ภาษี e-Service มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ ที่ให้บริการผู้บริโภคในไทย และมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ในอัตรา 7% ของราคาค่าบริการ
การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติที่ได้เงินค่าบริการจากผู้บริโภคภายในประเทศเป็นแนวนโยบายจัดเก็บภาษีการบริโภคที่กว่า 60 ประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย
ภาษี e-Service คืออะไร?
ภาษี e-Service คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เรียกเก็บจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ ซึ่งเป็นมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ที่ประกาศตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)
แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ คืออะไร?
แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ หมายถึง แพลตฟอร์มของบริษัทต่างชาติให้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น
- แพลตฟอร์ม E-Commerce ขายของออนไลน์
- แพลตฟอร์มโฆษณา ยิง Ad เช่น Facebook, Google
- แพลตฟอร์ม Agency จองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง เช่น Booking.com, Agoda
- แพลตฟอร์มตัวกลาง เช่น เรียกรถรับส่ง สั่งอาหาร
- แพลตฟอร์มบริการออนไลน์ เช่น เกม ดูหนัง ฟังเพลง ระบบ Cloud ประชุมออนไลน์ subscription และ digital content อื่นๆ เช่น App Store, Play Store, PlayStation Store, Netflix, YouTube, Spotify, Zoom, Dropbox
ผู้ประกอบการต่างชาติเริ่มจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทยได้รึยัง?
กรมสรรพากรเปิดระบบ VES (VAT for Electronic Service) ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564
เบื้องต้นนี้ กรมสรรพากรมีรายชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติรายใหญ่ประมาณ 58 ราย ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรแล้ว (ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564) โดยคาดว่าจะมีแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติรายอื่นๆ ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้นจำนวน 100 ราย เข้ามาดำเนินการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการฯ ในไทย
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการต่างชาติที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม e-Service ในไทยแล้ว
กรมสรรพากรเปิดระบบให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการต่างชาติที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม e-Service ได้ที่ระบบ VAT registrants outside of Thailand >> https://eservice.rd.go.th/rd-ves-web/search/company
เมื่อเก็บภาษี e-Service แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
- ผู้ประกอบการต่างประเทศจะต้องมีต้นทุนที่เท่ากับผู้ประกอบการในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้เล่น
- แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติอาจผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด หรือบางส่วน หรืออาจยอมรับภาระไว้เอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ประกอบการต่างชาติ
- กรมสรรพากรคาดว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากนโยบายภาษี e-Service เพิ่มขึ้นได้ราว 5,000 ล้านบาท
ภาษี e-Service กระทบกับการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือไม่?
ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เลย เพราะนโยบายภาษี e-Service จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติเท่านั้น
ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง?
กรณีเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว
ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทยแล้ว ไม่ต้องปรับตัวอะไร ทำเหมือนเดิมทุกอย่าง เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติจะไม่เรียกเก็บ VAT จากผู้ประกอบการที่แจ้งให้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติทราบว่าได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะนำภาษีมูลค่าเพิ่มไปชำระให้กรมสรรพากรโดยตรงตามปกติ
กรณีเป็นผู้บริโภคทั่วไป
ถ้าเป็นผู้บริโภคทั่วไป ก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรเช่นกัน ทำเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นภาระของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ เพียงแต่บริการบนบางแพลตฟอร์มอาจปรับราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นเพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนค่าภาษีที่ถูกเรียกเก็บด้วย
สาระสำคัญของภาษี e-Service
1. สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา
โดยที่ปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและการใช้บริการดังกล่าว นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี การใช้ หรือการจัดทำเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากร ให้สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
2. หลักการสำคัญของกฎหมาย e-Service
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
- แก้ไขเพิ่มเติมให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากรสามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 โสฬส)
- แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สินค้า” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77/1 (9) และเพิ่มมาตรา 77/1 (10/1) และ (10/2))
- แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน เสียภาษีจากยอดขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เพิ่มมาตรา 82/13 วรรคสองและวรรคสาม)
- แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และหน้าที่ของผู้ประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83/6 (2) และมาตรา 85/3 (2))
- กำหนดให้การดำเนินการทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำโดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (เพิ่มมาตรา 85/20)
- กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี (เพิ่มมาตรา 86/1 (1/1))
รู้หรือไม่? ทำไมต้องเสนอกฎหมายเข้ารัฐสภา ทำไมรัฐบาลไม่ออกกฎหมายไปเลย?
หากเป็นการเก็บภาษีเพิ่มเติม รัฐบาลไม่สามารถออกกฎหมายเองได้ เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้บุคคลเพิ่มเติมและเป็นการแก้ไขประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยจะออกมาเป็นกฎหมายในระดับ พระราชบัญญัติ ดังนั้น ครม. จึงต้องนำเสนอในรูปแบบ ร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบ ซึ่งต่างจากการลดภาษีหรือยกเว้นภาษี ซึ่งอยู่ในอำนาจที่ ครม. สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา