เรื่องต้องรู้ ก่อนคำนวณภาษี ปี 2562

ทั่วไป

เทศกาลคำนวณภาษีวนกลับมาอีกครั้ง และวันนี้ iTAX จะรวมทุกสิ่งที่ผู้เสียภาษีจำเป็นต้องรู้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการยื่นภาษีประจำปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่อึดใจ ถ้าอยากรู้ว่า ยื่นภาษีปี 2562 ต่างจากปีอื่นอย่างไร? เงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2562 ต่างจากปีที่แล้วอย่างไร? และในการเริ่มต้นคำนวณภาษีแต่ละครั้ง เราในฐานะผู้เสียภาษีต้องรู้อะไรบ้าง? เลื่อนลงมาเลย!>

1. ต้องรู้ว่าตลอดปีที่ผ่านมา มีรายได้เท่าไหร่?

ก่อนจะเริ่มต้นคำนวณภาษี คุณจะต้องรู้ก่อนว่า ตลอดปีที่ผ่านมาคุณมีรายได้เท่าไหร่? รายได้ของคุณอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีหรือไม่? และสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากการทำงานประจำแค่ทางเดียว

กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท (รายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท) ไม่ต้องทำการยื่นภาษี และกำหนดขอบเขตรายได้ที่ต้องทำการยื่นภาษีและเสียภาษีไว้ดังนี้

  • เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท = ไม่ต้องยื่นภาษี
  • เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 = ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • เงินเดือนมากกว่า 26,583.33 = ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
  • กรณีไม่ได้จ่ายประกันสังคม และ เงินเดือนไม่เกิน 25,833.33 = ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • กรณีจ่ายประกันสังคม และมีเงินเดือนเกิน 25,833.33 = ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี

เพิ่มเติมที่ : รู้ยัง เงินเดือนเท่าไหร่ถึงไม่ต้องเสียภาษี?

2. ต้องรู้ว่า การคำนวณภาษี มี 2 วิธี

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะคิดเป็นรายปีปฏิทิน หรือที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันว่า ปีภาษี โดยวิธีคำนวณภาษีมีอยู่ 2 วิธี คือ

1. การคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิแบบขั้นบันได 0 – 35% โดยสามารถคำนวณได้จากสมการ

“เงินได้ – ค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท – ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท = เงินได้สุทธิ”

จากนั้นนำ

“เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย”

ซึ่งการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได จะเพิ่มขึ้นตามเงินได้สุทธิของผู้เสียภาษี ซึ่งอัตราภาษีปัจจุบันคือ

เงินได้สุทธิ (บาท) อัตราภาษี
0 – 150,000 ได้รับการยกเว้นภาษี
> 150,000 – 300,000 5%
> 300,000 – 500,000 10%
> 500,000 – 750,000 15%
> 750,000 – 1,000,000 20%
> 1,000,000 – 2,000,000 25%
> 2,000,000 – 5,000,000 30%
> 5,000,000 35%

ตัวอย่าง

หากคุณมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท จะมีรายได้รวมทั้งปี (12 เดือน) คือ 360,000 บาท

เงินได้ ฿360,000 – ค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000  – ค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 = เงินได้สุทธิ ฿200,000

จากนั้น นำเงินได้สุทธิ ฿200,000 x อัตราภาษี 5% = ภาษีที่ต้องจ่าย ฿2,500

นั่นหมายความว่า ภาษีที่คุณต้องจ่ายจะอยู่ที่ 2,500 บาท เป็นต้น

2. การคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5% โดยปกติแล้วการคำนวณภาษีแบบเหมามักจะใช้ในกรณีที่ คุณมีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากรายได้จากงานประจำหรือเงินเดือน ซึ่งเป็นการคำนวณโดยการนำรายได้ที่นอกเหนือจากเงินเดือนทั้งหมด คูณ 0.5% จึงจะได้ค่าภาษีที่คุณต้องจ่าย

เงินได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน x 0.005 = ภาษีที่ต้องจ่าย

อ่านมาถึงตรงนี้ คนที่มีรายได้หลายทาง หรือ มีรายได้ที่นอกเหนือจากเงินเดือนไม่ต้องตกใจไป เพราะวิธีการคำนวณภาษีแบบเหมานั้น จะถูกนำมาใช้คำนวณภาษีก็ต่อเมื่อ

