ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎหมายใหม่ ค่าซื้อกองทุน Thai ESG ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มจาก 100,000 บาทเป็น 300,000 บาท และลดเวลาถือครองจาก 8 ปี เหลือ 5 ปี มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ถึง 31 ธ.ค. 2569
3 ธันวาคม 2567 – เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ กฎกระทรวง ฉบับที่ 395 (พ.ศ. 2567) ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้สิทธิลดหย่อนค่าซื้อกองทุน Thai ESG โดยเพิ่มสิทธิลดหย่อนขึ้นจากสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เป็น ไม่เกิน 300,000 บาท และลดระยะเวลาถือครองจากที่ต้องครบ 8 ปีนับจากวันที่ซื้อเหลือเพียงครบ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ โดยมีผลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2569
ครม.ปรับเกณฑ์กองทุน Thai ESG เพิ่มสิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท และ ลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย หรือกองทุน Thai ESG โดยอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งในภายหลังได้ออกมาเป็น กฎกระทรวง ฉบับที่ 395 (พ.ศ. 2567) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนกองทุน Thai ESG มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในสาระสำคัญ ดังนี้
- เพิ่มเพดานสิทธิ์ลดหย่อนภาษี
- เดิม – อัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุด 100,000 บาท
- ใหม่ – อัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุด 300,000 บาท
- ลดระยะเวลาถือครองที่สามารถขายโดยไม่ต้องเสียภาษี
- เดิม – ครบ 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อ
- ใหม่ – ครบ 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อ
ทั้งนี้ สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และกำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ Thai ESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
เพดานสิทธิ์ลดหย่อนภาษีของ Thai ESG ไม่ถูกนับรวมกับเพดานสิทธิ์ 500,000 บาทของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ
โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท ได้แก่
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
- กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
หากซื้อกองทุน Thai ESG ก่อน 1 มกราคม 2567 จะเกิดอะไรขึ้น
ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน Thai ESG ก่อน 1 มกราคม 2567 จะได้รับสิทธิลดหย่อนตามหลักเกณฑ์เดิม คือ ได้เพดานสิทธิ์ลดหย่อนสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ที่ไม่เกิน 100,000 บาท และต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
หากซื้อกองทุน Thai ESG หลัง 31 ธันวาคม 2569 ไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน ThaiESG ตั้งแต่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้น จะได้รับสิทธิลดหย่อนตามหลักเกณฑ์เดิม คือ ได้เพดานสิทธิ์ลดหย่อนสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ที่ไม่เกิน 100,000 บาท และต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
‘คลัง’ ประเมินสูญเสียรายได้ปีละ 13,000-14,000 ล้านบาท
กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีกปีละประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท (ตามมาตรการเดิม คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาทและในปีถัดไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังคาดว่าจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
- เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
- ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน และ
- ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออมและการลงทุนระยะยาว อันจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติม อาทิ เห็นควรที่กระทรวงการคลังจะติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีในครั้งนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้น กระทรวงการคลังต้องหาแนวทางการเพิ่มรายได้ภาษีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายและเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังในอนาคตต่อไปด้วย