจากการสรุปร่วมกันจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้มีการเปิดรับฟัง
- การผ่อนปรนกฎระเบียบบางข้อ หากสามารถทำได้ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ และ
- การร่วมกันสร้างแนวทางที่จะส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในอนาคต โดยการดำเนินการทั้งหมดจะเกิดความชัดเจนและไม่กระทบต่อการยื่นภาษีของปี 2564″
นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย หวังทุกฝ่ายมองประโยชน์ส่วนรวม ร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรม digital asset เติบโต
นายศุภกฤษฏ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยว่า “ประเด็น เรื่องของภาษีเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อวงการสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างมาก อยากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันสร้างแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้สามารถเติบโตไปได้แม้อาจจะไม่สามารถตอบความต้องการของทุกคนได้ทั้งหมด แต่อยากให้ทุกฝ่ายมองถึงประโยชน์ส่วนรวมซึ่งเชื่อว่าหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือก็จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้”
ย้อนร้อยประเด็น สรรพากร กับ ภาษีคริปโต ในไทย เริ่มจากโฆษกสรรพากรชี้แจง ต้องเสียภาษีจากกำไรเป็นรายธุรกรรม
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 คุณสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงประเด็น “ภาษีคริปโต” ในนามกรมสรรพากรในรายการ Morning Wealth ของ The Standard Wealth สำหรับข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับภาษีคริปโต เป็นเวลา 30 นาที (ช่วงครึ่งหลังตั้งแต่นาทีที่ 30 เป็นต้นไป)
จากคำชี้แจงของโฆษกกรมสรรพากรภายในรายการ จึงนำมาสู่สถานการณ์ภาษีคริปโตของไทยซึ่งสรุปได้เป็น 10 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
- กำไรจากการขายคริปโตตามกฎหมายไทย คิดเป็น “รายธุรกรรม” กล่าวคือ หากธุรกรรมแรกมีกำไร 100 บาท ธุรกรรมที่สองขาดทุน 100 บาท ผู้เสียภาษีจะต้องนำกำไร 100 บาทจากธุรกรรมแรกมายื่นภาษี ส่วนธุรกรรมที่สองซึ่งขาดทุน 100 บาท ไม่สามารถนำมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้
- ถ้าซื้อขายผ่านกระดานเทรด (Exchange) แล้วเก็บเงินเอาไว้ในกระดานเทรดโดยไม่ได้ถอนเงินสดออกมา ก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด (cash basis) คือ เกิดรายได้เมื่อไหร่เป็นรายได้เมื่อนั้น ดังนั้น หากขายคริปโตแล้วได้กำไร ย่อมเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แม้ว่าเงินนั้นจะยังไม่ได้ถอนออกมา แต่ยังไม่มีคำชี้แจงกรณีนำเหรียญนึงไปแลกกับคู่เหรียญอื่นๆ ว่าจะเกิดกำไรได้หรือไม่ และยังไม่ได้ชี้แจงในกรณีนำเหรียญไปแลกกับ stable coin ว่าถือว่ามีกำไรแล้วหรือไม่
- เหรียญที่ได้จากการ Locked Staking ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน มองเหมือนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร แต่ยังไม่มีคำชี้แจงว่าหากเหรียญที่ได้รับมูลค่า 5 บาทนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าระหว่างปี จะให้ใช้มูลค่าใดนำแสดงเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี
- กรมสรรพากรได้พูดคุยกับกระดานเทรดในประเด็นภาษีคริปโตแล้วเพื่อหาทางอำนวยความสะดวกสำหรับการส่งธุรกรรมที่เกิดขึ้นของผู้เสียภาษีให้กรมสรรพากร ซึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือในอนาคต
- รายได้จากการขุด (Mining) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ยังไม่ได้ชี้แจงว่าใช้มูลค่า ณ เวลาใดสำหรับแสดงเป็นรายได้ (เช่น อ้างอิงมูลค่า ณ เวลาที่ขุดได้?)
- โฆษกกรมสรรพากรยืนยันว่ากรมสรรพากรมี big data และมีการทำ data analytics เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้เสียภาษีรายใดจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มไม่เสี่ยง หากเจ้าหน้าที่สรรพากรมีข้อสงสัยว่าแสดงรายได้ไม่ครบถ้วน ก็สามารถขอเชิญให้ผู้เสียภาษีชี้แจงได้ หากพิสูจน์ได้ว่าแสดงรายได้ครบถ้วนแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าพบว่าผู้เสียภาษีแสดงรายได้ต่ำกว่าข้อมูลที่กรมสรรพากรมี ทางกรมจะขอให้ผู้เสียเสียภาษียื่นและชำระภาษีเพิ่มเติมจากส่วนที่ขาด ซึ่งหากเป็นการชำระเพิ่มเติมหลังจากหมดเวลายื่นภาษีประจำปีแล้ว จะต้องชำระเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยเนื่องจากชำระภาษีล่าช้า) โดยคำนวณจากเฉพาะภาษีที่ชำระไว้ขาด ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน แต่ไม่มีค่าปรับอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากยื่นภาษีแล้ว เพียงแต่แสดงรายได้ไม่ครบถ้วน
- กรมสรรพากรยอมรับว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องให้ผู้ขายแจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่จากธุรกรรมดังกล่าว แต่ถ้าผู้ขายไม่แจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ ก็ให้ผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากยอดซื้อทั้งจำนวนเลย ดังนั้น ผู้ขายต้องรักษาสิทธิ์ของตนโดยแจ้งผู้ซื้อให้ทราบก่อนว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ เพื่อให้หักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างถูกต้อง
- กรมสรรพากรเข้าใจว่าในทางปฏิบัติอาจมีข้อสงสัยว่าการซื้อขายผ่านกระดานเทรด จะเป็นการตั้งราคาเสนอซื้อ-ขาย ซึ่งผู้ซื้อไม่อาจทราบได้ว่าผู้ขายเป็นใคร จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ผ่านระบบของกระดานเทรดได้อย่างไร รวมถึงจะระบุชื่อผู้ขายและส่งหนังสือรับรองการให้ภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้ขายด้วยวิธีการใด ซึ่งกรมสรรพากรมีความตั้งใจจะอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี โดยกำลังหารือแนวทางดังกล่าวกับกระดานเทรดเพื่อหาความชัดเจนขึ้นในอนาคต
- กฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ที่เพิ่งเริ่มเคลื่อนไหวปี 2565 เพราะกรมสรรพากรพบว่าในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการเทรดกันอย่างคึกคัก จึงมีความห่วงใยผู้เสียภาษีว่าจะลืมไปว่ารายได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซี่จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 ในช่วงต้นปี 2565 ด้วย จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียภาษีทราบถึงหน้าที่ดังกล่าว จะได้ไม่หลุดหลงไปจนลืมยื่นภาษีและรับบทลงโทษในภายหลัง ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมกฎหมายภาษีคริปโตเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ซึ่งสถานการณ์ตลาดคริปโตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ก็มีโอกาสที่กฎหมายภาษีคริปโตอาจเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เหมือนดังเช่นในอดีตที่ไม่เคยมีกฎหมายกำหนดว่ากำไรจากคริปโตเป็นเงินได้ประเภทใด จนเมื่อปี 2561 จึงกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นเงินได้จากการลงทุนกลุ่มเดียวกับพวกดอกเบี้ย เงินปันผล
- แนวปฏิบัติที่ชัดเจนของกรมสรรพากรจะออกมาในรูปแบบ Q&A ภายในเดือนนี้เลย (มกราคม 2565) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันทั้งผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นขึ้นในการปฏิบัติจริง