พ่อให้สิทธิประโยชน์ภาษีอะไรกับเราได้บ้าง

ลดหย่อนภาษี

สิทธิลดหย่อนภาษีของคุณพ่อ ที่คนเป็นลูกสามารถใช้ได้ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2562 (ยื่นต้นปี 2563) iTAX รวมกิจกรรมที่ทำร่วมกับคุณพ่อกิจกรรมไหน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ มาให้ผู้เสียภาษีทุกคนแล้ว

1. ค่าลดหย่อนบิดา

สำหรับผู้เสียภาษีที่ทำหน้าที่ดูแลคุณพ่อ กฎหมายกำหนดให้คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่อพ่อหรือแม่หนึ่งคนได้ คนละ 30,000 บาท/ปี แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

  • คุณจะต้องเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อ (ลูกบุญธรรมจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้)
  • พ่อจะต้องมีอายุอย่างน้อยครบ 60 ปี ในปีภาษีนั้น (หากเพิ่งอายุครบ 60 ปี ในปีภาษี ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้)
  • พ่อจะต้องอยู่ในความดูแลของเรา
  • พ่อจะต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท
  • พ่อจะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษี

เรื่องที่ต้องระวังคือ ในกรณีที่คุณมีพี่น้อง ก็อาจจะต้องทำข้อตกลงหรือคุยกันให้รู้เรื่องว่า ใครจะเป็นคนใช้สิทธิลดหย่อนพ่อ เพราะสิทธิลดหย่อนนี้นั้น ไม่อนุญาตให้ใช้ซ้ำกันได้แม้ว่าพี่น้องจะมีพ่อแม่เดียวกันก็ตาม ดังนั้น เช็กสิทธิกันให้ดี!

เพิ่มเติมที่ ค่าลดหย่อนบิดามารดา

2. ค่าลดหย่อนผู้พิการ/ทุพพลภาพ

สำหรับผู้เสียภาษีที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อที่พิการหรือทุพพลภาพ กฎหมายอนุญาตให้คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท/ปี และค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพนั้น เป็นค่าลดหย่อนที่แยกออกมาจากค่าลดหย่อนบิดามารดา

นั่นหมายความว่า คุณสามารถหักค่าลดหย่อนบิดา 30,000 บาท และหักลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพได้อีก 60,000 บาท รวมค่าลดหย่อนทั้งสิ้นคือ 90,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

2.1 กรณีเป็นผู้พิการ

  • บัตรประจำตัวผู้พิการที่คุณดูแลอยู่ จะต้องระบุชื่อคุณในฐานะผู้ดูแล
  • คุณสามารถหักลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถแบ่งสิทธิลดหย่อนภาษีนี้ให้ใครได้
  • ผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น (รายได้ 30,000 พอดีเป๊ะ สามารถหักลดหย่อนได้)
  • ผู้พิการหรือผู้ดูแล(คนใดคนหนึ่ง) จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษี

2.2 กรณีผู้ทุพพลภาพ

  • คุณสามารถหักลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถแบ่งสิทธิลดหย่อนภาษีนี้ให้ใครได้
  • ผู้ทุพพลภาพต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น (รายได้ 30,000 พอดีเป๊ะ สามารถหักลดหย่อนได้)
  • ผู้ทุพพลภาพหรือผู้ดูแล(คนใดคนหนึ่ง) จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษี

เพิ่มเติม ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ

3. เบี้ยประกันสุขภาพบิดา

เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ หากคุณทำการ ซื้อประกันสุขภาพให้คุณพ่อ คุณสามารถใช้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายไปมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

แต่ในกรณีที่คุณหารจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อกับพี่น้องคนอื่นๆ ก็ยังสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ เพียงแต่ค่าลดหย่อนจะถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนของพี่น้องที่ช่วยกันจ่ายค่าเบี้ยประกัน

เช่น ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ 15,000 บาท คุณมีพี่น้องร่วมหารค่าเบี้ยประกันด้วย 2 คน 15,000 ÷ 2 เท่ากับว่า จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดาได้คนละ 7,500 บาท นั่นเอง และจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

  • เป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ลูกบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้)
  • พ่อต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี
  • พ่อหรือเรา จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษี
  • ประกันสุขภาพที่ซื้อจะต้องคุ้มครอง การรักษาพยาบาลที่เกิดจากอาการเจ็บป่วยและอาการบาดเจ็บ การชดเชยกรณีทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ, ประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ รวมถึงการแตกหักของกระดูก, ประกันภัยโรคร้ายแรง, ประกันสุขภาพที่ดูแลระยะยาว (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้)

