ภาษี bitcoin หรือ ภาษีคริปโต ในที่สุดก็ประกาศเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สินดิจิตอล (อ้างอิงจาก พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561) เพื่อกำหนดว่านักลงทุนต้องเสียภาษีอย่างไรบ้าง ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
อัปเดตล่าสุด มี.ค. 2565 >> อ่านวิธีคำนวณภาษีคริปโตตามแนวทางของกรมสรรพากร
1. Cryptocurrency และเหรียญ ICO ไม่ใช่ ‘สกุลเงิน’ แต่เป็น ‘ทรัพย์สินดิจิทัล’
ทรัพย์สินดิจิตอลที่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามกฎหมายนี้ (ที่หลายคนเรียกว่า ภาษีคริปโต หรือ ภาษี bitcoin) ได้แก่ Cryptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) และ Digital Token (โทเคนดิจิทัล) ซึ่งในที่นี้ขออนุญาตเรียกทรัพย์สินดิจิตอลรวมๆ ว่า coin
Crytocurrency คือ coin ที่เกิดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนเสมือนเป็นเงิน เช่น Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC) หรือ Ethereum (ETH)
ส่วน Digital Token คือ coin ที่เกิดขึ้นจากการระดมทุนผ่านการทำ ICO (Initial Coin Offering) เพื่อนำ coin ไปใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะระหว่างผู้ออก coin และผู้ถือ coin เช่น OmiseGo (OMG), JFinCoin (JFIN) หรือ Carboneum (C8) เป็นต้น
2. กำไรจากการขาย coin ให้หักภาษี 15%
หากขาย coin แล้วได้กำไรเนื่องจากขายได้ราคามากกว่าต้นทุนที่ซื้อมา ก่อนนักลงทุนจะได้รับเงิน ผู้จ่าย (ผู้ซื้อ) จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรด้วยก่อนจะจ่ายเงินให้ลูกค้าที่เป็นนักลงทุน ( มาตรา 40(4)(ฌ),50(2)(ฉ) ประมวลรัษฎากร )
3. ผลประโยชน์ที่จ่ายจากการถือ coin ให้หักภาษี 15%
หาก coin ที่ถือไว้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือ เช่น ถ้า coin นั้นจะได้รับเงินปันผลจากผู้ออก coin ถ้ากิจการนั้นมีกำไรโดยแบ่งจ่ายให้ตามสัดส่วนจำนวน coin ที่ถืออยู่ กรณีนี้ผู้ออก coin จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์นั้นด้วยก่อนจะจ่ายเงินให้ลูกค้าที่เป็นผู้ถือ coin (มาตรา 40(4)(ซ),50(2)(ฉ) ประมวลรัษฎากร)
4. ถูกหักภาษี 15% ไปแล้ว ต้องนำมายื่นภาษีประจำปีด้วยอยู่ดี
รายได้จาก coin เหล่านี้แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว นักลงทุนก็ยังต้องนำมายื่นภาษีประจำปีด้วยอยู่ดี เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้สิทธิ์ไม่ต้องยื่นภาษี (ซึ่งในส่วนนี้จะแตกต่างกับรายได้จากการลงทุนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลอย่างชัดเจนที่สามารถปล่อยให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยไม่ต้องนำมายื่นภาษีอีกก็ได้ ดังนั้น การหักภาษีทรัพย์สินดิจิตอล ณ ที่จ่าย 15% จึงเป็นเพียงการชำระภาษีล่วงหน้าเท่านั้น ยังไม่ใช่ภาษีสุดท้าย)
5. รายได้จาก coin หักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย
เนื่องจาก coin เหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็น เงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับพวกดอกเบี้ยและเงินปันผลซึ่งหักต้นทุน ค่าใช้จ่าย ใดๆ ไม่ได้อยู่แล้ว จึงทำให้รายได้จาก coin เหล่านี้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ได้เลย (มีเพียงกรณีกำไรจากการขาย coin เท่านั้นที่ให้หักยกเว้นต้นทุนค่าซื้อ coin ได้) ดังนั้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ แม้ว่าจะมีต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าเครื่องขุด ค่าไฟฟ้า ค่าเช่า ก็ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อทำให้เสียภาษีถูกลงได้
สรุปและข้อสังเกตบางประการ