  • เมื่อคำนวณรายได้ทุกทางยกเว้นเงินเดือน แล้วพบว่า มีรายได้อื่นๆ ที่นอกจากเงินเดือนรวมกันเกิน 1,000,000 บาท หรือ มีค่าภาษีที่ต้องเสียเกิน 5,000 บาท (หากคำนวณแล้วได้ค่าภาษีต่ำกว่า หรือ 5,000 พอดี วิธีคำนวณนี้จะไม่ถูกนำมาใช้)
  • คำนวณภาษีแบบเหมาแล้วพบว่า ค่าภาษีแบบเหมามากกว่าการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได

เพิ่มเติมที่ : อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. รู้ค่าภาษีตามฐานเงินเดือนเบื้องต้น

ได้รับเงินเดือน (บาท) เสียภาษีในอัตรา (%) เสียภาษีไม่เกิน (บาท)
20,000
30,000 5% 2,050
40,000 10% 8,600
50,000 10% 20,600
60,000 10% 35,150
70,000 15% 53,150
80,000 20% 73,200
90,000 20% 97,200
100,000 25% 122,750

หมายเหตุ ค่าภาษีตามฐานเงินเดือนนี้ เป็นการคิดแบบเบื้องต้น โดยมีค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และ เงินประกันสังคม 9,000 บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่า หากคุณมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่ม โอกาสที่คุณจะจ่ายภาษีที่ถูกลงก็เพิ่มตามไปด้วยเช่นกัน

4. รู้ค่าลดหย่อนภาษีประจำปี 2562 มีอะไรบ้าง

ในการคำนวณภาษีทุกครั้ง คุณจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าในปีนั้นๆ มีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรที่เปลี่ยนไป และคุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง เพื่อที่คุณจะได้เลือกใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง และช่วยให้จ่ายภาษีได้ถูกลง รวมถึงช่วยเพิ่มโอกาสในการรับเงินคืนภาษีอีกด้วย

รายการลดหย่อนที่ใช้ได้ อัตราค่าลดหย่อนที่ใช้ได้ (บาท) หมายเหตุ
ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000  
ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 – กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 1 คน
– ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 – 60,000 – ลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท
– บุตรคนที่ 2 หรือบุตรที่เกิดในปี 2561 ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
– ลดหย่อนได้ในกรณีที่เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ค่าลดหย่อนบิดามารดา 30,000 – สำหรับคนที่เลี้ยงดูพ่อแม่เอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท
– ระวังการใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อน ในกรณีที่มีพี่น้อง
ค่าลดหย่อนผู้พิการ หรือ ทุพพลภาพ คนละ 60,000  
ค่าฝากครรภ์และทำคลอด ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000บาท ต้องเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป / เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท – ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
– เป็นประกันที่ทำกับบริษัทประกันในไทยเท่านั้น
เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณลดหย่อนภาษีต่างๆ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท
เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท  
เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะสามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ ไม่เกิน 500,000 บาท ต้องถือไว้ครบ 7 ปีปฏิทิน (ซื้อได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559 – 31 ธ.ค. 2562 )
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) / กบข. / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนสังเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ ไม่เกิน 500,000 บาท  
เงินประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท ลดหย่อนได้ในกรณีที่ทำการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเท่านั้น
โครงการบ้านหลังแรก ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ในปีภาษี 2562 เท่านั้น) – สิทธิพิเศษสำหรับคนที่ซื้อบ้านหลังแรกตั้งแต่ 30 เมษา – 31 ธันวา 2562 เท่านั้น
–  สำหรับคนที่ซื้อบ้านหลังแรก ระหว่าง 13 ต.ค. 2558 – 31 ธ.ค. 2559 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนสูงสุดปีละ 120,000 เป็นระยะเวลา 5 ปี
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท – สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนแห่งชาติเท่านั้น
– เมื่อรวมกับ กองทุน RMF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสังเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เบี้ยประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท – ในกรณีที่เป็นการซื้อที่อยู่อาศัยแบบกู้ร่วม สิทธิลดหย่อนภาษีจะเฉลี่ยตามจำนวนคนที่ร่วมกู้
เงินลงทุนธุรกิจ Startup ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ลงหุ้น หรือ ลงทุนในธุรกิจ Startup ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 – 31 ธ.ค. 2562
ค่าธรรมเนียมจากการรับบริการชำระบัตรเดบิต ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง ระหว่าง 1 พ.ย. 59 – 31 ธ.ค. 64 เฉพาะการรับชำระเงินค่าเช่า, ค่าวิชาชีพอิสระ, ค่ารับเหมา (ทั้งค่าแรงและค่าของ), เงินได้จากการประกอบธุรกิจอื่นๆ
เงินบริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท  
ค่าซ่อมบ้านน้ำท่วม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ต้องเป็นค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซมบ้าน ที่จ่ายภายในวันที่ 3 ม.ค. – 31 ม.ค. 2562
ค่าซ่อมรถน้ำท่วม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ต้องเป็นค่าใช้จ่ายจากการซ่อมรถจากน้ำท่วม ที่จ่ายภายในวันที่ 3 ม.ค. – 31 ม.ค. 2562
ช้อปช่วยชาติ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับสินค้าที่ซื้อระหว่าง 1 – 16 ม.ค. 2562
ค่าลดหย่อนท่องเที่ยว 2562 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 – 20,000 บาท สำหรับสินค้าที่ซื้อระหว่าง 30 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2562
ค่าลดหย่อนสินค้าท่องเที่ยวและกีฬา 2562 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับสินค้าที่ซื้อระหว่าง 1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2562
ค่าลดหย่อน OTOP 2562 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับสินค้าที่ซื้อระหว่าง 30 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2562
ค่าลดหย่อนหนังสือ และ e-book 2562 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ต้องเป็นการซื้อหนังสือ และ e-book ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2562
เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน  
เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน  

