ในที่สุดประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับ ปีภาษี 2560 อย่างเป็นทางการเสียที หลังจากใช้โครงสร้างภาษีเดิมมาตั้งแต่ปีภาษี 2535 หรือกว่า 25 ปีที่แล้ว จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนึงของประเทศไทยก็ว่าได้ เพื่อให้ผู้เสียภาษีอย่างเราสามารถเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปีภาษี 2560 นี้ ผมจึงขออนุญาตสรุปความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็น 2 ด้านดังนี้
ด้านลดภาระภาษี
1. เพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวเป็น ฿60,000
ผู้เสียภาษีจะได้รับสิทธิ ค่าลดหย่อนส่วนตัว เพิ่มขึ้นจาก ฿30,000 เป็น ฿60,000*1
2. เพิ่มค่าลดหย่อนคู่สมรสเป็น ฿60,000
ผู้เสียภาษีจะได้รับสิทธิ ค่าลดหย่อนคู่สมรส เพิ่มขึ้นจาก ฿30,000 เป็น ฿60,000*2 แต่ยังคงให้ลดหย่อนคู่สมรสได้เพียงคนเดียวเหมือนเดิม
3. เพิ่มค่าลดหย่อนบุตรเป็น ฿30,000
ผู้เสียภาษีจะได้รับสิทธิ ค่าลดหย่อนบุตร เพิ่มขึ้นจาก ฿15,000 เป็น ฿30,000 แถมรอบนี้ยังสามารถลดหย่อนบุตรได้มากกว่า 3 คนอีกด้วย*3 แต่ถ้าเป็นการลดหย่อนบุตรที่เป็นบุตรบุญธรรมด้วยจะใช้สิทธิลดหย่อนรวมได้ไม่เกิน 3 คน
4. เพิ่มสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเดือน/ค่าจ้างทั่วไปเป็น ฿100,000
ผู้เสียภาษีจะได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) และค่าจ้างทั่วไป (เงินได้ประเภทที่ 2) เพิ่มขึ้นจาก 40% แต่ไม่เกิน ฿60,000 เป็น 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000 *4
5. เพิ่มสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายสำหรับค่าลิขสิทธิ์และค่า Royalty เป็น ฿100,000
ผู้เสียภาษีจะได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับค่าลิขสิทธิ์ รวมถึงค่า Royalty และค่า Goodwill เพิ่มขึ้นจาก 40% แต่ไม่เกิน ฿60,000 เป็น 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000 หรือจะเลือก หักค่าใช้จ่ายตามจริง ก็สามารถทำได้แล้ว*5
6. เปลี่ยนเกณฑ์เงินได้ที่ต้องยื่นภาษีให้สูงขึ้น
เกณฑ์เงินได้ที่ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้อง ยื่นภาษี สูงขึ้นจากต้องมีเงินได้ตลอดทั้งปีเกิน ฿30,000 (เฉลี่ยเดือนละ ฿2,500) เป็นต้องมีเงินได้ตลอดทั้งปี เกิน ฿60,000 (เฉลี่ยเดือนละ ฿5,000) *6
แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเงินได้จากเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) เพียงทางเดียว เกณฑ์เงินได้ที่ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีสูงขึ้น จากต้องมีเงินได้ตลอดทั้งปีเกิน ฿50,000 (เฉลี่ยเดือนละ ฿4,166.67) เป็นต้องมีเงินได้ตลอดทั้งปี เกิน ฿120,000 (เฉลี่ยเดือนละ ฿10,000) *7
7. ปรับเกณฑ์เงินได้สุทธิสำหรับอัตราภาษีขั้นบันไดสุดท้าย
ผู้เสียภาษีที่มี อัตราภาษี สูงถึงขนาดต้องเสียภาษีในอัตรา 35% จากเดิมจะใช้กับเงินได้สุทธิส่วนที่เกิน ฿4,000,000 เป็นเงินได้สุทธิส่วนที่เกิน ฿5,000,000 *8
ด้านเพิ่มภาระภาษี
1. ลดสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายสำหรับค่ารับเหมาเหลือ 60%
ผู้เสียภาษีจะได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับการรับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ (เงินได้ประเภทที่ 7) ลดลงจาก 70% เหลือเป็น 60% *9
2. ลดสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้อื่นๆ สูงสุดเหลือ 60%
ผู้เสียภาษีจะได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้อื่นๆ (เงินได้ประเภทที่ 8) ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ลดลงทุกรายการจากสูงสุด 85% เหลือเป็น 60% *10
สรุป
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีปี 2560 ครั้งนี้ ในภาพรวมช่วยให้ผู้มีรายได้จากงานประจำเสียภาษีถูกลงทันที เพราะได้สิทธิค่าลดหย่อน และ ค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้น ทำให้คนที่มีเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน ฿26,000 ก็ไม่น่าจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ส่วนคนที่มีเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน ฿10,000 ก็จะไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเลย
แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสวนทางกับเจ้าของธุรกิจซึ่งทำกิจการรับเหมาหรือทำกิจการค้าขายในรูปแบบบุคคลธรรมดา เพราะจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นทันทีเนื่องจากเสียสิทธิค่าใช้จ่ายแบบเหมาไปพอสมควร ทั้งนี้ คาดว่านโยบายภาษีลักษณะนี้เป็นการผลักดันให้เจ้าของธุรกิจเลือกทำกิจการในรูปแบบบริษัทมากขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ดี iTAX พร้อมให้บริการคำนวณภาษีตามโครงสร้างใหม่ 2560 นี้แล้ว
อ้างอิง
*1 :มาตรา 47(1)(ก) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*2 :มาตรา 47(1)(ข) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*3 :มาตรา 47(1)(ค) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*4 :มาตรา 42 ทวิ ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*5 :มาตรา 42 ตรี ประมวลรัษฎากร,พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 634) พ.ศ. 2560
*6 :มาตรา 56(1) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*7 :มาตรา 56(2) ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*8 :บัญชีอัตราภาษีเงินได้ ประมวลรัษฎากร,พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
*9 :มาตรา 45 ประมวลรัษฎากร,มาตรา 7 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502,พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560
*10 :มาตรา 45 ประมวลรัษฎากร,มาตรา 8 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502,พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560