การบริจาคเงินให้พรรคการเมืองที่ถูกวิธีและใช้ลดหย่อนภาษีได้

ลดหย่อนภาษี

ผู้เสียภาษีหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า นอกจากเราจะสามารถบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองในดวงใจได้โดยตรงแล้ว เรายังสามารถนำเงินที่บริจาคนั้นไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร

แต่รู้หรือไม่ว่า หากคุณทำการบริจาคผิดวิธีหรือผิดเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด นอกจากคุณจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แล้ว พรรคการเมืองที่คุณรักอาจงานเข้าได้ รู้แบบนี้แล้ว เลื่อนลงไปอ่านการบริจาคพรรคการเมืองที่ถูกต้องกันดีกว่า

ทำความเข้าใจ เงินบริจาคพรรคการเมือง

ผู้เสียภาษีมักจะเข้าใจผิดว่า เราจะสามารถบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้ก็ต่อเมื่อ เราทำการยื่นภาษีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกระบวนการนั้นเรียกว่า “การอุดหนุนเงินภาษีเพื่อบริจาคพรรคการเมือง” ไม่ใช่ “เงินบริจาคพรรคการเมือง

การบริจาคเงินพรรคการเมือง คือ การที่คุณบริจาคเงิน หรือ สิ่งของเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการระดมทุนของพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามยอดเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และหากคุณอยากบริจาคให้พรรคการเมืองได้มากกว่า 1 พรรค ก็สามารถทำได้ เพราะกฎหมายอนุญาตให้คุณรวมเงินบริจาคย่อยๆ ของทุกพรรคมาใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท เช่นกัน

ความแตกต่างของบริจาคพรรคการเมือง และ เงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมือง

บริจาคพรรคการเมือง อุดหนุนภาษีพรรคการเมือง
ไม่จำเป็นต้องบริจาคในรูปของเงินเท่านั้น เป็นสิ่งของ หรือการให้ยืมสถานที่เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมืองก็ได้เช่นกัน หักจากเงินภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องจ่ายเท่านั้น
บริจาคได้มากกว่า 1 พรรคการเมือง เลือกได้แค่ 1 พรรคการเมืองเท่านั้น
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ลดหย่อนภาษีไม่ได้
มีโอกาสจ่ายภาษีถูกลง หรือ รับเงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสิทธิลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีผลกับการจ่ายภาษีเพิ่ม หรือ รับเงินคืนภาษีเพิ่ม
ทำได้ตลอดทั้งปี (กรณีบริจาคเงิน) หรือ เมื่อพรรคการเมืองมีกิจกรรมระดมทุน เลือกอุดหนุนพรรคการเมืองได้เมื่อทำการยื่นภาษีเท่านั้น

ต้องบริจาคแบบไหนให้พรรคฯ ถึงจะใช้ลดหย่อนภาษีได้?

หากเป็นการบริจาคเงิน คุณสามารถทำได้ทุกช่วงเวลาตลอดทั้งปี แต่ถ้าการบริจาคอยู่ในรูปแบบของสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงิน จะสามารถทำได้ในช่วงที่พรรคการเมืองนั้นๆ จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรคเท่านั้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดขอบเขตของทรัพย์สินที่บริจาคแล้วสามารถไปลดหย่อนภาษีได้ ดังนี้

1. อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

ในกรณีที่คุณบริจาคอสังหาริมทรัพย์ให้แก่พรรคการเมือง สามารถนำการบริจาคนี้ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ โดยจะเป็นการยึดตามราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน และยึดตามราคา ณ วันที่ทำการโอนอสังหาริมทรัพย์

เรื่องต้องระวัง คือ การบริจาคอสังหาริมทรัพย์ให้แก่พรรคการเมืองนั้น สามารถทำได้ในช่วงที่พรรคการเมืองมีกิจกรรมระดมทุนเข้าพรรคเท่านั้น

2. รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย

หากคุณอยากบริจาครถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองก็สามารถทำได้ และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน ซึ่งราคาหรือมูลค่าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่บริจาคนั้น จะเป็นการประเมินราคารถสำหรับปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร

ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายรถที่บริจาคนั้น จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ซึ่งจะคำนวณมูลค่าตามราคาเฉลี่ยระหว่างราคาประเมินสูงสุดและราคาประเมินต่ำสุดของราคาประเมินรถ ณ ขณะนั้น แต่หากไม่มีมูลค่าตามราคาประเมิน สรรพากรกำหนดให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้นๆ

เรื่องต้องระวัง คือ การบริจาครถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองสามารถทำได้ในช่วงที่พรรคการเมืองมีกิจกรรมระดมทุนเข้าพรรคเท่านั้น

3. เรือหรือเครื่องบิน

ในกรณีที่บริจาคเรือหรือเครื่องบินแก่พรรคการเมืองนั้นๆ การคำนวณมูลค่าจะเป็นไปตามราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคล หรือ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้นๆ

เรื่องต้องระวัง คือ การบริจาคเรือหรือเครื่องบินเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองสามารถทำได้ในช่วงที่พรรคการเมืองมีกิจกรรมระดมทุนเข้าพรรคเท่านั้น

4. สินค้า

สินค้าที่นำมาบริจาคให้แก่พรรคการเมืองนั้น จะเป็นสินค้าที่ผลิตเอง หรือซื้อมาเพื่อขายก็สามารถนำมาบริจาคและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด โดยมูลค่าของสินค้านั้นจะถูกคำนวณจากต้นทุนของสินค้า (จะต้องมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นมูลค่าของสินค้าที่ผู้มีเงินได้นำมาลดหย่อน) ทั้งนี้ทั้งนั้น มูลค่าสินค้าจะต้องไม่เกินกว่าราคาที่ค่าสินค้า ณ วันที่คุณทำการบริจาคหรือส่งมอบให้พรรคการเมือง

เรื่องต้องระวัง คือ การบริจาคสินค้าเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง สามารถทำได้ในช่วงที่พรรคการเมืองมีกิจกรรมระดมทุนเข้าพรรคเท่านั้น

5. ทรัพย์สินอื่นๆ

หากคุณต้องการบริจาคทรัพย์สินอื่นๆ นอกจากที่ระบุไว้ข้างต้นก็สามารถทำได้เช่นกัน และการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินนั้นๆ จะเป็นไปตามมูลค่าที่ปรากฏในหลักฐานการได้มาของทรัพย์สินนั้นๆ ซึ่งคุณสามารถใช้มูลค่าดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้เลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มูลค่าทรัพย์สินนั้นๆ จะต้องไม่มีราคาเกินราคา ณ วันที่คุณได้ทำการบริจาคทรัพย์สินนั้นๆ ให้แก่พรรคการเมือง

เรื่องต้องระวัง คือ การบริจาคทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อลดหย่อนภาษีและสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น สามารถทำได้ในช่วงที่พรรคการเมืองมีกิจกรรมระดมทุนเข้าพรรคเท่านั้น

6. การให้บริการเช่า หรือ ใช้พื้นที่อาคารหรือสถานที่

ในกรณีที่คุณให้พรรคการเมืองเช่าหรือใช้พื้นที่อาคารหรือสถานที่เพื่อทำกิจกรรมของพรรคนั้น ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยยึดตามราคาการใช้อาคารหรือสถานที่ ณ วันที่พรรคการเมืองได้ใช้บริการเป็นหลักและมีข้อแม้ว่า การให้พรรคการเมืองเช่าพื้นที่อาคารหรือสถานที่ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องเป็นไปการให้บริการที่เป็นประโยชน์โดยตรงกับกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองเท่านั้น

เรื่องต้องระวัง คือ การให้บริการเช่าหรือใช้พื้นที่อาคารหรือสถานที่แก่พรรคการเมือง เพื่อลดหย่อนภาษีและสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น สามารถทำได้ในช่วงที่พรรคการเมืองมีกิจกรรมระดมทุนเข้าพรรคเท่านั้น

7. การให้บริการใช้ยานพาหนะ

หากคุณให้พรรคการเมืองใช้ยานพาหนะในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมที่ระดมทุนของพรรคการเมือง สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยมูลค่าของการให้บริการยานพาหนะนั้นๆ จะเป็นไปตาม ราคา ณ วันที่พรรคการเมืองใช้บริการ

เรื่องต้องระวัง คือ การให้บริการใช้ยานพาหนะแก่พรรคการเมือง เพื่อลดหย่อนภาษีและสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น สามารถทำได้ในช่วงที่พรรคการเมืองมีกิจกรรมระดมทุนเข้าพรรคเท่านั้น

