ยื่นทบทวนสิทธิได้แล้ว! เราไม่ทิ้งกัน อุทธรณ์ผ่านเว็บ

ทั่วไป

หลังจากที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังกำลังตรวจคัดกรองผู้มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาที่เข้ามาลงทะเบียนกว่า 27 ล้านราย โดยเริ่มมีผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการคัดกรองจำนวนหนึ่งแล้วนั้น กระทรวงการคลังจึงกำลังเตรียมระบบให้ผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ์ได้ โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ รับเงิน 5,000 บาท ได้ทางใดบ้าง?

สำหรับประชาชนที่ไม่ผ่านการคัดกรองในรอบแรก สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ์เพื่อรับเงินเยียวยาจากภาครัฐได้ใน วันที่ 20 เมษายน 2563 ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เท่านั้น ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาเพื่อยื่นเอกสารที่สำนักงานกระทรวงการคลัง เนื่องจากไม่มีช่องทางการเปิดรับเอกสารด้วยวิธีนี้ และเป็นการปฏิบัติตามมาตราเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

2. ใครสามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ์ได้บ้าง?

สำหรับการยื่นขอทบทวนสิทธิ์นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 สำหรับประชาชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบและคัดกรอง

นั่นหมายความว่า หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ได้รับ SMS จากการลงทะเบียนและพบว่า อาชีพของคุณไม่ตรงกับข้อมูลที่คัดกรองมา หรือ ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบและคัดกรองจากหน่วยงานของรัฐ ก็สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ์เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาทได้

  • ระยะที่ 2 สำหรับผู้ที่กดยกเลิกลงทะเบียนเนื่องจากเข้าใจผิด

กระทรวงการคลังมีแผนที่จะขยายการยื่นขอใช้สิทธิ์ ทบทวนสิทธิ์เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ลงทะเบียนและได้ทำการยกเลิกเนื่องจากความเข้าใจคาดเคลื่อนในอนาคตด้วย

3. ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ ทำให้ได้รับเงินเยียวยาลดลงหรือไม่

สำหรับผู้ที่ทำการขอทบทวนสิทธิ์ หากผ่านการคัดกรองหรือทบทวนสิทธิ์ รอบใหม่นี้ คุณจะยังได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนครบถ้วนเหมือนเดิม เนื่องจากการจ่ายเงินเยียวยาจะนับวันที่ลงทะเบียนในการเริ่มนับสิทธิ์เป็นหลัก 

4. ขอทบทวนสิทธิ์แล้วต้องรอนานแค่ไหน?

กระทรวงการคลังยืนยันว่า ขั้นตอนการทบทวนสิทธิ์จะเป็นไปอย่างเร็วที่สุด โดยมีการวางแผนลงพื้นที่จริงเพื่อทำการยืนยันตัวตน และความเดือดร้อนของผู้ลงทะเบียน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลังในพื้นที่ เช่น คลังจังหวัด สรรพากรพื้นที่สาขา ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น รวมถึงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ด้วย

5. ได้รับ SMS แจ้งว่าโอนเงินไม่สำเร็จ ต้องยื่นขอทบทวนสิทธิ์หรือไม่?

เราไม่ทิ้งกัน โอนเงินไม่สำเร็จ

ไม่ต้อง เพราะหากคุณได้รับ SMS แจ้งว่า โอนเงินไม่สำเร็จ นั่นหมายความว่า คุณได้ผ่านการคัดกรองแล้วและมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากภาครัฐ คุณจึงไม่จำเป็นที่จะต้องยื่นขอทบทวนสิทธิ์อีกครั้ง และสาเหตุที่คุณได้รับ SMS แจ้งว่า โอนเงินไม่สำเร็จ อาจจะเป็นเพราะว่า

  • บัญชีธนาคารที่คุณลงทะเบียนไว้ ถูกปิดไปแล้ว เนื่องจากเป็นบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวนานเกิน 1 ปี
  • ชื่อบัญชีธนาคาร ไม่ตรงกับชื่อที่ลงทะเบียนไว้ อย่าลืมว่า ชื่อบัญชีธนาคารและชื่อผู้ลงทะเบียนจะต้องเป็นชื่อเดียวกัน
  • เลือกรับโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ แต่ไม่ได้ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน ในกรณีนี้ คุณสามารถทำการแก้ไขด้วยการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชนผ่าน Mobile Banking หรือ ตู้ ATM ได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคาร

นั่นหมายความว่า หากคุณได้รับ SMS แจ้งว่าโอนเงินไม่สำเร็จ สิ่งที่คุณต้องทำคือ รีบตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีธนาคารที่ต้องการใช้รับเงิน และหากพบว่าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนไว้มีความผิดพลาด เราแนะนำให้คุณทำการ แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับเงิน ใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ทันที เพื่อรอรับการโอนเงินเยียวยางวดเดือนเมษายนอีกครั้งในวันที่ 22 หรือ 29 เมษายน 2563 (ดูวิธีการแจ้งเปลี่ยนข้อมูลการรับเงินได้ที่ เช็กสถานะ เราไม่ทิ้งกัน)

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังยืนยันว่า

“รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอและมีความตั้งใจที่จะดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ให้ครอบคลุมครบทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มต่อไป”

และสำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามรายละเอียด และต้องการร้องเรียนเกี่ยวมาตรการเยียวยา 5,000 บาท สามารถติดต่อและร้องเรียนได้ที่

  • Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1144 และ
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3421, 3422, 3423, 3424, 3425, 3427, 3429, 3430, 3572 (ในวันและเวลาราชการ)

ข้อมูลจาก 

สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)