หากคุณทำการเช็กลิสต์ในบทความ ทำธุรกิจแบบนี้ เสี่ยงต่อการโดนสรรพากรตรวจสอบนะ รู้ยัง? และพบว่า ธุรกิจของคุณเข้าข่ายที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากร ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไป เพราะทุกอย่างมีทางแก้ไข และ iTAX อยากบอกให้คุณเริ่มต้นที่
รีบแก้ไขและทำทุกอย่างให้ถูกต้อง
ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการ แก้ไขทุกอย่างให้ถูกต้องอีกแล้ว และกรมสรรพากรให้คำแนะนำว่า หากพบว่ากิจการของคุณจะถูกนับเป็นหนึ่งในกลุ่มกิจการเสี่ยง สรรพากรแนะนำให้หยุดการยื่นแบบภาษี หรือการยื่นงบปี 2561 ไว้ก่อน แต่แม้จะได้รับคำแนะนำแบบนี้ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะไม่ว่าอย่างไร คุณจะต้องทำการแก้ไขให้เสร็จภายในเดือน พ.ค. 2562 (เพิ่มเติมที่ : สรรพากรใจดี เปิดทาง SMEs เข้าระบบ เว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม)
กรมสรรพากรยังบอกต่ออีกว่า ผลเสียของการไม่ปรับปรุงงบการเงิน และแบบแสดงรายการภาษี จะทำให้ธุรกิจของคุณสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น เพราะธนาคารมองว่าธุรกิจของคุณไม่มั่นคงพอ และ มีความเสี่ยงสูง
เริ่มต้นแบบไหน หากธุรกิจเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
สำหรับผู้ประกอบการที่ตรวจเช็กเรียบร้อยและพบว่า ธุรกิจของคุณจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และอาจจะถูกสรรพากรตรวจสอบบัญชีและภาษีย้อนหลังนั้น คุณจะต้องทำการแก้ไขดังต่อไปนี้
1. ปรับปรุงงบการเงิน และแบบแสดงรายการภาษี
- ย้อนกลับไปดูรายได้ตั้งแต่ปี 2559 – 2560
- ทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ
- ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (ระยะเวลาการลงทะเบียนตั้งแต่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562)
** การปรับงบของปี 2559 – 2560 จะช่วยส่งผลให้ งบการเงินของปี 2561 มีความถูกต้อง มั่นคง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น
ธุรกิจที่มีคุณสมบัติอย่างไร จึงจะได้รับสิทธิ
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการนั้น จะต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้
- ต้องเป็นนิติบุคคลที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ
- รายได้ทางภาษีไม่เกิน 500 ล้านบาท (รอบครบ 12 เดือนที่สิ้นสุดก่อน หรือภายในวันที่ 30 กันยายน 2561)
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562
- ไม่เป็นผู้ออก หรือ ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ที่ถูกกรมสรรพากรแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว
- ลงทะเบียนผ่านกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562
สิทธิประโยชน์ ที่ธุรกิจจะได้รับ เมื่อปรับปรุงงบการเงิน และภาษีเรียบร้อยแล้ว
หลักๆ คือ การยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม เมื่อลงทะเบียน ยื่นแบบและชำระภาษี ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 **ย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่การนิรโทษกรรมทางภาษี เพราะคุณยังจะต้องจ่ายภาษีอยู่เหมือนเดิม แต่เป็นเพียงการยกเว้นค่าใช้จ่ายในส่วนของเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญาเท่านั้น
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล รอบบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2560
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ เดือนภาษีตั้งแต่ มกราคม 29 – กุมภาพันธ์ 2562
- อากรแสตมป์ ตราสารที่ทำตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 – 25 มีนาคม 2562
- ภาษีที่มีหน้าที่หักหรือนำส่ง ธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 – 25 มีนาคม 2562
** สามารถยื่นแบบทุกประเภท ผ่านระบบ e-Filing ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563
และหากธุรกิจของคุณทำการยื่นแบบภาษีไม่ทันภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 คุณจะไม่ได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับตามมาตรการนี้อีก และอาจจะต้องเตรียมตัวรับมือกับเบี้ยปรับ 1 – 2 เท่า และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน (18% ต่อปี) ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย **เบี้ยปรับ 1 เท่าที่สรรพากรหมายถึงคือ ปรับ 100%
ซึ่งแน่นอนว่า เป็นอัตราเบี้ยปรับที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการใช้บริการ บสย หรือ บริการจากธนาคารต่างๆ ซึ่งทางกรมสรรพากรแจ้งว่า หากเจ้าของธุรกิจเข้าร่วมมาตรการนี้ ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่ง จะมีมาตรการสนับสนุน และคุณสามารถนำยอดภาษีติดต่อธนาคารที่รับผิดชอบดูแลธุรกิจของคุณ (จะติดต่อเอง หรือติดต่อผ่าน บสย. ก็ได้ทั้งนั้น) จากนั้น ท่านจะสามารถนำเงินที่ได้รับการอนุมัติมาจ่ายชำระภาษีให้เสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ได้
หลังจากที่ท่านดำเนินการจ่ายภาษีทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว และเริ่มเข้าสู่ มาตรการบัญชีชุดเดียว ไม่ว่าท่านจะต้องการยื่นภาษีอะไรก็ตามแต่ สรรพากรขอความร่วมมือให้ท่านทำการยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ (e-Filing) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563
ภาษีแบบไหน สามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์ (e-Filing) ได้?
