เชื่อมั้ย? คนไทยเสียภาษีแพงกว่าคนอเมริกัน

ทั่วไป

เราอาจจะพอเดาได้ว่าประเทศไทยค่าครองชีพถูกกว่าอเมริกาแทบทุกด้าน ทั้งค่าอาหาร ค่าเช่า ค่าเดินทาง (ยกเว้นรถยนต์และสินค้าแบรนเนมที่แพงกว่าอย่างน่าใจหาย)

ที่อเมริกาค่าครองชีพสูงกว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะจากการสำรวจในปี 2016 พบว่าคนอเมริกันมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 1,861,980.87 บาท แต่เมื่อภาพตัดมาที่คนไทย เรามีรายได้เฉลี่ยต่อปี 184,724.22 บาท แปลเป็นไทย คือ คนไทยรายได้น้อยกว่าคนอเมริกัน 10 เท่า

แล้วเรื่องภาษีล่ะ? คนไทยรายได้น้อยกว่าขนาดนี้น่าจะเสียภาษีถูกกว่าที่อเมริกาแน่ๆ เราอาจจะเคยได้ยินว่าประเทศสหรัฐเก็บ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Federal Income Tax) ในอัตราสูงสุด 37% ในขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีสูงสุดในอัตรา 35% ฟังดูเผินๆ เหมือนประเทศไทยเก็บภาษีต่ำกว่า แต่เมื่อคำนวณภาษีแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะอะไร? เดี๋ยวเรามาวิเคราะห์กัน

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้นำภาษีประกันสังคมมารวมคำนวณด้วย เนื่องจาก Social Security Tax จะให้ผลประโยชน์คืนกลับมาเมื่อเกษียณ รวมถึง ภาษีที่ดิน ภาษีการขาย และ ภาษีท้องถิ่นอื่นๆ ก็ไม่ได้นำมารวมคำนวณด้วยเช่นกันเนื่องจากบางมลรัฐไม่จัดเก็บภาษีเหล่านั้น

เปรียบเทียบผู้เสียภาษีไทยกับอเมริกัน

ประชากรอเมริกัน 325.7 ล้านคน มีคนยื่นภาษี 141,204,625 คน (คนอเมริกันยื่นภาษี 43.35%) และเก็บภาษีเงินได้จากคนอเมริกันได้ 47.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยคนอเมริกันที่ยื่นภาษีจะเสียภาษีกันคนละ 337,099.44 บาท

ส่วนบ้านเรานั้น ประชากรไทย 68.86 ล้านคน มีคนยื่นภาษี 11 ล้านคน (คนไทยยื่นภาษี 16.18%) บ้านเราเก็บภาษีเงินได้จากคนไทยได้ 0.3 ล้านล้านบาท เฉลี่ยคนไทยที่ยื่นภาษีจะเสียภาษีกันคนละ 29,002.82 บาท

อเมริกา ไทย
ประชากร 325.7 ล้านคน 68.86 ล้านคน
ผู้เสียภาษี 141 ล้านคน 11 ล้านคน
เงินภาษีที่เก็บได้ 47.6 ล้านล้านบาท 0.3 ล้านล้านบาท
เฉลี่ยค่าภาษีที่เก็บได้ต่อคน 337,099.44 บาท 29,002.82 บาท

โดยปกติแล้ว ประชากรผู้เสียภาษีส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ประเทศ และไม่ใช่คนที่ยื่นภาษีทุกคนจะต้องเสียภาษีให้รัฐ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ

ประเทศอเมริกามีจำนวนประชากรประมาณ 4 เท่าของไทย แต่จำนวนผู้เสียภาษีของเขากลับมีมากกว่าเราถึง 14 เท่า แถมสัดส่วนผู้เสียภาษีก็มากกว่าเราเกือบ 3 เท่าด้วย นั่นหมายความว่า

ต่อให้คน 2 ประเทศนี้มีจำนวนเท่ากัน ประชากรเกือบครึ่งของเขาจะยื่นภาษี แต่บ้านเราทุกๆ 6 คนยังมีคนยื่นภาษีไม่ถึง 1 คนด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ค่าภาษีที่เก็บได้จากบุคคลธรรมดาของ 2 ประเทศนี้ก็ต่างกันถึง 150 เท่า และโดยเฉลี่ยคนอเมริกันคนเดียวจะเสียภาษีเหมือนคนไทยช่วยจ่ายภาษีกัน 11 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนอเมริกันมีรายได้สูงกว่าคนไทย 10 เท่าด้วย แล้วปัจจัยอื่นล่ะ เป็นเพราะอเมริกาเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าของไทยด้วยใช่มั้ย? เรามาลองคำนวณภาษีกันดู


เปรียบเทียบอัตราภาษีไทยกับอเมริกา

  • อัตราภาษีไทย

เงินได้สุทธิ อัตราภาษี
฿0 – ฿150,000 ยกเว้น (ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551)
> ฿150,000 – ฿300,000 5%
> ฿300,000 – ฿500,000 10%
> ฿500,000 – ฿750,000 15%
> ฿750,000 – ฿1,000,000 20%
> ฿1,000,000 – ฿2,000,000 25%
> ฿2,000,000 – ฿5,000,000 30%
> ฿5,000,000 35%
  • อัตราภาษีอเมริกา (แปลงค่าเงินดอลล่าร์เป็นบาทแล้ว)

เงินได้สุทธิ อัตราภาษี
฿0 – ฿311,753 10%
> ฿311,753 – ฿1,266,651 12%
> ฿1,266,651 – ฿2,700,226 22%
> ฿2,700,226 – ฿5,154,977 24%
> ฿5,154,977 – ฿6,546,002 32%
> ฿6,546,002 – ฿16,365,005 35%
> ฿16,365,005 37%

