ข้อดี vs ข้อเสีย ของการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ที่คนทำธุรกิจต้องรู้

SME

ถ้าจะพูดถึงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ การจด VAT คนทำธุรกิจหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับสิ่งนี้ดี แต่สำหรับนักธุรกิจมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ และยังไม่แน่ใจว่า ธุรกิจของเราต้องทำการจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ วันนี้ iTAX จะมาบอก ข้อดีและข้อเสียของการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) มาดูกันดีกว่าว่า แท้จริงแล้ว การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม มีผลดีต่อธุรกิจของเรามากน้อยแค่ไหน

ว่าด้วยเรื่อง ข้อดีของการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT)

1. จด VAT ขอคืนภาษีซื้อได้

ไม่ว่าของที่คุณซื้อนั้นจะเป็นการการซื้อของใช้ในอุปกรณ์สำนักงาน (ของที่ซื้อมาเพื่อใช้ทำงาน) และ ของที่ซื้อมาขาย คุณก็สามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อได้ (ในกรณีที่ของชิ้นนั้นมี VAT) นั่นหมายความว่า ต้นทุนของสินค้าของคุณจะถูกลง จากการ ขอคืนภาษีซื้อ นั่นเอง

2. การจัดการบัญชีที่เป็นระบบมากขึ้น

เพราะคุณจะต้องทำบัญชีรายงานภาษีซื้อ – ขายทุกเดือน และเก็บรายงานนี้ไว้เผื่อให้เจ้าหน้าที่สรรพากรมาตรวจ ทำให้คุณจะต้องลงบัญชีการซื้อ – ขายสินค้าอย่างเป็นระบบ ซึ่งการทำบัญชีอย่างเป็นระบบจะทำให้คุณสามารถตรวจสอบความถูกต้องของการทำธุรกิจและพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบัญชีธุรกิจง่ายขึ้นด้วย

3. เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ

ลูกค้าหรือคู่ค้าของคุณจำนวนมากมักจะขอ ใบกำกับภาษี ทุกครั้งที่ทำการซื้อขายสินค้าและบริการ เพราะต้องการนำไปใช้ประโยชน์เป็นภาษีซื้อเพื่อลดภาระภาษีของฝ่ายลูกค้าเอง นั่นหมายความว่า หากคุณไม่ได้ทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ อาจจะทำให้คุณพลาดโอกาสในการทำธุรกิจไปก็ได้

4. กิจการมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ปฎิเสธไม่ได้ว่า การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ทำให้ธุรกิจของคุณมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะการจด VAT นั้นเหมือนเป็นการการันตีว่า ธุรกิจของคุณนั้นเป็นธุรกิจที่เชื่อถือได้ มีตัวตนอยู่จริง เพราะได้รับการตรวจสอบจากกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว

ว่าด้วยเรื่อง ข้อเสียของการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT)

1. ต้องยื่นรายงานภาษีซื้อ – ภาษีขาย ทุกเดือน

หากคุณทำการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณจะต้องยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30) ทุกวันที่ 15 หรือยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ภายในวันที่ 23 ของทุกเดือน ไม่ว่าเดือนนั้นคุณจะมีรายการซื้อ-ขายสินค้าหรือไม่ก็ตาม และหากคุณไม่ได้ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือยื่นไม่ตรงเวลา คุณก็มีสิทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรคิดค่าปรับได้

2. สินค้ามีราคาแพงขึ้น

ในกรณีที่คุณขายสินค้าให้กับบุคคลธรรมดา สินค้าของคุณอาจจะมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากคุณจะต้องคิดภาษีขายเพิ่มขึ้นอีก 7% และถ้าต้นทุนสินค้าของคุณไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว เช่น ผักสด เนื้อสด เป็นต้น คุณอาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากต้นทุนของกิจการไม่มีภาษีซื้ออยู่แล้วจึงไม่ช่วยให้ต้นทุนของคุณต่ำลง กล่าวคือ ต้นทุนเท่าเดิม แต่ราคาขายสูงขึ้น

3. ต้องมีความรู้เรื่องใบกำกับภาษี

ใครที่คิดว่าการจด VAT ยุ่งยากแค่การทำรายงานหรือยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณกำลังคิดผิดอย่างแรง! เพราะเรื่องของใบกำกับภาษีก็สำคัญไม่แพ้กัน คุณจะต้องศึกษาวิธีการและเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีและเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ดีและละเอียดที่สุด ไม่อย่างนั้น คุณอาจจะต้องเผชิญกับค่าปรับทางกฎหมายได้


วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับมือใหม่

สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไป แต่ยังไม่แน่ใจว่า ในฐานะผู้ประกอบการจะต้องเริ่มต้นคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มยังไง สามารถคำนวนได้ง่ายๆ เพียงแค่คุณนำภาษีขายทั้งเดือนมาหักด้วยภาษีซื้อทั้งเดือนภาษี (เดือนที่ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อ้างอิงจาก www.rd.go.th) เท่ากับว่า

– ภาษีมูลค่าเพิ่ม = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ
– ถ้าภาษีขาย > ภาษีซื้อ = ภาษีมูลค่าเพิ่มที่คุณต้องจ่าย
– ถ้าภาษีขาย < ภาษีซื้อ = ภาษีที่คุณสามารถขอคืนได้ (ขอเครดิตภาษี)

ภาษีขาย คือ

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ เมื่อมีการขายสินค้าคือรับบริการ

ภาษีซื้อ คือ

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจ่ายให้กับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ (ที่จดทะเบียน VAT เหมือนกัน) เมื่อทำการซื้อสินค้าหรือจ่ายค่าบริการที่นำมาใช้ในธุรกิจ

ทั้งภาษีและการทำธุรกิจไม่มีอะไรง่าย คุณจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเงื่อนไข ข้อดี – ข้อเสีย ของทุกเรื่องอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องและไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน่าปวดหัวในอนาคต แต่หากคุณยังไม่แน่ใจว่า ธุรกิจของคุณถึงเวลาจด VAT แล้วหรือยัง? อยากจดทะเบียนบริษัท แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน?

ติดต่อสอบถามค่าบริการ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 062-486-9787 เรากล้ารับรองว่า คุณจะปวดหัวกับภาษีบริษัท หรือการจดทะเบียนบริษัทน้อยลง และมีเวลาจัดการธุรกิจมากขึ้นแน่นอน!

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)