ทรัพย์สินดิจิตอล ได้แก่ Crytocurrency และ Digital Token ซึ่งกำไรจากการขาย coin หรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากถือ coin จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% และจะต้องนำไปยื่นภาษีประจำปีด้วย
และข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ
การคำนวณภาษี จากกำไรทำได้ยากมากๆ ในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดช่องว่างบางประการที่ต้องรอการตีความอยู่ด้วย เช่น ถ้าซื้อ coin มาจากกระดาน Crytocurrency Exchange จากต่างประเทศแล้วโอนเข้ามาที่กระดาน Crytocurrency Exchange ในประเทศไทย แล้วถอนออกมาเป็นสกุลเงินบาทจะหักภาษี 15% จากกำไรได้อย่างไร เพราะไม่ทราบว่าต้นทุนตอนซื้อที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่กันแน่? โดยเฉพาะสายขุดที่จะหักค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการซื้อเครื่องขุดและค่าไฟฟ้าไม่ได้เลย
และหากนักลงทุนบางคนโอนย้ายเงินไปอยู่ในบัตรเครดิตที่แปลง Crytocurrency หรือ Digital Token มาใช้จ่ายเลย เช่น บัตร BitPay ก็น่าจะหลุดรอดจากเกณฑ์ตรงนี้ไปด้วยเช่นกัน (เนื่องจากไม่ใช่ผู้ให้บริการในไทย)
โฆษกกรมสรรพากรแถลง ม.ค. 2565
คุณสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงประเด็น “ภาษีคริปโต” ในนามกรมสรรพากรในรายการ Morning Wealth ของ The Standard Wealth เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 สำหรับข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับภาษีคริปโต เป็นเวลา 30 นาที (ช่วงครึ่งหลังตั้งแต่นาทีที่ 30 เป็นต้นไป)
จากคำชี้แจงของโฆษกกรมสรรพากรภายในรายการ ทีมงาน iTAX สามารถสรุปความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ภาษีคริปโตของไทยที่เป็นประเด็นสำคัญ 11 คำถาม ดังนี้
หมายเหตุ: รายละเอียดบางส่วนจำเป็นต้องเสริมตัวอย่าง ข้อเท็จจริง รวมถึงข้อกฎหมายที่อาจไม่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพิ่มขึ้นและได้รับประโยชน์สูงสุดด้วย
1. กำไรจากการขายคริปโตตามกฎหมายไทย คำนวณอย่างไร?
กำไรคิดเป็น “รายธุรกรรม” กล่าวคือ หากธุรกรรมแรกมีกำไร 100 บาท ธุรกรรมที่สองขาดทุน 100 บาท ผู้เสียภาษีจะต้องนำกำไร 100 บาทจากธุรกรรมแรกมายื่นภาษี ส่วนธุรกรรมที่สองซึ่งขาดทุน 100 บาท ไม่สามารถนำมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้
เช่น ซื้อ BTC มา 100,000 บาท แล้วขาย BTC ในกระดานเทรดทั้งหมดเป็นเงิน 150,000 บาท ได้กำไรเป็นเงินบาท 50,000 บาทแล้ว แม้จะยังเก็บเอาไว้ในกระดานอยู่ ก็เป็นกำไรที่ต้องเสียภาษี
ต่อมา นำเงิน 150,000 บาทก้อนเดิมนั้นไปซื้อ BTC อีกครั้ง แต่พบว่ามูลค่าลดลงเหลือ 100,000 บาท จึงทำให้ขาดทุน 50,000 บาท
จากตัวอย่างข้างต้น ธุรกรรมแรกมีกำไร 50,000 บาท และธุรกรรมที่สองขาดทุน 50,000 บาท แม้ทั้ง 2 ธุรกรรมจะเกิดขึ้นภายในปีเดียวกัน แต่กรมสรรพากรให้ตีความว่าให้เสียภาษีโดยคำนวณจากกำไรเป็น “รายธุรกรรม” เท่านั้น ดังนั้น ต้องนำกำไรจากธุรกรรมแรก 50,000 บาท ไปเสียภาษี โดยไม่สามารถนำมาผลขาดทุน 50,000 บาทของธุรกรรมที่สองมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้
ทั้งนี้ กรมสรรพากรเชื่อมั่นว่าผู้เสียภาษีจะทราบอยู่แล้วว่าในปี 2564 ที่ผ่านมาตนมีกำไรเท่าไหร่ หากไม่ได้จดบันทึกไว้ อาจจะต้องกลับไปตรวจสอบเงินเข้าออกว่ารวมกำไรแล้วเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากกรมสรรพากรให้กรอกเป็นกำไรรวม ไม่จำเป็นต้องแยกแสดงกำไรเป็นรายธุรกรรม
ข้อสังเกต: การคำนวณภาษีเฉพาะกำไรแยกเป็น ‘รายธุรกรรม’ โดยไม่นำผลขาดทุนมาหักลบนั้น เป็นมาตรฐานเดียวกับการเสียภาษีเมื่อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์
2. ถ้าซื้อขายผ่านกระดานเทรด (Exchange) แล้วเก็บเงินเอาไว้ในกระดานเทรดโดยไม่ได้ถอนเงินสดออกมา ต้องเสียภาษีหรือไม่?
