กรมสรรพากร จัดงานแถลงข่าวการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) และเปิดตัวแคมเปญ SMEs โปรดี บัญชีเดียว ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางการเงินแก่ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่ทำบัญชีชุดเดียว และทำการปรับปรุงงบการเงินตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า
การจัดทำบัญชีเดียว เป็นสิ่งที่รัฐบาลและภาคเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงินสนับสนุนมาโดยตลอด เพราะการทำบัญชีเดียวไม่เพียงแต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้รู้สถานะทางบัญชีที่แท้จริงของตัวเอง แต่ยังสามารถทำให้ระบบสถาบันการเงิน และธุรกิจได้พัฒนาขึ้นด้วย และต้องยอมรับว่า เวลาคนทำบัญชีมักจะมีหลายบัญชีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น
- บัญชีสำหรับจ่ายเงิน
- บัญชีสำหรับส่งกรมสรรพากร
- บัญชีสำหรับยื่นขอกู้เงินหรือสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
ซึ่งการแยกบัญชีข้างต้น จะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถมองเห็นสภาพบัญชีธุรกิจที่แท้จริงได้ การทำบัญชีเดียวจะช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถรู้สภาพกิจการที่แท้จริงของตัวเอง ทำให้สามารถรู้ปัญหา รู้จุดแข็งของธุรกิจ ทำให้สามารถสร้างจุดแข็งให้แก่ธุรกิจได้ในอนาคต
สาเหตุที่ทำให้กรมสรรพากรออก พระราชบัญญัติ ยกเว้นเบี้ยปรับ – เงินเพิ่ม ให้กับผู้ประกอบการที่ร่วมลงทะเบียนทำมาตรการบัญชีเดียว เพราะกรมสรรพากรเชื่อว่า หากไม่มีมาตรการนี้ ผู้ประกอบการจะไม่กล้ามาลงทะเบียน และเริ่มต้นปรับปรุงบัญชีของกิจการเพื่อให้รู้สถานะที่แท้จริง นี่จึงเป็นเหตุผลที่กรมสรรพากรยอมยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้
สำหรับธุรกิจที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการจัดทำบัญชีเดียวกับกรมสรรพากรนั้น เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรจะเข้าไปดูแลและให้คำแนะนำ เพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถทำการปรับปรุงงบการเงินให้ถูกต้อง เพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อแก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินได้
และกรมสรรพากรมีมาตรการส่งข้อมูลที่เป็นไปตามกฎหมายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการบัญชีเดียว เพื่อให้ธนาคารและสถาบันการเงิน สามารถเข้าไปดูแลเจ้าของกิจการที่เข้าร่วมมาตรการบัญชีเดียวที่ถือเป็นลูกค้าชั้นดีให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น
เพราะมาตรการบัญชีเดียวที่จะเริ่มขึ้นในปี 2563 นั้น ผู้ประกอบการจะต้องใช้แบบการยื่นภาษีที่ยื่นกับกรมสรรพากร ยื่นกับธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อประกอบการพิจารณาการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินด้วย
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า
“การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ บสย. มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากร ธนาคาร และ บสย. จะร่วมกันเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ตระหนักโดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่
โดยการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งในส่วนของ บสย. จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับกรมสรรพากร ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 2 ปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการตลอดปี 2563 (ภายใต้เงื่อนไขที่ บสย. กำหนด) สำหรับผู้ที่ขอสินเชื่อจากธนาคารพันธมิตรทุกแห่ง เพื่อเป็นแรงจูงใจและของขวัญให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ”
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า
“ผู้ประกอบการ SMEs มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยตัวเลขประมาณการ GDP ของ SMEs ปี 2562 เติบโตร้อยละ 3.5 ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศที่เติบโตร้อยละ 2.5 แต่ธุรกิจ SMEs เองกลับติดหล่ม ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น
โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการมีงบการเงินหลายเล่ม หรือมีหลายบัญชี จึงไม่สามารถนำงบการเงินมาวิเคราะห์สภาพคล่องและรู้ผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจได้ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก เนื่องจากงบการเงินที่นำมาแสดงไม่สามารถสะท้อนศักยภาพ ของธุรกิจ จึงส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน
สมาคมธนาคารไทยต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และหันมาทำบัญชีเพียงเล่มเดียว จึงร่วมมือกับกรมสรรพากรและสถาบันการเงินทั้ง 20 แห่ง เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารที่สะดวกได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563”
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า
การลงนาม MOU ฉบับนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากร และสถาบันการเงินเท่านั้น ถ้าเราอยากให้ประเทศไทยดีขึ้น และผู้ประกอบการเข้มแข็งขึ้น บัญชีเดียวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ยกระดับประเทศไทยได้
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนกับกรมสรรพากร และสรรพากรมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลเรียบร้อย เจ้าของธุรกิจที่ทำการปรับปรุงงบการเงินที่ถูกต้อง เมื่อสถาบันการเงินนำข้อมูลนี้ไปใช้ ความเสี่ยงของผู้ประกอบการก็จะลดลงจากเดิม
หากไม่มีมาตรการบัญชีชุดเดียว ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ จะต้องใช้เวลาไปกับการเช็กข้อมูลลูกค้าหรือเจ้าของกิจการแต่ละราย แต่ความร่วมมือนี้ จะทำให้ธนาคารได้ข้อมูลที่ทำให้เห็นว่า ธุรกิจ SMEs ได้ทำการปรับปรุงงบการเงินให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร สิ่งหนึ่งคือ ธุรกิจจะมีความเสี่ยงลดลง
เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ย่อมมีวิธีการมองและพิจารณาสินเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ความร่วมมือนี้จะทำให้โปรแกรมต่างๆ ช่วยซัพพอร์ตธุรกิจ SMEs ได้มากขึ้น ตามชื่อโครงการที่ว่า SMEs โปรดี บัญชีเดียว
“การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีชุดเดียวและงบการเงินให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”
และหากผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจท่านใด กำลังมองหานักบัญชีมืออาชีพ ที่จะช่วยให้การจัดทำบัญชีสำหรับธุรกิจของคุณเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร คุณสามารถเลือกใช้บริการ iTAX sme ได้ ติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787