2019 แล้ว เราเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักการขายของออนไลน์ และหนึ่งในวิธียอดฮิตที่เรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือ การขายของผ่านการไลฟ์สด ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การขายของผ่านช่องทางนี้จะต้องเสียภาษีแบบผู้มีเงินได้อาชีพอื่นหรือไม่ iTAX อาจจะต้องย้ำกันอีกครั้งว่า
มีรายได้ = ต้องยื่นภาษี
ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร และไม่ว่าจะมีรายได้จากอะไรก็ตาม หากรายได้ของคุณถึงเกณฑ์ที่จะต้องยื่นภาษี คุณจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีด้วย และหากมีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด คุณจะต้องเสียภาษีด้วย
ภาษี กับการขายของออนไลน์
กฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เงินที่ได้จากการขายของออนไลน์จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบการขายของออนไลน์ได้เป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ
-
ขายของแบบซื้อมาขายไป
การขายของแบบซื้อมาขายไป พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การขายของที่คุณไม่ได้ผลิตเอง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอางค์, เสื้อผ้า, กระเป๋า, ฯลฯ ไม่ว่าจะรับมาขายในราคาขายส่งหรือขายปลีก กฎหมายจะถือว่ารายได้ของคุณนั้นเป็น เงินได้ประเภทที่ 8
ซึ่งคุณสามารถเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้ โดยอาจจะต้องยื่นภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง (ประจำปี 1 ครั้ง และครึ่งปีอีก 1 ครั้งด้วย) (อ้างอิง มาตรา 8(25) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560)
-
ขายของเกี่ยวกับ Digital Content
หากสินค้าของคุณเป็นสินค้าที่คุณผลิตและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง เช่น ขายภาพถ่าย, ฟอนต์, Template, Software ฯลฯ กฎหมายจะถือเป็น เงินได้ประเภทที่ 3 ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท และยื่นภาษีเงินได้ประจำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น (อ้างอิง มาตรา 42 ตรี ประมวลรัษฎากร)
ไลฟ์สดขายเสื้อผ้า ต้องเสียภาษีมั้ย?
เรายังคงย้ำคำเดิมว่า “เมื่อมีรายได้ ก็ต้องเสียภาษี” และเราเชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์หลายๆ คนน่าจะพอคุ้นเคยกันดีกับ กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หรือ ภาษี E-Payment ที่ทำให้หลายคนรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เพราะกฎหมายระบุอย่างชัดเจนว่า
หากทำธุรกรรมฝากเงินหรือรับโอนเงินทุกบัญชีจากสถาบันเดียวกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งใน 1 ปี หรือมียอดฝากและรับโอนเงิน 400 ครั้งแต่มียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป สถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบ ว่าคุณเข้าข่ายมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีหรือไม่
และหากกรมสรรพากรตรวจสอบและพบว่า รายได้จากการขายของออนไลน์ของคุณนั้นเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี แน่นอนว่า คุณจะต้องเสียภาษีแบบไม่มีข้อบิดพลิ้วใดๆ ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากการเปิดร้านขายของออนไลน์ หรือ มีรายได้จากการไลฟ์สดขายของก็ตาม (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาษีร้านค้าออนไลน์ กับเรื่องที่หลายคนยังเข้าใจผิด)
ขายของขาดทุน ก็ต้องเสียภาษี
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษี และการเสียภาษีมักจะไม่ได้เกี่ยวกับกำไร หรือขาดทุน เพราะกฎหมายกำหนดว่าหากยอดขายตลอดทั้งปีเกิน 1 ล้านบาท (ไม่ใช่กำไร) จะต้องเสียภาษีขั้นต่ำแบบเหมาในอัตรา 0.5% จากยอดขาย แม้ว่าจะขาดทุนก็ตามก็ยังต้องทำการเสียภาษีให้กรมสรรพากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (อ้างอิง วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา)
สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่า ร้านเราต้องเสียภาษี?
ในยุค 5G ที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้า เทคโนโลยีการจัดเก็บภาษีที่กรมสรรพากรเลือกใช้ก็มีการพัฒนาขึ้นเช่นกัน แน่นอนว่า มาตรการตรวจสอบการเสียภาษีร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และธนาคารจะเริ่มส่งข้อมูลการรับโอนเงินของร้านค้าออนไลน์ และร้านค้าที่ใช้ระบบการโอนเงินไม่ว่าจะเป็น พร้อมเพย์ (PromptPay), Mobile Banking ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563
ระหว่างนี้ กรมสรรพากรยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงทะเบียนเพื่อปรับปรุงข้อมูลบัญชีให้ถูกต้อง พร้อมกับยื่นแบบแสดงเงินได้ย้อนหลังและต้องยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ไปอีก 12 เดือน นับจากเดือนมิถุนายน 2561 เพื่อแลกกับการยกเว้นค่าปรับ เงินเพิ่ม และเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ กรมสรรพากรเปิดโอกาส ร้านค้าออนไลน์เข้าระบบภาษี)
ส่วนเจ้าของธุรกิจหรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คนไหนที่คิดว่า สามารถเลี่ยงภาษีด้วยการรับเงินสด 100% หรือใช้วิธีเก็บเงินปลายทางนั้น กรมสรรพากรมองว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งนี้ อย่าลืมว่า กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้ของร้านค้าจากบัญชีเงินฝากได้เช่นกัน
เมื่อกรมสรรพากรมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เจ้าของธุรกิจก็อาจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และคุณสามารถติดต่อสอบถามค่าบริการ iTAX sme สำหรับการจัดทำบัญชีและวางแผนภาษีที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ ติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787