โฆษกกรมสรรพากรชี้แจงว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด คือ เกิดรายได้เมื่อไหร่เป็นรายได้เมื่อนั้น ดังนั้น หากขายคริปโตแล้วได้กำไร ย่อมเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แม้ว่าเงินนั้นจะยังไม่ได้ถอนออกมา
เช่น ซื้อ BTC มา 100,000 บาท แล้วขาย BTC ในกระดานเทรดทั้งหมดเป็นเงิน 150,000 บาท ได้กำไรเป็นเงินบาท 50,000 บาทแล้ว แม้จะยังเก็บเอาไว้ในกระดานอยู่ ก็เป็นกำไรที่ต้องเสียภาษี
ข้อสังเกต: โฆษกกรมสรรพากรยังไม่ได้ชี้แจงกรณีนำเหรียญนึงไปแลกกับคู่เหรียญอื่นๆ ว่าจะเกิดกำไรได้หรือไม่ และยังไม่ได้ชี้แจงในกรณีนำเหรียญไปแลกกับ stable coin ว่าถือว่ามีกำไรแล้วหรือไม่
3. เหรียญที่ได้จากการ Locked Staking ก็ต้องเสียภาษีหรือไม่?
กรณีได้รับเหรียญเพิ่มขึ้นจากการฝากเหรียญในรูปแบบ locked staking (เช่น ZipLock) จะเป็นเงินได้จากการถือเหรียญที่ต้องนำไปเสียภาษีด้วยเช่นกัน (ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ซ)) โดยต้องนำมูลค่าของเหรียญที่ได้รับจาก locked staking ไปเสียภาษีทั้งจำนวน
เช่น นำเหรียญไปฝากเพื่อทำ locked staking แล้วได้เหรียญใหม่มา มูลค่า 5 บาท ก็ต้องนำเหรียญมูลค่า 5 บาท ไปเสียภาษี
หากต่อมาเหรียญที่นำไปทำ locked staking มูลค่าลดลงก็ไม่เกี่ยวข้องกับเหรียญใหม่ที่ได้เพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด ยังคงต้องนำมูลค่าเหรีญใหม่นั้นไปเสียภาษีอยู่ดี
เช่น เหรียญ A มูลค่า 30 บาท นำไปทำ locked staking ต่อมามูลค่าเหรียญ A ลดลงจาก 30 บาทเหลือ 25 บาท แต่ได้เหรียญใหม่จาก locked staking มา มูลค่า 5 บาท ต่อมาขายเหรียญ A ได้เงินมา 25 บาท กรณีนี้แม้จะขายขาดทุน 5 บาท ก็ต้องนำเหรียญใหม่มูลค่า 5 บาท ที่ได้รับจาก locked staking มาเสียภาษีอยู่ดี เพราะเป็นสินทรัพย์ที่งอกเงยจากการลงทุน ไม่ใช่กำไร จึงเป็นรายได้คนละส่วนกัน
ข้อสังเกต: โฆษกกรมสรรพากรยังไม่ได้ชี้แจงว่าหากเหรียญที่ได้รับมูลค่า 5 บาทนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าระหว่างปี จะให้ใช้มูลค่าใดนำไปแสดงเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี
4. กรมสรรพากรได้พูดคุยกับกระดานเทรดในประเด็นภาษีคริปโตแล้วหรือยัง?
