สรรพากร รู้ “รายได้” เราได้อย่างไร? โดน “ภาษีย้อนหลัง” ทำไงดี?

วิเคราะห์

สรรพากร รู้ “รายได้” เราได้อย่างไร? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่สรรพากรเชิญให้เข้าไปชี้แจง หรือกรณีโดน “ภาษีย้อนหลัง” ซึ่งผู้เสียภาษีจำนวนมากมักจะทำอะไรไม่ถูก บทความนี้มีคำตอบให้ผู้เสียภาษีทุกท่านแน่นอน

สรรพากรรู้รายได้เราได้อย่างไร?

กรมสรรพากร (กรม-สัน-พา-กอน) เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่หลักคือเก็บภาษีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นต้น ดังนั้น กรมสรรพากรจึงมีอำนาจตรวจสอบว่าผู้เสียภาษีปฏิบัติตามหน้าที่แล้วหรือไม่ รวมถึงการแสวงหาข้อมูลจากช่องทางต่างๆ เพื่อประเมินว่าใครมีรายได้เท่าไหร่อย่างไรบ้าง สรรพากรจึงรู้รายได้เราโดยอาศัยช่องทางต่อไปนี้

1. ข้อมูลจาก ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ได้รับจากผู้จ่ายเงินให้คุณ

ในกรณีที่คุณได้รับเงินค่าจ้าง หรือค่าใดๆ ที่ถูกบริษัทหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว บริษัทจะมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งข้อมูลของคุณ ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน และจำนวนเงินที่ได้รับในเดือนนั้น ไปให้กรมสรรพากร ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะถูกบันทึกไว้อยู่ในฐานข้อมูลส่วนกลางของกรมสรรพากร ทำให้สรรพากรรู้รายได้เราในภาพรวมว่าคุณมีรายได้กี่บาท

ดังนั้น หากพบว่าต้องชำระภาษีเพิ่ม แล้วไม่มาดำเนินการยื่นภาษีและจ่ายภาษีตามกำหนด เจ้าหน้าที่สรรพากรก็สามารถอาศัยข้อมูลชุดนี้เพื่อตรวจสอบ และส่งหนังสือมาถึงเราให้ชี้แจงสาเหตุที่ไม่จ่ายภาษีต่อไป

2. ข้อมูลจากธนาคาร สถาบันการเงิน และ ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์

ธนาคาร สถาบันการเงิน รวมถึง ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น mPAY, TrueMoney, Rabbit LINE pay เป็นต้น) มีหน้าที่ต้องรายงาน “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” ให้กรมสรรพากรทราบ ได้แก่

  1. เมื่อพบว่ามีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของสถาบันการเงินเดียวกันรวมในปีเดียว ตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 250 ครั้ง (ถ้าทั้งปีมียอดรวม 2,999 ครั้ง จะยังไม่เข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ)
  2. เมื่อพบว่ามีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของสถาบันการเงินเดียวกันรวมในปีเดียว ตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป (ถ้าทั้งปีมียอดรวม 399 ครั้ง หรือ 1,999,999 บาท อย่างใดอย่างหนึ่งจะยังไม่เข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ)

ดังนั้น หากธนาคาร สถาบันการเงิน รวมถึง ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ พบธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีใดแล้ว ก็จะต้องรายงานให้กรมสรรพากรทราบด้วย ทำให้สรรพากรรู้รายได้เราในภาพรวมว่าคุณน่าจะมีรายได้กี่บาท อย่างไรก็ตาม โดยปกติกรมสรรพากรจะอาศัยข้อมูลอื่นๆ ประกอบการประเมินด้วยว่าเข้าข่ายการเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ โดยกรณีที่มีข้อสงสัยก็จะส่งจดหมายมาให้เราชี้แจงที่มาของเงินที่เข้าบัญชีจำนวนมากนี้ต่อไป

3. ข้อมูลจากประชาชนที่เข้ามาร้องเรียนให้กรมสรรพากรทราบ

กรมสรรพากรเปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาร้องเรียนผ่าน “ระบบแจ้งเบาะแสหลีกเลี่ยงภาษี” บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ในกรณีที่พบความไม่ถูกต้องในการเสียภาษี พฤติการณ์ที่มีการหลีกเลี่ยงภาษีต่างๆ หรือแจ้งข้อมูลผู้เสียภาษีรายใหม่ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษี เช่น กิจการที่ไม่นำรายได้มายื่นเสียภาษี หรือนำมายื่นเสียภาษีไม่ครบถ้วน เป็นต้น

