นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เครือโรงพยาบาลธนบุรี เผยว่า ได้สอบถามผู้ผลิตวัคซีนทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาซึ่งสนิทเป็นการส่วนตัวกับโรงพยาบาลเอกชนในไทยว่าเหตุใดประเทศไทยจึงได้วัคซีนช้า ซึ่งได้คำตอบว่า รัฐบาลไทยยังไม่ยอมเซ็นสัญญา
จองวัคซีนโมเดอร์นา 1,650 ต่อโดส ที่ไหนได้บ้าง?
อย. ขึ้นทะเบียน ‘วัคซีนไฟเซอร์’ ให้ใช้ในไทยได้แล้ว
สั่งซื้อวัคซีนต้องรอ 4 เดือน รพ.เอกชนซื้อวัคซีนเองไม่ได้ ติดเงื่อนไขต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม
นพ.บุญ วนาสิน เปิดเผยว่า โดยปกติภายหลังเซ็นสัญญาซื้อขาย ผู้ผลิตจะต้องใช้เวลาอีกราว 4 เดือน จึงจะส่งมอบวัคซีนไปยังประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนได้ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนติดเงื่อนไขว่าวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน จึงจำเป็นต้องซื้อขายผ่านหน่วยงานรัฐเท่านั้น ทำให้เอกชนไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกได้ เพราะต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม ซึ่งจนถึงขณะนี้ไทยยังไม่มีการเซ็นสัญญาสั่งซื้อทั้งวัคซีนของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาจากผู้ผลิต จึงทำให้ต้องรอวัคซีนมาจนถึงปัจจุบัน
นพ.บุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากไม่ติดเงื่อนไขการสั่งซื้อผ่านหน่วยงานรัฐ เครือโรงพยาบาลธนบุรี มีความพร้อมที่จะสั่งซื้อวัคซีนทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาจำนวน 50 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 แล้ว และจะนำมาให้บริการประชาชนได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนดำเนินการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ติดขัดเพียงภาครัฐไม่ยอมเซ็นสัญญากับผู้ผลิตให้
ชี้มีผลวิจัยพิสูจน์แล้วว่าวัคซีนแบบ mRNA ได้ผลดีกว่าซิโนแวค
ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป กล่าวว่าในเดือนเมษายน 2564 มีการยืนยันผลการศึกษาจากทั่วโลกแล้ว เช่น การศึกษาในสหรัฐอเมริกายืนยันว่าวัคซีนแบบ mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นามีประสิทธิผลดีที่สุด สามารถคุ้มกันไม่ให้เกิดโรคได้ และมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ได้ ในทางกลับกัน หลายประเทศที่ฉีดซิโนแวคยังมีการติดเชื้อโควิดในระดับสูง และยังพบว่า เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ภูมิจะลดลงหลังจากผ่านไป 4-5 สัปดาห์ ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่มเข็มที่ 3 ในขณะที่วัคซีนแบบ mRNA ภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 20-100 เท่า ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ใช้วัคซีนแบบ mRNA ซึ่งยืนยันชัดเจนว่าป้องกันไวรัสได้ดี
ขอความกระจ่างทำไมประเทศอื่นในอาเซียนได้ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นากันหมดแต่ไทยไม่ได้ทั้งที่วิกฤติแล้ว
ขณะนี้ ประเทศฟิลิปปินส์ ได้วัคซีนไฟเซอร์รอบที่ 3 แล้ว รวม 40 ล้านโดส ส่วนประเทศอินโดนีเซียก็ได้รับวัคซีน mRNA 3 รอบ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์และมาเลย์เซียก็ได้รับแล้วเช่นกัน แต่ประเทศไทย ยังไม่ได้วัคซีน mRNA เลย ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติมาตั้งแต่เดือนก่อนแล้ว เพราะผู้ป่วย ICU ทั่วประเทศล้นมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว จึงอยากฟังความชัดเจนจากรัฐบาล ว่าทำไมการสั่งวัคซีน mRNA ถึงได้ช้า ทำไมจนถึงขณะนี้จึงยังไม่ได้วัคซีนแบบ mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา ทั้งที่ได้ผลดีที่สุด มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
ในมุมมองจากโรงพยาบาลเอกชน เห็นว่ารัฐบาลประเมินสถานการณ์ประมาทเกินไป ทั้งที่นักวิชาการได้เตือนแล้วว่าโควิด-19 กลายพันธุ์เร็วมาก แต่รัฐบาลไทยรอวัคซีนแอสตราเซเนก้าเพียงชนิดเดียว เมื่อประเทศไทยผลิตวัคซีนแอสตราเซเนก้าไม่ทันสถานการณ์การแพร่ระบาด ก็เลือกซื้อวัคซีนซิโนแวคมาแทน ซึ่งประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ mRNA