กรมสรรพากรได้เริ่มหารือกับกระดานเทรดในประเด็นภาษีคริปโตเพื่อหาทางอำนวยความสะดวกสำหรับการส่งธุรกรรมที่เกิดขึ้นของผู้เสียภาษีให้กรมสรรพากรแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือในอนาคต
แต่สำหรับการยื่นภาษีประจำปี 2564 นั้น หากต้องการให้กระดานเทรดส่งข้อมูลธุรกรรมของผู้เสียภาษีให้กรมสรรพากร ผู้เสียภาษีจำเป็นต้องให้ความยินยอมกับกระดานเทรดก่อน กระดานเทรดจึงจะส่งข้อมูลธุรกรรมของผู้เสียภาษีให้กรมสรรพากรได้
5. เหรียญที่ได้จากการขุด (Mining) ต้องเสียภาษีอย่างไร?
เหรียญที่ได้การขุดด้วยเครื่องขุดเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจทั่วๆ ไป (เงินได้ประเภทที่ 8) ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงสามารถนำมาคำนวณภาษีได้ แต่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามจริงที่มีหลักฐานยืนยัน ไม่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับเหมือนกิจการขายอาหาร หรือธุรกิจซื้อมาขายไป
ข้อสังเกต: โฆษกกรมสรรพากรยังไม่ได้ชี้แจงว่าหากเหรียญที่ได้รับจากขุดให้ใช้มูลค่า ณ เวลาใดนำไปแสดงเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี
6. ในอนาคตกรมสรรพากรเชื่อมต่อข้อมูลกับกระดานเทรดแล้ว แล้วพบว่าตอนยื่นภาษีกรอกกำไรต่ำกว่าที่ได้รับจริง จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น?
โฆษกกรมสรรพากรชี้แจงว่าการยื่นภาษีเพื่อแสดงรายได้ โดยปกติไม่จำเป็นต้องแนบหลักฐานใดๆ แต่ยืนยันว่ากรมสรรพากรมี big data และมีการทำ data analytics เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้เสียภาษีรายใดจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มไม่เสี่ยง หากเจ้าหน้าที่สรรพากรมีข้อสงสัยว่าแสดงรายได้ไม่ครบถ้วน ก็สามารถขอเชิญให้ผู้เสียภาษีชี้แจงได้ หากพิสูจน์ได้ว่าแสดงรายได้ครบถ้วนแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่ถ้าพบว่าผู้เสียภาษีแสดงรายได้ต่ำกว่าข้อมูลที่กรมสรรพากรมี ทางกรมจะขอให้ผู้เสียเสียภาษียื่นและชำระภาษีเพิ่มเติมจากส่วนที่ขาด ซึ่งหากเป็นการชำระเพิ่มเติมหลังจากหมดเวลายื่นภาษีประจำปีแล้ว จะต้องชำระเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยเนื่องจากชำระภาษีล่าช้า) โดยคำนวณจากเฉพาะภาษีที่ชำระไว้ขาด ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน แต่ไม่มีค่าปรับอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากยื่นภาษีแล้ว เพียงแต่แสดงรายได้ไม่ครบถ้วน
7. แนวปฏิบัติการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เป็นอย่างไรกันแน่?
โฆษกกรมสรรพากรยืนยันว่า “ผู้ซื้อ” หน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% จากกำไรก่อนจ่ายเงินให้ “ผู้ขาย”
อย่างไรก็ดี โฆษกกรมสรรพากรยอมรับว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องให้ผู้ขายแจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่จากธุรกรรมดังกล่าว แต่ถ้าผู้ขายไม่แจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ ก็ให้ผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากยอดซื้อทั้งจำนวนเลย ดังนั้น ผู้ขายต้องรักษาสิทธิ์ของตนโดยแจ้งผู้ซื้อให้ทราบก่อนว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ เพื่อให้หักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างถูกต้อง
แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ซื้อต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายธุรกรรม แต่การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย สามารถนำส่งรวบเป็นรายเดือนครั้งเดียวเท่านั้น โดยผู้ซื้อต้องแสดงรายการแยกเป็นรายธุรกรรมในด้วยแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.2 และนำส่งภาษีดังกล่าวให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป (หรือวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากนำส่งผ่านระบบ E-Filing ของกรมสรรพากร)
8. การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% กรณีซื้อขายบนกระดานเทรด สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่?
