จากเดิมหากนักลงทุนเลือกลงทุนตราสารหนี้โดยตรง เมื่อได้รับดอกเบี้ยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทำให้นักลงทุนเสียภาษีสุทธิ 15% แต่หากเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ เมื่อกองทุนรวมได้รับดอกเบี้ยจะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และในกรณีที่นักลงทุนได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 10% และทำให้นักลงทุนเสียภาษีสุทธิ 10%
จาก 2 ทางเลือกข้างต้น จะเห็นได้ว่าเกณฑ์การเก็บภาษีกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้แบบเดิมนี้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้รัฐบาลพิจารณาการเก็บภาษีกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อไปนี้
นิยามกองทุนรวม
กฎหมายฉบับใหม่กำหนดคำนิยามของกองทุนรวมไว้ว่า “กองทุนรวมทั้งหมดจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย” และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร (ดอกเบี้ยและส่วนลด)
รายได้และดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุน ต้องเสียภาษี
กฎหมายฉบับใหม่กำหนดว่า ไม่ว่าจะเป็น เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือสถาบันการเงิน รวมถึง รายได้และดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ จะต้องเสียภาษีในอัตรา 15% โดยไม่หักค่าใช้จ่าย
แต่เนื่องจากปัจจุบันกรมสรรพากรยังไม่สามารถแยกผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมที่มาจากการลงทุนในตราสารหนี้ และผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนตราสารทุนได้ กรมสรรพากรจึงแนะนำให้ผู้เสียภาษีหรือนักลงทุนบริหารการลงทุนในกองทุนรวมผสมเพื่อลดภาระภาษีซ้ำซ้อนจากการลงทุนหรือได้รับส่วนแบ่งของกำไรหรือ มีกำไรจากการขายหน่วยลงทุน ในกองทุนรวมผสม ไม่ว่าจะรับในรูปแบบของบุคคลธรรมดา, บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแทน
กฎหมายการเก็บภาษีกองทุนรวม มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่?
กฎหมายการเก็บภาษีกองทุนรวมฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 นั่นหมายความว่า หากมีการลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมหลังจาก วันที่ 20 สิงหาคม 2562 และได้กำไรจะต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดทันที
แต่สำหรับผู้เสียภาษีท่านใดที่มีการลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็ไม่ต้องกังวลใจไปและคุณสามารถมั่นใจได้เลยว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของคุณอย่างแน่นอน เพราะประกาศจากกรมสรรพากรว่าด้วยเรื่อง การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ระบุไว้ว่า
1. การเก็บภาษีกองทุนรวมใหม่ ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง
กฎหมายการเก็บภาษีกองทุนรวมฉบับใหม่จะไม่มีผลบังคับใช้กับการลงทุนหรือฝากเงินของกองทุนรวมที่เกิดขึ้นก่อน 20 สิงหาคม 2562 นั่นหมายความว่า หากคุณทำการซื้อกองทุนหรือลงทุนกับกองทุนรวมไปก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 คุณจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี 15% อยู่เหมือนเดิม แม้ว่าคุณจะได้รับดอกเบี้ยหลังวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ก็ตาม
หมายเหตุ : กองทุนรวมในที่นี้ หมายถึงกองทุนรวมที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
2. กฎหมายฉบับนี้ ไม่กระทบกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ
สำหรับผู้เสียภาษีที่มีการลงทุนกองทุนที่อยู่ในกลุ่มกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนรวมที่เสนอขายหน่วยลงทุนแก่สำนักงานประกันสังคม, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเหมือนเดิม ฉะนั้นวางใจได้เลยว่า กฎหมายเก็บภาษีกองทุนรวมฉบับใหม่นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการออมเพื่อการเกษียณอายุของคุณแน่นอน
3. กฎหมายเก็บภาษีกองทุนรวมใหม่ ไม่เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ผู้เสียภาษีอาจจะกังวลใจว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะทำให้นักลงทุนต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนหรือไม่นั้น เราอยากให้คุณวางใจได้ เพราะไม่ว่าหากคุณเลือกลงทุนใน
3.1 กองทุนตราสารหนี้
จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการรับกำไรในรูปแบบของ บุคคลธรรมดา, บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็ตาม รวมถึง กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไทยและต่างประเทศที่ประกอบกิจการในไทย ได้รับกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ด้วย (ในกรณีนี้บุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อยู่แล้ว ตามข้อ 2(32) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ) ทั้งนี้ เงื่อนไขการได้รับการยกเว้นภาษี จะต้องเป็นไปตามนิยามกองทุนรวมตราสารหนี้ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศ
3.2 กองทุนรวมผสม
กำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมของบุคคลธรรมดาจะยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ตามข้อ 2(32) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126) เหมือนเดิม
ผลตอบแทนจากกองทุนที่ถูกหักภาษี ขอคืนเงินภาษีได้
หากผู้เสียภาษีหรือนักลงทุนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว แต่มีเงินได้สุทธิประจำปีไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้เสียภาษีสามารถขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้ได้ โดยยื่นแบบคำร้องขอคืนเงินหรือแบบอื่นๆ ที่กรมสรรพากรกำหนดต่อสรรพากรพื้นที่
ย้ำอีกครั้งว่า
กฎหมายฉบับนี้ถูกผลักดันเพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างนักลงทุนที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% และ นักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย เท่านั้น ซึ่งเราอาจจะต้องรอดูกันอีกทีว่า รัฐบาลจะออกกฎหมายลูกมาเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร และหากมีข้อเพิ่มเติมตรงไหน iTAX จะรีบอัปเดตให้ผู้เสียภาษีทุกคนทราบต่อไป
และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่มองหากองทุนเพื่อการลงทุนและลดหย่อนภาษี คุณสามารถเลือกใช้บริการคำนวณภาษีและวางแผนสำหรับการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ที่ iTAX shop เรากล้ารับรองว่า คุณจะเจอกับกองทุนที่คุณถูกใจและได้ผลตอบแทนที่ตรงใจคุณแน่นอน
ข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/TaxBugnoms