สรรพากรแจ้งว่า ในปัจจุบัน ระบบยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร (e-Filing) สามารถรองรับการยื่นแบบทุกประเภทภาษีได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
- ภาษีบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 / ภ.ง.ด. 91 / ภ.ง.ด. 94
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 / ภ.ง.ด. 51 / ภ.ง.ด. 52 / ภ.ง.ด. 54 / ภ.ง.ด. 55
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม( VAT) ภ.พ. 30 / ภ.พ. 36
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ. 40
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 / ภ.ง.ด. 2 / ภ.ง.ด. 3 / ภ.ง.ด. 53
**ยกเว้น ภ.ง.ด. 1 ก / ภ.ง.ด. 2ก / ภ.ง.ด. 3ก และ ภ.ธ 40 กรณีที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอนาคตจะมีการรองรับการชำระอากรเป็นตัวเงิน และรองรับการยื่นแบบเกินกำหนดเวลา
หลากหลายช่องทางการชำระภาษี
- E-payment
- Internet banking
- ATM
- Counter Service
- สำนักงานพื้นที่สาขาของกรมสรรพากร
** ในอนาคตอาจจะรองรับการชำระภาษีด้วย พร้อมเพย์ (PromptPay)
ช่องทางการลงทะเบียน ยื่นภาษีออนไลน์ (e-Filing)
ในปัจจุบันเจ้าของกิจการสามารถเลือกลงทะเบียนใช้งาน e-Filing ได้ 2 ช่องทาง คือ
- เว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th)
- ลงทะเบียนผ่าน Tax SSO ของกระทรวงการคลัง (https://etax.mof.go.th)
หลังจากสมัครใช้งานเรียบร้อย สามารถใช้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน ล็อคอินเพื่อเข้าใช้งานได้เลย ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านจะต้องชำระค่าภาษีให้ครบถ้วน จึงจะถือว่าการยื่นแบบภาษีนั้นสมบูรณ์แล้ว
สิทธิพิเศษ ของสมาชิก e-Filing
- ได้รับการขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษี ออกไปอีก 8 วัน นับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลาในทุกแบบภาษีที่ท่านยื่น
- สิทธิที่จะได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น
ระบบยื่นภาษีออนไลน์ (e-Filing) กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
1. ทางเลือกในการใช้บริการ
ต่อจากนี้ไปท่านจะมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น หากท่านยื่นแบบด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ท่านจะได้ใช้ระบบงานที่ปรับปรุงใหม่ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ครอบคลุมทุกการยื่นแบบภาษี ไม่ว่าจะเป็น การยื่นแบบภาษีปกติ การยื่นแบบภาษีเพิ่มเติม และยื่นเกินกำหนดเวลา นอกจากนี้ ท่านยังสามารถใช้งานโปรแกรม window application เพื่อยื่นแบบภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย
2. สำนักงานบัญชีตัวแทนก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้
สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้จัดทำบัญชีเองก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะในอนาคต สำนักงานบัญชีตัวแทน (Tax Agent) จะสามารถยื่นแบบภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ให้ท่านได้เช่นกัน
3. สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ซอฟแวร์บัญชีออนไลน์ ในการบริหารจัดการภาษี
ในอนาคตท่านจะสามารถจัดเตรียมข้อมูลแบบแสดงรายการ หรือยื่นแบบ ผ่านซอฟแวร์ที่ท่านใช้บริการส่งข้อมูลมายังกรมสรรพากรผ่านระบบ RD Open API ได้เลย
กรมสรรพากรเอื้อประโยชน์และพยายามทำให้การเสียภาษีธุรกิจเป็นเรื่องง่ายขนาดนี้ เพราะต้องการให้ผู้เสียภาษีทุกท่านรู้สึกว่า ภาษีไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องหลบเลี่ยงอีกต่อไป แน่นอนว่า หากคุณไม่อยากให้ธุรกิจต้องถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสียงที่จะต้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง การทำทุกอย่างให้ถูกต้องครบถ้วนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
และหากคุณกำลังมองหาผู้ช่วยมืออาชีพที่จะช่วยให้คุณปวดหัวกับการจัดทำบัญชีและภาษีธุรกิจน้อยลง iTAX sme คือสิ่งที่คุณกำลังมองหา เพราะเรามีทีมงานมืออาชีพสามารถช่วยวางแผนภาษีและจัดทำบัญชีที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณได้
ติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787 แล้วคุณจะรู้ว่า ภาษีธุรกิจง่ายนิดเดียว!