กระทรวงการคลัง เปิด 2 มาตรการลดภาระหนี้สิน งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 ช่วยคนไทยสู้พิษเศรษฐกิจจากแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เปิดรายละเอียด ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ แบบครบทุกขั้นตอน
คลังขยายเวลายื่นภาษี มิ.ย. – ก.ค. 2564 ให้ผู้ประกอบการ
พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ผ่านสภาฯ เห็นชอบ 270 เสียง
18 มิถุนายน 25654 – นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอน และต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง การระบาดระลอกใหม่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้รายได้ของประชาชนปรับลดลง ในขณะที่ภาระหนี้ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม
ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ภาครัฐจึงได้ดำเนิน มาตรการลดภาระหนี้สิน มาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้
งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ร่วมกันจัดขึ้นพร้อมกับผู้ให้บริการทางการเงินหลายแห่ง เพื่อเป็นช่องทางช่วยให้ลูกหนี้ได้รับข้อเสนอที่ผ่อนปรนและตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น ลูกหนี้ทุกสถานะ รวมถึงลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เสีย หรือ NPL) ที่ได้เริ่มบังคับหลักประกันแล้ว สามารถเข้าร่วมไกล่เกลี่ยปัญหาที่มีกับเจ้าหนี้ได้
งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในครั้งนี้ครอบคลุมหนี้ 3 ประเภท ดังนี้
- หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน มีผู้ให้บริการทางการเงินเข้าร่วมแล้ว 26 แห่ง โดยลูกหนี้สามารถลงทะเบียนได้ถึง 30 มิ.ย. 2564
- หนี้ที่ไม่มีหลักประกันที่ถูกโอนขายไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) โดยมี บบส. เข้าร่วมแล้ว 4 แห่ง และลูกหนี้สามารถลงทะเบียนได้ถึง 31 ก.ค. 2564
- หนี้เช่าซื้อรถยนต์ มีผู้ให้บริการทางการเงินเข้าร่วมแล้ว 12 แห่ง โดยลูกหนี้สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้-31 กรกฎาคม 2564
ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ผ่านเว็บไซต์ www.bot.or.th หรือ www.1213.or.th
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วมบริการ หรือสายด่วน 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินเพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการกรอกข้อมูลในวันเวลาราชการ หรือส่งอีเมลมาที่ [email protected] เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป
2. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 โดย ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงิน ยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น มุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้
- บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เน้นการบรรเทาภาระหนี้โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น กรณีเกินกว่า 48 งวด ให้ทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราเพดาน (บัตรเครดิต 12% และสินเชื่อส่วนบุคคล 22%) ตั้งแต่งวดแรก ลดค่างวด และรวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น
- สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีทางเลือกในการลดค่างวด หรือพักชำระค่างวด หรือรวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น โดยลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้มีทางเลือกในการคืนรถ และหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
- เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีทางเลือกในการลดค่างวดหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ โดยลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการพักชำระค่างวดหรือการคืนรถ รวมถึงให้คุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม นอกจากนี้ ให้รวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น และหากลูกหนี้สามารถชำระค่าเช่าซื้อคืนทั้งหมด ให้ลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50%
- สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันไดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน
เตรียมออกโครงการแก้หนี้เพิ่ม
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวทิ้งท้ายว่าภาครัฐยังมีนโยบายและโครงการอื่นๆ เช่น โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ทางด่วนแก้หนี้ คลินิกแก้หนี้ รวมถึงนโยบายสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 และนโยบายขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไข โดยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้โดยตรง