“ถ้ารู้ปัญหาที่ชัดเจน ก็แก้ปัญหาได้ครึ่งทางแล้ว”
―Charles F. Kettering
มี SMEs จำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวอย่างสุดความสามารถ
เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าใจปัญหาในมุมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นผู้เสียภาษีที่อยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง และได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 และนโยบายที่เกี่ยวข้อง
ทีมงาน iTAX จึงได้รวบรวมความเห็นจากการสัมภาษณ์ และการแสดงความเห็นตามช่องทางต่างๆ บนโซเชียลมีเดียนับหมื่นความเห็นจนสรุปได้เป็น 13 กลุ่มธุรกิจ ที่มาการรับฟังปัญหาของประชาชนจากเสียงของประชาชนเองด้วยอีกทางหนึ่ง
1. กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว
กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและที่พัก เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยตรง เพราะการมาของโควิด-19 รวมถึงมาตรการห้ามเข้าประเทศชั่วคราว ส่งผลให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก การจองที่พักเพื่อการท่องเที่ยวถูกยกเลิก ส่งผลให้โรงแรมและรีสอร์ท หรือ ที่พักที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด และยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยว รถให้เช่า หรือ ระบบขนส่งมวลชนเพื่อการท่องเที่ยวอีกด้วย
และแม้ว่ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก แต่กลับเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐที่ชัดเจนมากพอ เนื่องจากการที่ยอดจองที่พักและจำนวนนักท่องเที่ยงที่ลดลงจากโรคระบาด ส่งผลให้หลายๆ โรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องลดค่าใช้จ่ายซึ่งกระทบกับการจ้างงานของพนักงาน ดังนี้
- ลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานลง
- พนักงานถูกขอร้องให้หยุดงานแบบไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave Without Pay)
- มีมาตรการให้พนักงานลาออก เนื่องจากไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มแรงงานหรือพนักงานที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลับไม่สามารถรับเงินเยียวยาหรือเงินชดเชยรายได้จากรัฐได้จากมาตรการของรัฐในปัจจุบัน เนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้
1. เป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่เข้าเกณฑ์ความเดือดร้อนตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ เนื่องจากไม่ใช่กิจการที่ถูกหน่วยงานราชการสั่งปิด จึงไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ในเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ได้
2. แม้พนักงานกลุ่มนี้ จะเป็นพนักงานที่อยู่ในกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม แต่ก็ไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาและชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคมได้ เนื่องจาก มาตรการรับเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของประกันสังคม กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัย หรือ เป็นกิจการที่ถูกหน่วยงานราชการสั่งปิด เท่านั้น
ดังนั้น หากภาครัฐยังไม่มีคำสั่งให้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมปิดกิจการชั่วคราวเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 กลุ่มพนักงานหรือกลุ่มแรงงานในธุรกิจนี้จะไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยรายได้ได้ เนื่องจากจะถูกตีความว่า เป็นกรณีว่างงานเพราะพิษเศรษฐกิจ จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ลูกจ้างจะได้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด
2. ธุรกิจร้านอาหาร
จากประกาศของ กทม. เกี่ยวกับมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 รวมถึงคำสั่งทำนองเดียวกันในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีการสั่งห้ามไม่ให้นั่งทานอาหารในร้าน แต่ให้เปลี่ยนเป็นรับกลับบ้าน หรือ Take away แทน
หลายๆ คนอาจจะมองว่า แม้จะมีการสั่งห้ามไม่ให้ทานอาหารในร้าน แต่ร้านอาหารก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไร เพราะยังสามารถขายได้ และอาหารถือเป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจร้านอาหารจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ซึ่งบางร้านยอดขายตกลงไป 80-90% หรือแม้แต่เหลือรายได้วันละ 0 บาทก็มี