ดังนั้น หากคุณไม่ได้ทำหน้าที่ผู้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ก็อาจมีผู้พบเห็นไปแจ้งเบาะแสให้กรมสรรพากรทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

4. ข้อมูลจากการสุ่มตรวจ

การสุ่มตรวจเป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่สรรพากรเดินทางไปสำรวจตามพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ เช่น ตามห้างร้าน หรือร้านค้าริมทาง โดยอาศัยข้อมูลจากการสังเกตราคาสินค้าหรือบริการ เปรียบเทียบกับจำนวนลูกค้าหรือจำนวนชิ้นที่ขายในช่วงเวลาที่สำรวจเพื่อประเมินว่ารายได้ควรเป็นเท่าไหร่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าที่รับเฉพาะเงินสด และไม่รับการโอนเงินเลย อาจถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ รวมถึงกลุ่มผู้ค้าที่ไม่ได้จัดทำบัญชี หรือจดบันทึกนับสต๊อกสินค้า ก็อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

โดยทุกวันนี้ การสุ่มตรวจยังมีการดำเนินการไปถึงร้านค้าออนไลน์ โดยอาศัยจากข้อมูลผู้ติดตามร้านค้า จำนวนผู้สนใจสั่งซื้อ ภาพจำนวนสินค้าที่จัดส่ง ภาพใบเสร็จค่าไปรษณีย์ หรือตอนขณะ LIVE ขายของ เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อประเมินให้ทราบรายได้เราได้เช่นกัน

5. ข้อมูลจากระบบ Big Data Analytics

กรมสรรพากรเริ่มนำระบบ Big Data Analytics มาคัดแยกผู้เสียภาษีกลุ่มดีและผู้เสียภาษีกลุ่มเสี่ยง โดยอาศัยข้อมูลจากที่เจ้าหน้าที่สรรพากรบันทึกไว้เอง รวมถึงข้อมูลภายนอก เช่น การทำ Web Scraping (การดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อหา keyword หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง) มาประกอบการพิจารณาเพื่อประเมินรายได้ได้ด้วย

ได้จดหมายจากสรรพากร โดน “ภาษีย้อนหลัง” ทำไงดี?

โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่สรรพากรจะติดต่อผู้เสียภาษีครั้งแรกเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์เท่านั้น ไม่มีการติดต่อผู้เสียภาษีโดยตรงทางโทรศัพท์หรือทางไลน์ เว้นแต่จะเริ่มรู้จักกันส่วนตัว ดังนั้น หากเป็นการติดต่อครั้งแรกช่องทางอื่นที่ไม่ใช่จดหมาย ให้สันนิษฐานก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับจดหมายจากกรมสรรพากรแล้ว มักจะมีข้อความดังนี้

  1. ติดต่อใคร โดยปกติจะระบุชื่อ-นามสกุลของเรา
  2. ติดต่อเรื่องอะไร เช่น เสียภาษีไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือไม่ยื่นภาษี เป็นต้น
  3. ต้องการทำเราทำอะไร เช่น ขอให้นำหลักฐานมาชี้แจง
  4. ต้องการนัดหมายเมื่อไหร่ ซึ่งโดยปกติจะระบุวัน-เวลา สถานที่ ไว้ชัดเจน เช่น จะนัดให้ไปหาที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือนัดให้มาเจอกันที่ร้านของผู้เสียภาษี
  5. ระบุชื่อเจ้าหน้าที่ ตำแหน่ง และเบอร์ติดต่อ อยู่ที่ท้ายจดหมาย

สิ่งที่ควรทำ

  • รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตามที่ระบุไว้บนจดหมาย เพื่อแสดงตัวว่ายินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
  • กำหนดวันเวลานัดหมาย และพบไปตามที่นัดหมาย หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปพบแทนก็ได้
  • หากพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นจริงและต้องเสียค่าปรับ คุณสามารถสอบถามขั้นตอนการยื่นคำร้องขอ “งด” เบี้ยปรับ รวมถึงมาตรฐานลดโทษอื่นๆ หรือขอผ่อนชำระภาษี ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับเราได้
  • พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สรรพากรด้วยความสุภาพ เพราะเป็นการติดต่อราชการ ซึ่งจะช่วยให้สามารถดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันได้อย่างราบรื่น

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • เพิกเฉยต่อหนังสือที่ส่งมา เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม
  • พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สรรพากรด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว เพราะไม่ช่วยให้สถานการณ์ได้เปรียบขึ้นแต่อย่างใด
app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)