เงื่อนไขการรับสิทธิลดหย่อนภาษี เมื่อบริจาคให้พรรคการเมือง

ย้ำอีกครั้งว่า การบริจาคให้พรรคการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเงิน สิ่งของ (สินค้า, รถยนต์, รถจักรยานต์, อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ) รวมถึงการให้บริการสถานที่และยานพาหนะ

สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และบุคคลที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้นั้น จะต้องมีสัญชาติไทยด้วย

เอกสารหรือหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการลดหย่อนภาษี

เอกสารที่ผู้เสียภาษีจะต้องได้รับจากพรรคการเมืองเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ

เอกสารบริจาคพรรคการเมือง

1. กรณีบริจาคเป็นเงิน

หากปีที่ผ่านมาคุณบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง คุณจะต้องใช้ใบเสร็จรับเงิน หรือ แบบ พ.ก. 11 ที่ออกโดยพรรคการเมือง เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย

เอกสารบริจาคพรรคการเมือง

2. กรณีบริจาคสิ่งที่ไม่ใช่เงิน ในช่วงพรรคการเมืองจัดระดมทุน

หากในปีที่ผ่านมาคุณบริจาคสิ่งของ รวมถึงให้พรรคการเมืองเช่าอาคารหรือสถานที่ในการจัดกิจกรรมระดมทุนพรรค คุณจะต้องใช้ใบเสร็จรับเงิน หรือ แบบ พ.ก. 9 ที่พรรคการเมืองออกให้เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณบริจาค เช่น

  • บริจาคอสังหาริมทรัพย์ จะต้องมีหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน เช่น สัญญาโอนทรัพย์สิน, โฉนดที่ดิน, เอกสารสิทธิ เป็นต้น
  • บริจาครถยนต์, รถจักรยานยนต์, เรือ หรือเครื่องบิน ต้องมีหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน เช่น หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ, หลักฐานการจดทะเบียนเรือ หรือ อากาศยาน เป็นต้น
  • บริจาคสินค้า ต้องมีหลักฐานที่แสดงมูลค่าต้นทุนของสินค้าที่สามารถพิสูจน์ได้
  • บริจาคทรัพย์สินอื่นๆ ต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงการได้มาของทรัพย์สินนั้นๆ พร้อมทั้งระบุวันที่ ราคา และวันเดือนปี ที่ได้รับทรัพย์สินนั้น
  • สนับสนุนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเงินหรือทรัพย์สิน กรณีนี้คุณจะต้องมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์มูลค่าของการให้บริการนั้นได้ เช่น ใบแจ้งราคาค่าบริการตามปกติ, หลักฐานที่สามารถพิสูจน์ค่าบริการในช่วงเวลาที่สนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมือง เป็นต้น

การบริจาคเพื่อพรรคการเมือง กับเรื่องต้องระวัง

แม้ว่าการบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมืองจะสามารถทำในรูปแบบอื่นๆ นอกจากบริจาคเงินได้ แต่กฎหมายก็มีข้อจำกัดไว้เช่นกัน ซึ่งกำหนดไว้ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่ว่าจะเป็น

มาตรา 66

  • บุคคลทั่วไป ห้ามบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมือง มากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี
  • นิติบุคคล ห้ามบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมือง มากกว่า 5 ล้านบาทต่อปี และต้องทำการแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมครั้งต่อไปหลังทำการบริจาคด้วย

มาตรา 76

  • หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะไม่สามารถทำการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ สนับสนุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือเงิน ให้พรรคการเมืองได้

ทั้งหมดนี้ เราต้องการจะบอกว่า หากคุณทำการบริจาคเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองอย่างถูกต้อง และมีหลักฐานครบตามที่กรมสรรพากรกำหนด นอกจากคุณจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างสบายใจแล้ว คุณจะยังสามารถมั่นใจได้ด้วยว่า พรรคการเมืองที่คุณสนับสนุนจะสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไปได้อย่างไม่สะดุด ไม่มีเรื่องให้งานเข้าอย่างแน่นอน

อ้างอิง 

  • www.ect.go.th
  • บุคคลธรรมดาบริจาคพรรคการเมือง : www.rd.go.th
  • นิติบุคคลบริจาคพรรคการเมือง : www.rd.go.th
app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)