นั่นก็เพราะเมื่อมีโรคระบาด พฤติกรรมของผู้บริโภคย่อมเปลี่ยนไปด้วย และถึงแม้จะพยายามปรับตัวไปขายแบบออนไลน์ หรือ เดลิเวอรี่ ก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้มียอดขายเพิ่มขึ้นมากนัก หรือ ในบางกรณีก็ยังไม่สามารถทำให้ยอดขายสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่า ค่าขนส่ง ค่าจ้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ร้านอาหารยังต้องเผชิญกับราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการทำอาหารแพงขึ้น และหากขายอาหารไม่หมด หรือ เป็นอาหารที่ไม่สามารถเก็บไว้ต่อได้ ย่อมส่งผลให้ร้านขาดทุนเพิ่มมากขึ้น หลายร้านจึงต้องยอมปิดตัวลงเนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ไหวนั่นเอง
หรือแม้แต่ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารในโรงพยาบาลก็ได้รับกระทบเช่นกัน หลายคนอาจจะมองว่า โรงพยาบาลไม่ได้ถูกปิด หมอและพยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ยังต้องเดินทางไปทำงานที่โรงพยาบาลอยู่ ร้านอาหารเหล่านี้จะได้รับผลกระทบได้อย่างไร? นั่นเป็นเพราะรายได้หลักของร้านอาหารในโรงพยาบาลมาจากคนไข้และญาติที่เดินทางมาโรงพยาบาล
เมื่อโรงพยาบาลหลายแห่งมีนโยบายเลื่อนนัดคนไข้ทั่วไปเพื่อลดความแออัดลงในช่วงนี้ ทำให้มีคนเดินทางไปโรงพยาบาลน้อยลง ส่งผลให้ขายของได้น้อยลง และขาดทุนในทุกๆ วันนั่นเอง
ส่วนธุรกิจร้านขายแก๊สหุงต้ม และ ธุรกิจน้ำแข็ง ซึ่งเป็นผู้ส่งวัตถุดิบให้ธุรกิจร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการปิดตัวของร้านอาหาร และสถานบันเทิงต่างๆ ส่งผลให้ร้านขายแก๊สหุงต้มและกิจการน้ำแข็งมียอดขายที่ลดลงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ธุรกิจจัดเลี้ยงโต๊ะจีนและจัดสัมมนา ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการงดจัดงานสังสรรค์ของภาครัฐ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจจัดเลี้ยงโต๊ะจีน รวมถึงธุรกิจจัดข้าวและขนมเพื่องานประชุมหรืองานสัมมนา ก็ได้รับผลกระทบจากการถูกยกเลิกงานในช่วงนี้เช่นกัน
3. กลุ่มธุรกิจขนส่งสาธารณะ
กลุ่มธุรกิจขนส่งสาธารณะก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- คิวรถตู้
- ธุรกิจรถสองแถว
- ธุรกิจให้เช่าแท็กซี่ / คนขับรถแท็กซี่
- รถบัสรับเหมา
ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจนี้หลายคนแสดงความเห็นว่า จำนวนผู้โดยสารรถรับจ้างในแต่ละวันมีจำนวนลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่หลายๆ ออฟฟิศเริ่มให้มีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) กันมากขึ้น และการระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวลดลงด้วย
ผู้ประกอบการบางคนบอกว่า แม้ว่าคิวรถตู้ หรือ รถโดยสารต่างๆ จะปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง หรือ Social Distancing , เตรียมเจลแอลกอฮอล์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร หรือแม้แต่ปฏิเสธการให้ บริการแก่ผู้โดยสารที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารแต่อย่างใด
ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำลังจะต้องเผชิญกับค่างวดรถที่ไม่สามารถผ่อนได้ตามกำหนด และหากจะยื่นผ่อนผันตามนโยบายของรัฐ ธนาคาร หรือ สถาบันการเงินต่างๆ ก็มีขั้นตอนและเงื่อนไขที่ยุ่งยาก และถึงแม้สถาบันการเงินบางแห่งจะมีนโยบายหยุดเงินต้นให้ แต่ดอกเบี้ยไม่ได้หยุดไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องรับภาระดอกเบี้ยล้นต่อไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายยังต้องแบกรับค่าภาษี รวมถึง ค่าเบี้ยประกันภัยด้วย
4. กลุ่มธุรกิจเกษตรกร และ กลุ่มธุรกิจส่งออก
ภาคการเกษตรและกลุ่มธุรกิจส่งออกต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการปิดประเทศ ทำให้ประเทศปลายทางไม่สามารถรับสินค้าได้ ประกอบกับการลดจำนวนเที่ยวบินของสายการบิน ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจกลุ่มส่งออกได้รับผลกระทบไม่ต่างจากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น
- กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งส่งออก ปัจจุบันไม่สามารถส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางได้ เนื่องจากนโยบายปิดประเทศ และสายการบินลดจำนวนเที่ยวบินลง และไม่สามารถปรับตัวมาขายสินค้าในตลาดสดได้ เนื่องจาก มาตรการปิดตลาดในบางพื้นที่ ทำให้ราคาผลิตตกต่ำลงมาก
- สวนกล้วยไม้ส่งออก ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศในหลายประเทศ ทำให้ไม่สามารถส่งกล้วยไม้ได้ตามปกติ เป็นต้น
5. กลุ่มธุรกิจความสวยความงาม
เมื่อก่อนเราอาจจะเชื่อกันว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม จะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับธุรกิจอื่นๆ แต่กับวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ
สืบเนื่องมาจาก มาตรการการประกาศปิดห้างสรรพสินค้า โดยอนุญาตให้เปิดเฉพาะโซน Supermarket รวมถึงประกาศปิดร้านตัดผม ร้านนวด ร้านสัก ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ดังนี้
- ร้านตัดผม ร้านสัก ร้านทำเล็บ ยังต้องแบกรับค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ทั้งๆ ที่ไม่มีรายได้
- คลินิกเสริมความงามต่างๆ ที่ต้องปิดชั่วคราวลงจากประกาศของราชการ แต่ยังต้องแบกรับค่าเช่าตึกหลักแสน ค่าเช่าอุปกรณ์ ค่าเก็บรักษาทรีทเมนท์ต่างๆ และเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น
- ช่างแต่งหน้าและช่างทำผมฟรีแลนซ์ ก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากการห้ามจัดงานสังสรรค์ งานแต่งงาน และงานรับปริญญา จึงทำให้ลูกค้าที่จองคิวไว้ขอยกเลิกคิวงานทั้งหมด ทำให้ไม่มีรายได้
- ธุรกิจร้านนวด ที่ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ เป็นผลมาจากนโยบายปิดกิจการชั่วคราวของรัฐบาล
6. กลุ่มธุรกิจ Organizer
กลุ่มธุรกิจ Organizer ที่ได้รับผลกระทบนั้น ไม่ได้มีแค่กลุ่ม Event & Exhibition organizer เท่านั้น แต่รวมถึง Wedding Planner และ Organizer งานบวช หรืองานสังสรรค์ต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้เป็นผลมาจากมาตรการห้ามจัดงานสังสรรค์ของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลื่อนงานแต่ง หรือ งานอีเว้นท์ต่างๆ ออกไปทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มนี้ขาดรายได้ และยังต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน เหมือนเช่นธุรกิจอื่นๆ
รวมถึง ธุรกิจร้านดอกไม้ หรือ ร้านรับจัดดอกไม้ ที่ก็ได้รับผลกระทบ มียอดขายน้อยลง เนื่องจากไม่สามารถจัดงานแต่ง งานบวช หรืองานสังสรรค์อื่นๆ ได้
7. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการบ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ให้เช่า เช่าสถานที่
เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจาก เมื่อแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ หรือ ถูกปรับลดเงินเดือนลง ทำให้กลุ่มผู้เช่าหลายคนทำเรื่องขอคืนห้องเช่าเนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้เหมือนเดิม รวมถึง การขอลดค่าเช่าด้วยเช่นกัน
แม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายเต็มใจที่จะผู้เช่าผ่อนผัน หรือ ลดค่าเช่าให้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ให้เช่ายังต้องแบกรับค่าใช่จ่ายอื่นๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึง ภาษีที่ต้องจ่ายอยู่เท่าเดิมด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่สามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้กับสถาบันการเงินบางแห่งได้
นอกจากกลุ่มธุรกิจห้องเช่าและอพาร์ทเม้นท์จะได้รับผลกระทบแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวกับการเช่าอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ ธุรกิจให้เช่าเครื่องเสียงงานรื่นเริง ธุรกิจให้เช่าสถานที่เปิดโรงเรียนสอนดนตรี ธุรกิจให้เช่าเครื่องดนตรี เป็นต้น
8. กลุ่มอาชีพอิสระ
กลุ่มอาชีพอิสระในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึง วินมอเตอร์ไซต์ หรือ กลุ่มคนขับรถแท็กซี่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาชีพฟรีแลนซ์ต่างๆ เช่น
- ช่างภาพอิสระ ที่รับงานถ่ายรูปทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นงาน event งานแต่ง งานรับปริญญา งานบวช ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เนื่องจากมาตรการงดจัดการสังสรรค์ของภาครัฐ
- นักร้อง นักดนตรี ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ใช่แต่เพียงเฉพาะกลุ่มที่เล่นดนตรีในสถานบันเทิงซึ่งถูกมาตรการปิดสถานบันเทิงเท่านั้น แต่นักร้อง นักดนตรี หรือ วงดนตรี ในงานสังสรรค์อื่นๆ เช่น งานบวช งานแต่ง ต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการงดจัดงานสังสรรค์ของภาครัฐเช่นกัน
9. กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม
กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนก็พลอยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เช่นกัน และเป็นกลุ่มที่หลายๆ คนอาจจะคิดไม่ถึง เช่น
- กลุ่มรับผลิตและจำหน่ายถ้วยรางวัล โล่ เหรียญ
- กลุ่มรับผลิตเสื้อกีฬา เป็นต้น