5. รู้ว่าต้องใช้เอกสารอะไรในการยื่นภาษี

ในการยื่นภาษี คุณจำเป็นที่จะต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ไว้ให้เรียบร้อย และเอกสารต่างๆ จะช่วยให้คุณยื่นภาษีได้เร็ว ลดโอกาสที่จะทำให้คุณยื่นภาษีผิดพลาด และที่สำคัญไปกว่านั้น เอกสารยังมีส่วนช่วยให้คุณได้รับเงินคืนภาษีไวขึ้นอีกด้วย และเอกสารที่คุณต้องเตรียมสำหรับการยื่นภาษี ประกอบไปด้วย

5.1 หนังสือรับรองรายได้ หรือ หนังสือหัก ณ ที่จ่าย (ทวิ 50)

หนังสือหัก ณ ที่จ่าย หรือ ใบ 50 ทวิ คือ เอกสารที่ระบุรายได้ที่คุณได้รับจากผู้ว่าจ้าง และภาษีที่ถูกหักไว้ รวมถึงเงินสมทบประกันสังคม, เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่คุณจ่ายไปตลอดทั้งปีด้วย นั่นหมายความว่า คุณจะต้องถามหาเอกสารฉบับนี้จากผู้ว่าจ้างไว้ให้เรียบร้อย iTAX ขอแอบกระซิบว่า

  • หากคุณมีรายได้จากการทำงานประจำ ผู้ว่าจ้างจะต้องออกใบ 50 ทวิ ให้ภายในวันที่ 15 ก.พ. ของปีถัดไป
  • แต่หากคุณออกจากงานระหว่างปี ผู้ว่าจ้างจะต้องออกใบ 50 ทวิ ให้ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่คุณสิ้นสุดการทำงานในบริษัทนั้น

หมายเหตุ

  • กรณีที่คุณมีรายได้เงินปันผลกองทุน, ดอกเบี้ยเงินฝากคงที่, ดอกเบี้ยหุ้นกู้/ธนบัตร, อย่าลืมขอเอกสารรับรองรายได้จากธนาคารหรือนายทะเบียนด้วย
  • กรณีที่คุณต้องการขอเครดิตภาษีเงินปันผล ต้องไม่ลืมขอหนังสือรับรองรายได้และภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ที่ระบุรายได้เงินปันผล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และอัตราภาษีนิติบุคคลที่จ่ายเงินปันผล จากศูนย์ฝากหลักทรัพย์ (TSD) ด้วย

