สิ่งที่ต้องทำ เมื่อได้รับหนังสือจากกรมสรรพากร

ทั่วไป

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ได้รับหนังสือแนะนำให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีจากกรมสรรพากร อย่าเพิ่งตกใจไป ตั้งสติแล้วหายใจลึกๆ ก่อน เพราะสิ่งที่คุณได้รับไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และทุกอย่างมีทางแก้ไข และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่

1. ทำธุรกิจ E-Commerce / ขายของออนไลน์ ไม่เคยยื่นภาษี ฯลฯ

สำหรับคนที่ทำธุรกิจ E-Commerce, ขายของออนไลน์ และไม่เคยยื่นภาษี วิธีแก้คือ รวบรวมหลักฐานที่แสดงรายได้ที่ถูกต้องและครบถ้วน และทำการยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปี ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 (ยื่นแบบกระดาษ) หรือสามารถยื่นภาษี Online ได้ที่ rd.go.th ภายในวันที่ 8 เมษายน 2563 และสามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามที่ปรากฏในจดหมายเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

2. มีเงินได้ในปีก่อนๆ ต้องยื่นภาษีย้อนหลังด้วย

ในกรณีที่คุณไม่เคยยื่นภาษีเลย หรือ ยื่นภาษีไม่ครบในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม คุณจะต้องทำการ ยื่นภาษีย้อนหลัง พร้อมกับเสียภาษีย้อนหลังด้วย และแน่นอนว่า ในเมื่อคุณจ่ายภาษีไม่ตรงเวลา คุณจะต้องเตรียมตัวรับมือกับ เงินเพิ่ม ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนที่ต้องจ่ายภาษี ปัดเป็น 1 เดือน)

สำหรับผู้เสียภาษีที่ต้องยื่นภาษีย้อนหลัง สิ่งแรกที่คุณต้องรู้คือ คุณจะไม่สามารถทำการยื่นภาษีออนไลน์ได้ และจะต้องเดินทางไปยื่นภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านเท่านั้น และเราอยากแนะนำให้คุณเตรียมเอกสารที่จำเป็นสำหรับการยื่นภาษีให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น

  • รายการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง (Statement) เน้นย้ำว่า เป็นรายการบัญชีธนาคารที่คุณใช้สำหรับรับเงิน (บัญชีที่ลูกค้าโอน) ทุกบัญชีที่คุณมี และในกรณีที่คุณไม่ได้ทำการแยกบัญชีที่สำหรับใช้ส่วนตัว และบัญชีสำหรับการทำธุรกิจ หรือบัญชีที่รับโอนเงินสำหรับการขายของ คุณอาจจะต้องใช้เวลาในการแจกแจงที่มาของรายได้ต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรนานกว่าที่คิด
  • หนังสือรับรองการจ่ายเงินปันผล (ถ้ามี)
  • เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพ (ของตัวเอง หรือของพ่อแม่ก็ได้ทั้งนั้น)
  • เอกสารยืนยันสิทธิ์ลดหย่อนบิดามารดา (ล.ย. 03)
  • เอกสารการชำระดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน (ถ้ามี)
  • เอกสารการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี (ถ้ามี)

หรือหากไม่มั่นใจว่าคุณจะต้องใช้เอกสารใดสำหรับการยื่นภาษีย้อนหลังบ้าง คุณสามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามที่ปรากฏในจดหมายเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

3. ขายของออนไลน์ และมีรายได้เกิน 1.8 ล้าน

ในกรณีที่คุณขายของออนไลน์ และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องทำการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เรียบร้อย ซึ่งระยะเวลาในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า

หากธุรกิจของคุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือมีรายได้เฉลี่ย 150,000 บาทต่อเดือน (เป็นรายได้หรือยอดขายที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่กำไรหลังหักค่าใช้จ่าย) จะต้องทำการจด VAT ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ฐานภาษีเกิน 1.8 ล้านบาท (ถ้ายอดขาย 1.8 ล้านบาทพอดี ยังไม่ถูกบังคับให้จด VAT แต่อย่างใด)

แต่ในกรณีที่คุณไม่ได้จด VAT มาก่อนหน้า และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทแบบไม่คาดคิด ก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะถึงแม้กฎหมายจะกำหนดให้คุณต้องทำการจด VAT ภายใน 30 วัน แต่ในกรณีนี้คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะส่วนที่เกินมาจาก 1.8 ล้านบาทเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณสามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามที่ปรากฏในจดหมายเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

รายได้เกิน 1.8 ล้าน ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ที่ไหน?

  • ยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ www.rd.go.th
  • ยื่นแบบคำขอด้วยกระดาษ ณ หน่วยจดทะเบียนที่ตั้งสถานประกอบการ

จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับเรื่องที่ต้องทำ

หลังจากที่ทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ จด VAT แล้ว คุณจะต้องยื่นรายงานภาษีซื้อ ขาย ทุกเดือน แม้ว่าจะไม่มียอดการซื้อ ขาย ในเดือนนั้นๆ ก็ตาม และจะต้อง ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และจะต้องออก ใบกำกับภาษี ทุกครั้ง

สรรพากรรู้ได้ไงว่า เราไม่ได้จ่ายภาษี?

อาจจะเป็นเพราะความเชื่อที่ว่า ถ้ารับเงินค่าจ้าง หรือ ขายของรับแต่เงินสด สรรพากรจะไม่สามารถรู้ได้ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ และเมื่อสรรพากรไม่รู้ ก็หมายความว่า เราไม่ต้องเสียภาษี แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะต่อให้คุณใช้เงินสดในการทำธุรกรรมทุกอย่าง สรรพากรก็สามารถรู้ได้อยู่ดีว่าคุณมีรายได้เท่าไหร่? และได้ทำการยื่นภาษีและเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ นั่นก็เพราะสรรพากรในยุค 2020 มีระบบการตรวจสอบที่แม่นยำและเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม

ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า สรรพากรใช้ระบบ Risk Based Audit (RBA) เพื่อประเมินความเสี่ยงผู้เสียภาษี และเจ้าของธุรกิจว่าธุรกิจประเภทใดจัดอยู่ในกลุ่มดีที่มีการเสียภาษีถูกต้อง และธุรกิจประเภทใดจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มว่าจะหลีกเลี่ยงภาษี

และแน่นอนว่า การประเมินผลด้วย เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงผู้เสียภาษี (Risk Based Audit: RBA) ยังมีช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการและนักบัญชีหลบเลี่ยงภาษีได้ นั่นก็คือ การทำงบประมาณหรือแสดงรายได้ในรูปแบบที่จะช่วยให้รอดพ้นจากการตรวจสอบ และสรรพากรเองก็ยอมรับว่า ระบบ RBA ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลในส่วนนี้ได้จริง

และเมื่อระบบ RBA ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลี่ยงภาษีได้ กรมสรรพากรจึงได้ทำการพัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบผู้ประกอบการขึ้นใหม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การจัดเก็บภาษี และการตรวจสอบภาษีสามารถเป็นไปได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนว่า เรากำลังพูดถึง ระบบ Data Analytics ของกรมสรรพากรอยู่นั่นเอง

ระบบ Data Analytics  ที่กรมสรรพากรใช้คืออะไร?

Data Analytics คือ ระบบที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมความเสี่ยงของกิจการในแต่ละประเภทว่า ธุรกิจแต่ละประเภทมีความเสี่ยงในรูปแบบไหน และมีพฤติกรรมใดที่สามารถบอกได้ว่า ผู้ประกอบการอาจจะแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของบริษัท หรือ มีพฤติกรรมบันทึกหรือสร้างค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม เช่น

  • ธุรกิจมีการย่องบ เช่น ธุรกิจที่มีทรัพย์สินราคาสูงหรือมากผิดปกติ, ธุรกิจที่มีพนักงานเงินเดือนสูง
  • ธุรกิจที่แสดงตัวเลขผิดปกติ เช่น กิจการผลิตมีรายได้ต่ำ แต่มีสินค้าคงเหลือสูง หรือมีเงินกู้ยืมกรรมการสูง เป็นต้น
  • ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำ แต่มีเงินให้กรรมการกู้ หรือ มีค่าตอบแทนกรรมการสูง เป็นต้น

บอกก่อนว่า ระบบ Data Analytics ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถรวบรวมข้อมูลการจ้างงานในแต่ละปีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วย และจากการที่กรมสรรพากรใช้ Data Analytics วิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจและผู้ประกอบการมาเป็นระยะเวลา 1 ปี กรมสรรพากรยืนยันว่า ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเที่ยงตรงและแม่นยำ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้โชคดีที่ได้รับหนังสือแนะนำให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีจากกรมสรรพากรหรือไม่ คุณจะต้องรู้ว่า “เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ จะต้องทำการยื่นภาษีด้วย” และการเจตนาไม่ยื่นภาษีภายในกำหนด, เลี่ยงภาษี หรือ หนีภาษี จะถือว่าคุณมีความผิดตามกฎหมาย (เพิ่มเติมที่ : บทลงโทษ) และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายในอนาคต การยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดนั่นเอง

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)