ศาลฎีกา ออกหมายจำคุก อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร 3 คดี รวมโทษ 8 ปี ส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที หลังเดินทางมาถึงประเทศไทยช่วงเช้า
- ถ่ายทอดสด โหวตนายกฯ รอบ 3 เริ่ม 22 ส.ค. 66 เวลา 10.00 น.
- เบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ปรับเกณฑ์ใหม่ มีผลแล้ว เริ่ม 12 ส.ค. 2566
22 สิงหาคม 2566 – เวลา 10.40 น. พันตำรวจเอก คมวุฒิ จองบุญวัฒนา ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้นำบุคคลตามหมายจับมาส่งต่อศาลผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามคดียืนยันว่า นายทักษิณ ชินวัตร บุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาลเป็นจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้ง 3 คดี
จำเลยหรือจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นจำเลยในคดีทั้ง 3 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตรวจสอบบุคคลที่ อยู่ต่อหน้าศาลแล้ว เป็นจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้ง 3 คดี ดังนี้
- คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พันตำรวจ โททักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย
- คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พันตำรวจโท ทักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน จำเลย
- คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ พันตำรวจโท ทักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย
จึงรับตัวจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสามคดีดังกล่าวไว้
“ศาลฎีกา” ออกหมายจำคุกทั้ง 3 คดี รวมโทษจำคุก 8 ปี
ศาลได้แจ้งให้จำเลยหรือจำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาแล้ว โดยคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4 /2551 ลงโทษจำคุก 3 ปี (สามปี) คดีหมายเลขดำที่ อายเลขแดงที่ อม. 1/2551 ลงโทษจำคุก 2 ปี (สองปี) และคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ลงโทษจำคุกรวม 5 ปี (ห้าปี) นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจำคุกของในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552
ศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว
ทักษิณ เข้าเรือนจำ เตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ
ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสิทธิ สุชีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวผลการรับตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายอายุตม์ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากรับตัวนายทักษิณจากศาลฎีกา กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามนโยบาย 3 ประการ 1.ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนายทักษิณ เนื่องจากภายในเรือนจำมีผู้ต้องขังจำนวนมาก 2.การเยี่ยมญาติเนื่องจากเป็นบุคคลสำคัญ อาจมีครอบครัว องค์กรสิทธิฯต่างๆทั้งในและต่างประเทศมาเข้าพบ ซึ่งจะจัดเตรียมสถานที่ให้เหมาะสม 3.เนื่องจากนายทักษิณ เป็นผู้สูงอายุตัองดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยเป็นหลัก เพื่อไม่ให้มีการเจ็บป่วย ระหว่างถูกคุมขัง
ด้านนายสิทธิ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการรับตัวผู้ต้องขังใหม่ พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจสุขภาพ เบื้องต้นพบว่าเป็นกลุ่มเปราะบางอายุเกิน 70 ปี ดูจากประวัติการรักษาพบว่ามีโรคประจำตัวต้องเฝ้าระวังและรักษาอย่างต่อเนื่อง และเบื้องต้นได้แยกขังเดี่ยวอยู่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเฝ้าระวัง 24 ชม. หลังจากกักตัวครบ 10 วันแล้วจะต้องประเมินอาการอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเรือนจำเป็นผู้พิจารณา โดยช่วง 5 วันแรกจะกักขังแบบเข้มข้นเข้าพบได้เพียงทนายความ และญาติ ส่วนช่วง 5 วันหลังองค์กรหรือผู้แทนต่างๆสามารถเข้าเยี่ยมได้
นายสิทธิ กล่าวว่า ทั้งนี้หลังนายทักษิณ ก้าวสู่เรือนจำได้ใส่เสื้อสีขาว กางเกงสีกรมท่าเข้ม เดินไปจุดทำประวัติ พบอาการยังเป็นปกติ ไม่มีสีหน้ากังวลแต่อย่างใด ส่วนการตัดผมเป็นตามระเบียบ แต่ไม่ถึงต้องก้อนผม เพราะนายทักษิณ เป็นผู้สูงอายุ
นพ.วัฒน์ชัย กล่าวว่าจากการตรวจสุขภาพพบประวัติ พบ 4 โรค ได้แก่
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องทานยาบะลายลิ่มเลือด
- โรคปอด ซึ่งพบว่าเคยเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรง จากการเคยเป็นโรคโควิด-19 แม้รักษาหายแล้วแต่เป็นพังผืด
- ความดันโลหิตสูง ต้องรักษาโดยการรับประทานยา
- ภาวะเสื่อมตามอายุ ซึ่งปัจจุบันนายทักษิณมีอายุ 74 ปีมีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม และมีการกดทับเส้นประสาท ทำให้การเดินทรงตัวผิดปกติแต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงเข้าข่ายเป็นกลุ่มเปราะบางจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง
ขณะที่นายนัสที กล่าวว่า กลุ่มเปราะบางจะต้องดูแลตามมาตรการระเบียบกรมราชทัณฑ์ต้องมีแดนเพื่อรักษาความปลอดภัย และทำกิจกรรมอื่นๆก็เช่นเดียวกับผู้ต้องขังคนอื่น ส่วนการพบทนายและการเยี่ยมญาติ เป็นไปตามหลักปฏิบัติของผู้ต้องขัง
นายนัสที กล่าวด้วยว่าสำหรับขั้นตอนการทำเรื่องอภัยโทษผู้ต้องขังสามารถยื่นเรื่องได้ทันทีภายหลังเข้าเรือนจำ โดยนายทักษิณ หรือญาติยื่นเอกสารให้ทางเรือนจำจากนั้นคณะกรรมการพิจารณาส่งเรื่องไปยังกรมราชทัณฑ์และจะพิจารณาก่อนส่งไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีลงนาม และยื่นถึงสำนักองค์มนตรี โดยนายทักษิณ ยื่นขออภัยโทษเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้กระบวนการจะเสร็จสิ้นไม่เกิน 2 เดือน