5.2 เอกสารรับรองการจ่ายค่าเบี้ยประกัน

ในกรณีที่คุณมีการ ซื้อประกันชีวิตลดหย่อนภาษี หรือ ซื้อประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี อย่าลืมเก็บเอกสารรับรองการจ่ายค่าเบี้ยประกันจากบริษัทประกันไว้เป็นหลักฐานด้วย เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความยุ่งยากจากกรณีที่สรรพากรเรียกหาเอกสารภายหลัง

5.3 เอกสารรับรองค่าลดหย่อน

ไม่ว่าจะเป็น เอกสารรับรองดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย, หนังสือรับรองการ ซื้อกองทุน LTF/RMF เป็นต้น และในกรณีที่คุณต้องการใช้

  • ค่าลดหย่อนบิดามารดา หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนพ่อแม่ เราแนะนำให้คุณตกลงกับพี่น้องให้เรียบร้อยว่า ใครจะเป็นคนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีพ่อแม่ เพราะย้ำกันอีกครั้งว่า สิทธิลดหย่อนภาษีพ่อแม่ ยื่นขอใช้สิทธิซ้ำซ้อนกันไม่ได้ จากนั้นให้เตรียมหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ลย.03  ให้พ่อแม่เซ็นชื่อกำกับ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วย (ดาวน์โหลด ลย. 03 ได้ที่ www.rd.go.th)
  • ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ หากคุณอุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ สามารถใช้บัตรประจำตัวผู้พิการ ใบรับรองแพทย์ และเอกสารรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้ทุพพลภาพ (ล.ย. 04) เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ (ดาวน์โหลดเอกสาร ลย. 04 ได้ที่ www.rd.go.th)

5.4 เอกสารรับรองการจ่ายเบี้ยประกันสังคม (กรณีฟรีแลนซ์)

ในกรณีที่คุณไม่ได้ทำงานประจำ แต่รับงานเป็นฟรีแลนซ์ และทำการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไว้ คุณสามารถนำเงินสมทบที่จ่ายไปมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนมนุษย์เงินเดือนคนอื่นๆ แต่เราแนะนำให้คุณทำการรวบรวมใบเสร็จรับเงินที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคมไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการยื่นภาษีด้วย

เพิ่มเติมที่ : ฟรีแลนซ์ ยื่นภาษียังไง?

5.5 ใบเสร็จหรือใบกำกับภาษี

ปี 2562 มีค่าลดหย่อนที่เพิ่มมาจากเดิมมากมาย อาทิ ค่าลดหย่อนช้อปช่วยชาติ, ค่าลดหย่อนท่องเที่ยว 2562, ค่าลดหย่อนจากการซื้อสินค้าและอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น หากคุณทำการซื้อสินค้าที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ อย่าลืมขอใบเสร็จหรือใบกำกับภาษี หรือ เอกสารที่กรมสรรพากรกำหนดจากร้านค้าและผู้ให้บริการ เพื่อเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย

6. เรื่องที่หลายคนเข้าใจผิด

ผู้เสียภาษีหลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า ไม่ว่าจะมีรายได้ทั้งปีเท่าไหร่ ก็สามารถนำรายได้ทั้งปีมาคูณอัตราภาษีได้ทันที ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดถนัด สิ่งที่ถูกคือ

คุณต้องนำเงินได้พึงประเมิณ (รายได้) มาลบ ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน จึงจะได้ เงินได้สุทธิ หรือ ฐานภาษีที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ การนำรายได้ทั้งปีมาคูณอัตราภาษี โดยที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนส่วนตัว จะทำให้คุณเสียภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้คุณเสียเปรียบและเสียโอกาสทางภาษี เนื่องจากคุณยังไม่มีโอกาสใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนส่วนตัว รวมถึง สิทธิลดหย่อนภาษีต่างๆ ตามกฎหมาย ที่จะช่วยให้คุณประหยัดภาษีได้นั่นเอง

ส่วนผู้เสียภาษีคนไหนที่อ่านบทความนี้จบและรู้สึกว่า ภาษีเป็นเรื่องยุ่งยาก และยังคงไม่เข้าใจว่าจะเริ่มต้นคำนวณภาษีอย่างไร คุณสามารถใช้บริการคำนวณภาษีที่แอปฯ iTAX ได้ฟรี (ทั้ง iOS และ Android) แล้วคุณจะรู้ว่า การคำนวณภาษีอย่างถูกต้องไม่ยากอย่างที่คิด

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)