เนื่องจากงานกีฬาและกิจกรรมต่างๆ ถูกยกเลิก กลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้จึงถูกลูกค้าที่สั่งผลิตแล้ว ชะลอการรับสินค้า เลื่อนส่ง เลื่อนผลิต เป็นเหตุให้ได้รับผลกระทบไปด้วย ผู้ประกอบการบางรายจึงต้องปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ไหว และกลุ่มธุรกิจนี้ไม่สามารลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจากหน่วยงานรัฐได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายคำสั่งปิดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัยอันมีเหตุจากคำสั่งของภาครัฐ แต่เป็นการหยุดกิจการเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวเอง
10. กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา
จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งตัดสินใจปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบของการสอนออนไลน์มากขึ้น เพื่อลดความแออัดของการเดินทางมาสถานศึกษา และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการศึกษาได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น
- ร้านถ่ายเอกสาร หรือ ร้านให้บริการอินเทอร์เน็ต
- ร้านขายเครื่องเขียน
- สถาบันสอนพิเศษ
- ติวเตอร์อิสระ
- ร้านขายหนังสือ (ทั้งหนังสือเรียนและหนังสือมือสอง)
- ครูสอนดนตรี เป็นต้น
11. กลุ่มธุรกิจร้านขายยา
ในยุคที่ข้าวยาก มาส์กแพง หลายคนอาจจะคิดว่า ร้านขายยาน่าจะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ และดูแล้วน่าจะเป็นธุรกิจที่สามารถทำเงินได้ดีที่สุดในช่วงนี้ด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะแม้ว่าแอลกอฮอล์ เจลล้างมือ หรือ หน้ากากอนามัย จะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง แต่ร้านขายยาหลายร้านก็ไม่สามารถหาสินค้าดังกล่าวมาขายในราคาที่เหมาะสมได้
เนื่องจากราคาสินค้าที่เป็นที่ต้องการนั้นมีราคาสูงและหาซื้อยากกว่าในเวลาปกติ และหากร้านขายยาสินค้าดังกล่าวมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาควบคุมอาจจะทำให้ร้านขายยานั้นถูกดำเนินคดีได้ ธุรกิจร้านขายยาจึงได้รับผลกระทบไม่ต่างกับธุรกิจกลุ่มอื่น
12. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยง
ใช่ว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับคนจะได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามของสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เพราะตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ลูกค้าหลายๆ คนตัดสินใจไม่นำสัตว์เลี้ยงมาอาบน้ำ ตัดขน เหมือนอย่างที่เคย
13. กลุ่มคลินิกทันตกรรม
คลินิกทันตกรรมหลายแห่งตัดสินใจปิดการให้บริการแก่คนไข้ที่ต้องการทำทันตกรรมในช่วงนี้ชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของคนไข้และบุคลากร อันเนื่องมาจากการป้องกันที่ไม่เพียงพอ และเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในอากาศ (airborne) รวมถึงไม่ต้องการให้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดแบบ Super Spreader
ทีมงาน iTAX เชื่อว่า ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) และการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เราเชื่อว่ายังมีกลุ่มธุรกิจ SMEs อีกหลายกลุ่ม และผู้เสียภาษีอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกำลังต้องการความช่วยเหลือและการเยียวยาจากรัฐบาลเช่นกัน
แล้วประชาชนต้องการให้รัฐเยียวยาอย่างไร?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งระดับครัวเรือนและระดับประเทศไปด้วย และถึงแม้ว่ารัฐจะออกมาตรการเยียวยาเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาบ้างแล้ว แต่เรามาฟังเสียงจากมุมของประชาชนกันบ้างว่าอยากได้มาตรการเยียวยาอะไรบ้าง
ทั้งนี้ ทีมงาน iTAX ขออนุญาตรวบรวมความคิดเห็น และมาตรการเยียวยาที่ผู้เสียภาษีอยากให้เกิดขึ้นจาก Facebook : MTlikesara (หมอแล็บแพนด้า) ประกอบไปด้วย
1. มาตรการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
แม้ว่าในปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งจะมีมาตรการพักชำระหนี้ ออกมาให้เห็นบ้างแล้ว แต่หากลองอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขที่ธนาคารและสถาบันการเงินบางแห่งกำหนดไว้ จะเห็นว่า มาตรการดังกล่าวเหมือนจะไม่ได้ช่วย ประชาชนหรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่าไหร่นัก
เพราะแม้ว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินจะประกาศออกมาว่า ยินดีพักชำระหนี้ให้ นอกจากเงื่อนไขจะยุ่งยากแล้ว ยังมีเรื่องของการพักหนี้ไม่จริงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ยินดีพักชำระหนี้เงินต้นให้ แต่ลูกหนี้จะยังต้องชำระดอกเบี้ยอยู่ หรือ พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือนจริง แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะต้องจ่ายหนี้เต็มจำนวน เป็นต้น
