นายจ้างและลูกจ้างรอลุ้น ลดจ่ายเงินประกันสังคม หลังบอร์ดประกันสังคมมีมติเห็นชอบลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง จากเดิม 5% ลดเหลือ 2.5% เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2564
คณะกรรมการประกันสังคมเตรียมมาตรการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เตรียมเสนอ ครม. เห็นชอบอีกครั้งสัปดาห์หน้า ซึ่งจะช่วยให้ช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ จากเดิมที่ลูกจ้างเคยถูกหักสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะปรับเป็น 375 บาท
รอ ครม. เห็นชอบ ลดจ่ายเงินประกันสังคม ให้มีผล 3 เดือน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ….. เพื่อลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นเวลา 3 เดือนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2564 โดย นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะลดให้เหลือฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน (จากเดิม จากเดิมฝ่ายละ 5%) ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท
ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเหลือเดือนละ 375 บาท
ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) จะจ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน (จากเดิมฝ่ายละ 5%) ทำให้เงินสมทบประกันสังคมที่เคยถูกหักสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะลดลงเป็นหักเดือนละ 375 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน มิถุนายน – สิงหาคม 2564
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดือนละ 216 บาท จากเดิม 432 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน มิถุนายน – สิงหาคม 2564 เช่นกัน
ลดจ่ายเงินประกันสังคม จำเป็นเพราะโควิด-19 เป็นเหตุ
บอร์ดประกันสังคมมีมติชงประกาศลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมครั้งนี้ เป็นครั้งที่สองของปี 2564 หลังจากที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบให้ประกาศลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมมาครั้งหนึ่งแล้วเหลือ 0.5% สำหรับค่าจ้างในงวดมกราคม – มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยอีกว่า การลดเงินสมทบในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้าง จำนวน 485,113 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,384 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน ที่จะสามารถนำเงินสมทบที่ลดลงนั้นไปใช้จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,163 ล้านบาท ซึ่งจะลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น รวมถึงเป็นการรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างได้อีกด้วย