เพิ่มเติม เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

4. ค่าลดหย่อนหนังสือ

หากคุณทำการซื้อหนังสือหรือ e-book ให้คุณพ่อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2562 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง และเมื่อรวมกับการซื้อหนังสือและ e-book ในโครงการช้อปช่วยชาติ ระหว่าง 1 – 16 มกราคม 2562 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท

ทั้งนี้ คุณจะต้องใช้ใบกำกับภาษี หรือ ใบเสร็จรับเงิน ที่ระบุรายการสินค้า, ข้อมูลผู้ขาย,ข้อมูลผู้ซื้อ, วันที่ที่ทำรายการ, รายการสินค้าที่ซื้อ และจำนวนเงิน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในเพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีด้วย

เพิ่มเติม ค่าลดหย่อนหนังสือและ e-book

5. ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง/เมืองหลัก

ในกรณีที่คุณจองโรงแรมที่พัก หรือมีทริปพาคุณพ่อเที่ยวในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนท่องเที่ยวได้ตามที่จ่ายจริง แตกต่างกันตรงที่

  • หากท่องเที่ยวเมืองรอง จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
  • หากท่องเที่ยวเมืองหลัก จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

หมายเหตุ

  • รายการหักลดหย่อนภาษีใช้ได้สำหรับค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ ค่าบริการนำเที่ยวของมัคคุเทศน์เท่านั้น ไม่รวมค่าเดินทาง เช่น ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องบิน
  • ต้องเป็นการใช้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้วเท่านั้น 
  • ค่าโรงแรมหรือที่พักที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจที่พัก โรงแรม หรือเป็นโฮมสเตย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กรมการท่องเที่ยวกำหนด

เพิ่มเติม ค่าลดหย่อนท่องเที่ยว

6. ค่าลดหย่อนอุปกรณ์กีฬา

หากคุณซื้อสินค้าและอุปกรณ์กีฬาให้คุณพ่อ สำหรับกิจกรรมการออกกำลังกายกระชับมิตรในครอบครัว ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562 คุณสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่า

  • จะต้องซื้อสินค้าหรืออุปกรณ์กีฬา จากร้านค้าที่ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เรียบร้อยแล้วเท่านั้น
  • อุปกรณ์กีฬาที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เล่นกีฬาและออกกำลังกายเท่านั้น เช่น ลูกบอล ไม้เทนนิส เป็นต้น ไม่รวมอุปกรณ์กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (e-sport)
  • เครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬาที่ลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นเครื่องแต่งกายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อออกกำลังกายเท่านั้น เช่น เสื้อผ้า รองเท้ากีฬา เป็นต้น
  • จะต้องใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ หรือ ใบเสร็จรับเงิน ที่ระบุรายการสินค้า, ข้อมูลผู้ขาย,ข้อมูลผู้ซื้อ, วันที่ที่ทำรายการ, รายการสินค้าที่ซื้อ และจำนวนเงิน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในเพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีด้วย

เพิ่มเติม ค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา

7. เงินบริจาคพิเศษ/ทั่วไป

อย่างที่ทราบกันดีว่า หากคุณทำการบริจาคเงินให้กับองค์กรสาธารณกุศล โรงเรียน สถานศึกษา หรือ โรงพยาบาลของรัฐ คุณจะสามารถนำใบอนุโมทนาบัตรไปใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีได้ เพียงแต่ในปี 2562 นี้ การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินบริจาคนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

7.1 เงินบริจาคทั่วไป

ในกรณีที่คุณและคุณพ่อทำการบริจาคเงินให้แก่วัด สถานพยาบาล สถานศึกษาของรัฐ หรือ สภากาชาดไทย คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ และจะต้องใช้ใบอนุโมทนาบัตรเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย แต่หากคุณทำการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-donation) ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เลย ไม่ต้องแนบใบอนุโมทนาบัตร

เพิ่มเติม เงินบริจาคทั่วไป

7.2 เงินบริจาคพิเศษ

แต่พิเศษไปกว่านั้น เพราะหากคุณทำการบริจาคเงินเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และสถานพยาบาลของรัฐ คุณจะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาค แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องบริจาคผ่าน ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-donation) เท่านั้น

เพิ่มเติม เงินบริจาคเพื่อการศึกษา

ทั้งหมดนี้คือ สิทธิลดหย่อนภาษีที่คุณลูกๆ สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลคุณพ่อ และหากคุณต้องการที่จะทำการคำนวณภาษีว่า คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกเท่าไหร่ คุณสามารถใช้บริการวางแผนภาษีและคำนวณภาษีผ่าน application iTAX ได้ ฟรี ทั้งระบบ iOS และ Android

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)