สมัครประกันสังคมมาตรา 40 รับเงินเยียวยา 5,000 บาท

ทั่วไป

สำนักงานประกันสังคมเปิดให้ สมัครประกันสังคมมาตรา 40 “ระบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40” บนเว็บไซต์ www.sso.go.th สำหรับผู้ประกันตน ม.40 (ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป เข้าระบบประกันตนภาคสมัครใจ) โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบแล้วจะได้สิทธิรับเงินเยียวยาประกันสังคมจำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐบาล ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด

ผู้ประกันตน มาตรา 40 จะได้รับเงินเยียวยาโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ม.40 ต้องสมัครประกันสังคมมาตรา 40 ให้เรียบร้อยก่อนภายในเวลาที่กำหนดจึงจะมีสิทธิ์รับเงินเยียวยาได้

ช่องทางตรวจสอบสิทธิเงินเยียวยาประกันสังคม ม.40

สมัครประกันสังคมมาตรา 40 ได้หลายช่องทาง

สำนักงานประกันสังคมเปิดช่องทาง สมัครประกันสังคมมาตรา 40 ดังต่อไปนี้

  1. สายด่วนประกันสังคม หมายเลข 1506
  2. ร้าน 7-Eleven ทุกสาขา
  3. ธนาคาร ธกส. ทุกสาขา
  4. ห้างสรรพสินค้า Big C
  5. เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th ระบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40

คุณสมบัติผู้ สมัครประกันสังคมมาตรา 40 ที่มีสิทธิรับเงินเยียวยา 5,000 บาท

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • มีอายุตั้งแต่ 15 – 65 ปีบริบูรณ์
  • ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย รับจ้าง เป็นต้น
  • ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัท หรือมีนายจ้าง หรือผู้ประกันตน ม.33
  • ไม่ได้เป็นผู้จ่ายประกันสังคมแบบสมัครใจ หรือผู้ประกันตน ม.39
  • ไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ

ลดอัตราส่งเงินสมทบให้ผู้ประกันตน ม.40 เหลือ 60% ตั้งแต่ ส.ค. 2564 – ม.ค. 2565

พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ได้ปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ม.40 ลงเหลือ 60% เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ถึง 31 มกราคม พ.ศ. 2565 ทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย และสนใจประกันตนภาคสมัครใจ จะมีทางเลือกส่งเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก

  1. ทางเลือกที่ 1 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 3 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 42 บาท (จากเดิม 70 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
  2. ทางเลือกที่ 2 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 60 บาท (จากเดิม 100 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
    • คุ้มครองกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล
  3. ทางเลือกที่ 3 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 5 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 180 บาท (จากเดิม 300 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
    • คุ้มครองกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล
    • คุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินรายเดือนตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ

หมายเหตุ: ทางเลือกที่ 1 จะได้รับประโยชน์ทดแทนน้อยที่สุด ในขณะที่ทางเลือกที่ 3 จะได้รับประโยชน์ทดแทนมากที่สุด

ยอดเงินประกันสังคมลด แต่ไม่กระทบประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

ก่อนหน้านี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยว่า การปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท ส่วนรัฐบาลลดนำส่งเงินสมทบลง 189 ล้านบาท แต่แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มที่จะเลือกส่งเงินสมทบแบบสมัครใจเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบดังกล่าว ซึ่งกระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีเงินสมทบลดลงหลังจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ 6 เดือน จำนวน 567 ล้านบาท เหลือจำนวน 850.5 ล้านบาท จากจำนวนเดิม 1,417.5 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามอัตราปกติ

การเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระหลัง สมัครประกันสังคมมาตรา 40

ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจของระบบประกันสังคมตาม ม. 40 เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ ‘ล็อกดาวน์’ ได้แก่

  1. กรุงเทพมหานคร
  2. กาญจนบุรี
  3. ชลบุรี
  4. ฉะเชิงเทรา
  5. ตาก
  6. นครปฐม
  7. นครนายก
  8. นครราชสีมา
  9. นราธิวาส
  10. นนทบุรี
  11. ปทมุธานี
  12. ประจวบคีรีขันธ์
  13. ปราจีนบุรี
  14. ปัตตานี
  15. พระนครศรีอยุธยา
  16. เพชรบุรี
  17. เพชรบูรณ์
  18. ยะลา
  19. ระยอง
  20. ราชบุรี
  21. ลพบุรี
  22. สงขลา
  23. สิงห์บุรี
  24. สมุทรปราการ
  25. สมุทรสงคราม
  26. สมุทรสาคร
  27. สระบุรี
  28. สุพรรณบุรี
  29. อ่างทอง

หมายเหตุ: การเดินทางเข้า-ออกพื้นที่สีแดงเข้มต้องลงทะเบียนรับ QR Code เดินทางข้ามพื้นที่ covid-19.in.th ‘หยุดเชื้อเพื่อชาติ’ ด้วย

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)