จากตารางอัตราภาษีของทั้งสองประเทศนี้จะสังเกตเห็นได้ว่า หากคนไทยมีเงินได้สุทธิหลักล้านจะเสียภาษีในอัตรา 20% ขึ้นไปทันที ในขณะที่คนอเมริกันเมื่อมีรายได้หลักล้านจะเริ่มเสียภาษีในอัตรา 12% เท่านั้น

และหากคนไทยมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 5 ล้านจะเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 30% ในขณะที่คนอเมริกันที่มีรายได้เท่ากันจะเริ่มเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 24% เท่านั้น ซึ่งส่วนต่างของอัตราภาษีลักษณะนี้ทำให้เมื่อคำนวณภาษีจริงๆ ค่าภาษีจึงแตกต่างจากที่คนทั่วไปเข้าใจพอสมควร

เปรียบเทียบภาษีเงินได้คนไทยกับอเมริกัน

ถ้าคนอเมริกันกับคนไทยทำงานประจำเหมือนกัน มีรายได้เท่ากัน และไม่มี ค่าลดหย่อนพิเศษ ใดๆ เลยนอกจากสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เมื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ใครเสียภาษีแพงกว่า เราได้ผลลัพธ์คร่าวๆ ดังนี้ (แปลงค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นบาทแล้ว)

รายได้ทั้งปี ค่าภาษีที่อเมริกา ค่าภาษีที่ไทย
310,000 บาท -฿14,640 (ได้เงินคืนภาษี) ฿0
439,800.87 บาท ฿0 ฿6,490
500,000 บาท ฿10,743 ฿11,500
1,000,000 บาท ฿66,586 ฿83,000
2,000,000 บาท ฿220,815 ฿325,000
5,000,000 บาท ฿918,868 ฿1,217,000
10,000,000 บาท ฿2,566,879 ฿2,959,000
20,000,000 บาท ฿6,131,762 ฿6,459,000
30,000,000 บาท ฿9,831,746 ฿9,959,000
36,360,000 บาท ฿12,185,000 ฿12,185,000
40,000,000 บาท ฿13,531,762 ฿13,459,000

จากตารางนี้พอสรุปให้เห็นได้ว่า

หากคนอเมริกันกับคนไทยมีรายได้เท่ากัน คนอเมริกันที่เป็นชนชั้นกลางลงไปจะเสียภาษีถูกกว่าคนไทยที่เป็นคนชั้นกลางเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในอเมริกาจะได้เงินคืนภาษีจากรัฐบาลสหรัฐเลย ในขณะที่คนไทยจะเพียงอยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

และเมื่อรายได้เริ่มถึงเกณฑ์เกณฑ์ต้องเสียภาษี คนไทยจะเสียภาษีแพงกว่าต่อไปในทุกช่วงรายได้จนกระทั่งรายได้ขึ้นหลักสิบล้านก็ยังเสียภาษีแพงกว่าอยู่ดี

แต่เมื่อรายได้ต่อปีอยู่ที่ 36 ล้านบาท (หรือเงินเดือนประมาณ 3 ล้านบาท) ทั้งคนไทยและคนอเมริกันจะเสียภาษีเท่ากัน จนเมื่อเลยจุดนี้ไปแล้วคนอเมริกันจึงจะเริ่มเสียภาษีแพงกว่าคนไทย

สรุป แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง?

ปัจจุบันคนไทยอยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสัดส่วนที่น้อย จึงทำให้คนที่อยู่ในระบบต้องแบกรับภาระภาษีส่วนนี้แทนคนไทยที่อยู่นอกระบบ ส่งผลให้อัตราภาษีอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพบ้านเรา ดังนั้น หากคนไทยที่มีหน้าที่เสียภาษีพร้อมใจกันเข้ามาอยู่ในระบบได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้รัฐเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้รัฐสามารถออกนโยบายลดภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระภาษีที่ผู้เสียภาษีในระบบทุกวันนี้แบกรับแทนเพื่อนๆ ที่ยังอยู่นอกระบบลงได้ด้วยเช่นกัน

หลายคนอาจจะรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่เสียภาษี แต่ไม่อยากเข้าระบบเพราะเห็นว่ารัฐนำเงินภาษีไปใช้แต่ละอย่างไม่เหมาะสมเลย เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ผู้เสียภาษีอย่างเราควรทำไม่ใช่การโยนให้ภาระหน้าที่เสียภาษีส่วนนี้ไปกองอยู่กับคนที่อยู่ในระบบให้เสียภาษีแทนเราต่อไป แต่สิ่งที่เราควรทำ คือ เสียภาษีให้ถูกต้องเพื่อแบ่งเบาภาระผู้เสียภาษีด้วยกันและเป็นแบบอย่างให้เจ้าหน้าที่รัฐได้เห็น

ส่วนคนที่อยากทำหน้าที่เสียภาษีให้ถูกต้องแต่ยังทำไม่เป็น เราพัฒนา app iTAX เพื่อให้ผู้เสียภาษีสามารถเริ่มต้นจัดการภาษีได้ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด และประหยัดที่สุดให้คุณแล้ว เมื่อเราทุกคนร่วมมือกันในฐานะผู้เสียภาษี เราจะได้อ้างสิทธิความเป็นเจ้าของเงินภาษีที่เขานำไปใช้ได้อย่างสง่าผ่าเผย สุดท้ายยังไงประเทศนี้ก็เป็นบ้านของเราทุกคน

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)