ครม.เคาะ Easy e-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 50,000

ลดหย่อนภาษี

ครม. ไฟเขียว ค่าลดหย่อนใหม่ Easy e-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท ใช้จ่ายสินค้าบริการทั่วไป ที่พัก โรงแรม OTOP วิสาหกิจชุมชน เริ่ม 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568

24 ธันวาคม 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการค่าลดหย่อน Easy e-Receipt 2.0 เพื่อนำค่าซื้อสินค้าและบริการเฉพาะที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) เพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์แตกต่างจาก ค่าลดหย่อน Easy e-Receipt ของปี 2567 ด้วย

เปิดเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อน Easy e-Receipt 2.0 ปี 2568

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรเห็นผลตอบรับที่ดีเยี่ยมจากมาตรการ Easy E-Receipt ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา จึงเดินหน้าสานต่อความสำเร็จนี้ เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ออกมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1. กรอบเวลาของโครงการ Easy e-Receipt 2.0

มาตรการดังกล่าวกำหนดระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยค่าซื้อสินค้าและบริการตามมาตรการ Easy e-Receipt 2.0 จะนำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2568

2. ค่าลดหย่อน Easy e-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท แบ่งวงเงินเป็น 2 ส่วน

ค่าลดหย่อน Easy e-Receipt 2.0 แม้จะมีการกำหนดให้ใช้เป็นสิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท แต่ในปี 2568 นี้ มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ โดยแบ่งวงเงินลดหย่อนภาษี เป็น 2 ส่วนดังนี้

  • วงเงินส่วนแรก ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน
  • วงเงินส่วนที่สอง ลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการจาก OTOP วิสาหกิจชุมชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน ดังนี้
    • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
    • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชน ที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
    • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ตัวอย่าง

  1. ซื้อสินค้า/บริการทั่วไป จำนวน 25,000 บาท โดยได้รับ e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 25,000 บาท เนื่องจากยังไม่เกินวงเงิน 30,000 บาทส่วนแรก
  2. ซื้อสินค้า OTOP จำนวน 50,000 บาท โดยได้รับ e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาท ทั้งจำนวน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิจากทั้งวงเงินส่วนแรก 30,000 บาทและส่วนที่สองอีก 20,000 บาทรวมกัน
  3. ซื้อสินค้า/บริการทั่วไป จำนวน 50,000 บาท โดยได้รับ e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เพียง 30,000 บาท เฉพาะวงเงินส่วนแรกเท่านั้น
  4. ซื้อสินค้า/บริการทั่วไป จำนวน 40,000 บาท และ สินค้า OTOP จำนวน 10,000 บาท  โดยได้รับ e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เพียง 40,000 บาท โดยแบ่งเป็นสิทธิลดหย่อนจากสินค้า/บริการทั่วไป จำนวน 30,000 บาท (วงเงินส่วนแรก) และค่าซื้อสินค้า OTOP อีก 10,000 บาท (วงเงินส่วนที่สอง)

3. สินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วมโครงการ Easy e-Receipt 2.0

  1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  2. ค่าซื้อยาสูบ
  3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
  4. ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
  5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต    
  6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ กล่าวคือ เริ่มต้นก่อนวันที่ 16 มกราคม 2568 หรือสิ้นสุดหลัง 28 กุมภาพันธ์ 2568 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568 ก็ตาม
  7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

4. หลักฐานที่จำเป็นต้องใช้เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

ผู้เสียภาษีต้องใช้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice และ e-Receipt) ที่ระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)