รัฐบาลจัดหนัก 1.9 ล้านล้านบาท! ออกกฎหมายรวดเดียว 5 ฉบับสู้โควิด-19

กฎหมายออกใหม่

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมามีการประกาศกฎหมายด่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับมือ COVID-19 ออกมา 5 ฉบับ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

มันคืออะไร?

กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท (โดย ครม. อนุมัติ) เพื่อนำเงินดังกล่าวไปแก้ไขปัญหา 3 เรื่อง ได้แก่

  1. เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19: วงเงิน 45,000 ล้านบาท (4.5% ของวงเงินทั้งหมด) โดย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมายตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข
  2. เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19: วงเงิน 555,000 ล้านบาท (55.5% ของวงเงินทั้งหมด) โดย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมายตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง
  3. เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมท่ีได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19: วงเงิน 400,000 ล้านบาท (40% ของวงเงินทั้งหมด) โดย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมาย
เริ่มใช้เมื่อไหร่?

19 เมษายน 63

ทำไมต้องประกาศใช้?

เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับน้ี เกิดจาก COVID-19 ถือเป็นภัยพิบัติสาธารณะที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนและต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณแผ่นดินท่ีมีอยู่ในการดำเนินมาตรการและวิธีการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งและควบคุมการระบาดของโรคและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและได้มีการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะยุติการระบาดและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วนได้ ในเบื้องต้นรัฐบาลประมาณการว่ามีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่สามารถได้มาโดยวิธีการงบประมาณตามปกติได้


2. พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

มันคืออะไร?

กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ ได้แก่

  1. การปล่อยสินเชื่อเงินกู้วงเงิน 500,000 ล้านบาทให้ SMEs โดยธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยเงินกู้ดังกล่าวให้สถาบันการเงินไปปล่อยกู้ให้ SMEs ต่ออีกที ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี สำหรับช่วง 2 ปีแรก และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดจำนองและหลักประกันทางธุรกิจให้ทั้งหมด
  2. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งให้สถาบันการเงินชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของ SMEs ได้ สำหรับสินเชื่อที่วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาทได้ รวมถึงลูกหนี้อื่นของสถาบันการเงินด้วย โดยไม่ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือเจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ (ข้อสังเกต: หากตีความว่าเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้โดยเจ้าหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันที่ไม่ได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลาจะหลุดพ้นจากความรับผิดทันที)
เริ่มใช้เมื่อไหร่?

19 เมษายน 63

ทำไมต้องประกาศใช้?

เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับน้ี เกิดจาก COVID-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งข้ึน จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ SMEs ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานที่สาคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยใช้วิธีให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการชะลอการชำระหน้ีเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ที่คาดว่าจะลดลงอย่างรุนแรงของ SMEs ด้วย ซึ่งมาตรการนี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้ภาคธุรกิจเกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหน้ีและอาจส่งผลกับฐานะทางการเงินและการทำหน้าท่ีด้านสินเช่ือของสถาบันการเงิน อันอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่จะทำให้ปัญหารุนแรงและแก้ไขได้ยากในภายหลัง


3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

มันคืออะไร?

กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ ตั้ง “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” เพื่อบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของ COVID-19 และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวม โดยมีกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันดูแล แต่ให้อำนาจชี้ขาดเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

การเริ่มกองทุนฯ ดังกล่าวในระยะแรกกำหนดวงเงินสูงสุดไว้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาทโดยเป็นเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด โดยในกรณีท่ีตลาดตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการระบาดของ COVID-19 และมีเหตุจาเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของ รมว. คลัง มีอำนาจซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในตลาดได้

หากบริหารกองทุนฯ นี้แล้วมีกำไรก็ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ถ้าเกิดความเสียหายก็ให้กระทรวงการคลังชดเชยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท (10% ของทุนตั้งต้น)

เริ่มใช้เมื่อไหร่?

19 เมษายน 63

ทำไมต้องประกาศใช้?

เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับน้ี เกิดจาก COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ซึ่งเป็นทั้งช่องทางการระดมทุนสำคัญในการประกอบธุรกิจ การลงทุน และการออมของประชาชน เมื่อ COVID-19 ยังไม่มีหน่วยงานใดคาดการณ์ได้ชัดเจนว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ จึงทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงันอย่างรุนแรงและฉับพลัน ผู้ประกอบการซึ่งระดมทุนในตลาดตราสารหน้ีต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องกะทันหัน ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนด (และท่ีใกล้จะครบกำหนด) มูลค่านับแสนล้านบาทได้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากที่จะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ซึ่งเป็นความเสี่ยงเชิงระบบท่ีกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศและต่อประชาชนโดยรวม


4. พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563

มันคืออะไร?

กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ ยอมรับให้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกันแต่สามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (เช่น การประชุมผ่าน Google Meet, Zoom, Microsoft Teams) เป็นการประชุมที่กฎหมายยอมรับว่าได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้สิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีการประชุม เช่น การประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นหากทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นการประชุมที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยการส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมจะส่งทาง email ก็ได้ และผู้มีหน้าท่ีจัดการประชุมต้องจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งจะอยู่ในรูปไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง DE) กำหนดมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะประกาศเป็นกฎหมายเพิ่มเติมออกมาอีกครั้ง

อนึ่ง กฎหมายฉบับนี้ยังไม่อนุญาตให้การประชุมต่อไปนี้สามานรถทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

  1. การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
  2. การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
  3. การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
  4. การประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เริ่มใช้เมื่อไหร่?

19 เมษายน 63

ทำไมต้องประกาศใช้?

เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับน้ี เกิดจาก COVID-19 ที่ขณะน้ียังไม่มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการท่ีเข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาดของโรคตามคำแนะนาขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเฉพาะอย่างย่ิง “การเว้นระยะห่างทางสังคม” (social distancing) ทำให้การปฏิบัติงานของภาครัฐและการประกอบกิจกรรมในทางเศรษฐกิจของเอกชนเกือบทุกภาคส่วน ซึ่งต้องมีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันเป็นปกติต้องดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะเคยมีกฎหมายกำหนดเรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว แต่กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมยังคงต้องอยู่ในสถานท่ีเดียวกัน ทำให้ผู้ซึ่งต้องเข้าร่วมประชุมในสถานที่เดียวกันมีความเสี่ยงที่จะติดโรคสูง จึงไม่สอดคล้องกับการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ กฎหมายเดิมยังกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานท้ังในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนอย่างรุนแรง (จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทต้องเลื่อนประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นออกไปโดยไม่มีกำหนด)


5. พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563

มันคืออะไร?

กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากทั่วไปเป็น 5 ล้านบาท (จากปกติที่คุ้มครองเพียง 1 ล้านบาท) ต่อไปอีก 1 ปี โดยจะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 11 สิงหาคม 63 ถึง 10 สิงหาคม 64 (เดิมความคุ้มครอง 5 ล้านบาทจะสิ้นสุดลง 10 สิงหาคม 63 แล้วกลับไปใช้ความคุ้มครอง 1 ล้านบาทเหมือนเดิม)

เริ่มใช้เมื่อไหร่?

11 สิงหาคม 63

ทำไมต้องประกาศใช้?

เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับน้ี เกิดจาก COVID-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงิน และตลาดทุนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ดังน้ัน เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศ จึงขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากทั่วไปให้เป็น 5 ล้านบาท แต่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 สิงหาคม 63 เพื่อต่ออายุความคุ้มครองอีก 1 ปี


รู้หรือไม่

โดยปกติ พ.ร.ก. จะเป็นกฎหมายที่รัฐบาลประกาศใช้ทันทีโดยไม่รอความเห็นของรัฐสภาเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงนี้ ทั้งนี้ พ.ร.ก. ที่ประกาศใช้บังคับไปจะถูกนำกลับไปให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งเมื่อเปิดสมัยประชุมครั้งต่อไปว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)