โฆษกกรมสรรพากรเข้าใจว่าในทางปฏิบัติอาจมีข้อสงสัยว่าการซื้อขายผ่านกระดานเทรด จะเป็นการตั้งราคาเสนอซื้อ-ขาย ซึ่งผู้ซื้อไม่อาจทราบได้ว่าผู้ขายเป็นใคร จะหักภาษี ณ ที่จ่ายผ่านระบบของกระดานเทรดได้อย่างไร รวมถึงจะระบุชื่อผู้ขายและส่งหนังสือรับรองการให้ภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้ขายด้วยวิธีการใด ซึ่งกรมสรรพากรมีความตั้งใจจะอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี โดยกำลังหารือแนวทางดังกล่าวกับกระดานเทรดเพื่อหาความชัดเจนขึ้นในอนาคต
แต่ขณะนี้ ผู้เสียภาษีทุกคนยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไปก่อน โดยกรมสรรพากรรับรู้ว่ามีความยุ่งยากของผู้ซื้อและผู้ขายอยู่จริง
9. มีกำไรจากการขายคริปโตแค่ไหนถึงไม่ต้องยื่นภาษี และไม่ต้องเสียภาษีคริปโต
สำหรับบุคคลทั่วไป หากมีรายได้จากการเทรดคริปโตเพียงทางเดียว โดยมีกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซีตลอดทั้งปีไม่เกิน 60,000 บาท ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีหรือเสียภาษีเลย แต่ถ้าหากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ระหว่างปี ก็สามารถยื่นภาษีประจำปีเพื่อขอคืนภาษีส่วนใดกล่าวได้ทั้งจำนวน
หากบุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการเทรดคริปโตเพียงทางเดียว มีกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซีตลอดทั้งปีไม่เกิน 210,000 บาท จะยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีอยู่ แต่รายได้จะยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ดังนั้น หากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ระหว่างปี ก็สามารถยื่นภาษีประจำปีเพื่อขอคืนภาษีส่วนใดกล่าวได้ทั้งจำนวนเช่นกัน
กรณีบุคคลดังกล่าวมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว หรือมีบัตรประจำตัวผู้พิการ หากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซีตลอดทั้งปีไม่เกิน 400,000 บาท จะยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีอยู่ แต่รายได้จะยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้สูงอายุและผู้พิการ ดังนั้น หากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ระหว่างปี ก็สามารถยื่นภาษีประจำปีเพื่อขอคืนภาษีส่วนใดกล่าวได้ทั้งจำนวน
10. กฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2561 ทำไมกรมสรรพากรถึงเพิ่มเริ่มเคลื่อนไหวปี 2565
กรมสรรพากรพบว่าในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการเทรดกันอย่างคึกคัก จึงมีความห่วงใยผู้เสียภาษีว่าจะลืมไปว่ารายได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซี่จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 ในช่วงต้นปี 2565ด้วย จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียภาษีทราบถึงหน้าที่ดังกล่าว จะได้ไม่หลุดหลงไปจนลืมยื่นภาษีและรับบทลงโทษในภายหลัง
ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมกฎหมายภาษีคริปโตเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ซึ่งสถานการณ์ตลาดคริปโตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ก็มีโอกาสที่กฎหมายภาษีคริปโตอาจเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เหมือนดังเช่นในอดีตที่ไม่เคยมีกฎหมายกำหนดว่ากำไรจากคริปโตเป็นเงินได้ประเภทใด จนเมื่อปี 2561 จึงกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นเงินได้จากการลงทุนกลุ่มเดียวกับพวกดอกเบี้ย เงินปันผล
11. แนวปฏิบัติที่ชัดเจนของกรมสรรพากรจะออกมาเมื่อไหร่?
โฆษกกรมสรรพากรชี้แจงว่าทางกรมสรรพากรและอธิบดีไม่ได้นิ่งนอนใจ กรมสรรพากรกำลังรวบรวมแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและจะทำออกมาในรูปแบบ Q&A ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันทั้งผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นขึ้นในการปฏิบัติจริง
หากมีความคืบหน้าประการใด ทีมงาน iTAX จะนำเสนอเพิ่มเติมอีกครั้ง