เสียงสะท้อนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วย
- ต้องการให้สถาบันการเงินและธนาคารพักชำระหนี้อัตโนมัติ 3 – 5 เดือน โดยที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปยื่นเอกสารเพื่อขอพักชำระหนี้
- ประกาศให้ไฟแนนซ์พักชำระค่างวด เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- ขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว หรือ การระบาดของไวรัสโคโรนาหายไปอย่างถาวร เพราะมีความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจโดยภาพรวมไม่น่าจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 3 – 6 เดือน
- อยากให้กระทรวงการคลังเข้ามาดูแลเรื่องผ่อนชำระค่าบ้าน เพราะนโยบายปัจจุบันเป็นหยุดชำระเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังต้องจ่ายอยู่เหมือนเดิม เนื่องจากในช่วงแรกของการผ่อนบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ ผู้ซื้อมักจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะกว่าเงินต้น ทำให้รู้สึกว่านโยบายตอนนี้เป็นนโยบายที่เอาเปรียบมากกว่าช่วยเหลือประชาชน
2. มาตรการชดเชยรายได้ 5,000 บาท 6 เดือน
อย่างที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลเปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เมษายน – มิถุนายน 2563) โดยมีเงื่อนไขหลักว่า
“จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 และต้องเป็นอาชีพที่เข้าเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้นจึงจะมีสิทธิรับเงินชดเชย”
จริงอยู่ที่ มาตรการชดเชยรายได้ผู้ได้รับผลกระทบ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะเป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะข้อจำกัดของนโยบายข้างต้น จึงทำให้เงินชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามมาตรการฯ ไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้ทั่วถึงและครบทุกกลุ่มอย่างที่ควรจะเป็น
ที่พูดแบบนี้เพราะ รัฐมีการตั้งกฎเกณฑ์รับเงินเยียวยาที่มากและยุ่งยากเกินไป ทำให้ยังมีประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจริง แต่ไม่สามารถรับเงินเยียวยาจากรัฐได้ ไม่ว่าจะเป็น
-
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา
ประชาชนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมจะต้องลงทะเบียนก่อนถึงจะมีสิทธิรับเงินได้? ในเมื่อ ณ ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนั้น และการลงทะเบียนจำเป็นที่จะต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าเว็บไซต์ แต่ยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ ได้รับความเดือดร้อนและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อลงทะเบียนได้ ทำให้เกิดความกังวลว่า เงินเยียวยาอาจจะไม่ถึงมือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง เป็นต้น
-
กฎเกณฑ์ในการกำหนดอาชีพที่ได้รับผลกระทบ คืออะไร?
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกคนในสังคมไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ประชาชนบางส่วนจึงมองว่า รัฐควรจ่ายเงินเยียวยาประชาชนทุกคนโดยไม่เกี่ยงอาชีพ เนื่องจากประชาชนรู้สึกว่า ในตอนที่รัฐเรียกเก็บภาษีจากประชาชนนั้น รัฐเลือกเก็บจากฐานรายได้ ไม่ได้เก็บภาษีจากเกณฑ์อาชีพ
ดังนั้น ในฐานะผู้เสียภาษี (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จึงควรที่จะมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน
3. ต้องการให้รัฐจัดหาแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่าย
เนื่องจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ทั่วไป ไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยาและชดเชยรายได้ เพื่อรับเงิน 5,000 บาท จากภาครัฐได้ จึงต้องการที่จะให้หน่วยงานภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่าย เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป
4. ช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคหลัก ไฟฟ้า/ประปา
เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การใช้ชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ที่ลดลง หรือ ขาดรายได้ และเพื่อเป็นการปฏิบัติตามนโยบาย “หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้ประชาชนต้องการให้ภาครัฐช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่เกิดจากสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ หรือ ค่าไฟ อย่างไม่มีเงื่อนไข
ทั้งหมดนี้ เป็นเสียงจากความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเยียวยาและชดเชยผลกระทบที่ครอบคลุมและทั่วถึงสำหรับทุกคนในสังคม