ถอดบทเรียน ‘ภาษีย้อนหลัง’ ถึงแม่ค้าออนไลน์ สรุป 13 ประเด็น แม่น้องแมงปอ ขายของออนไลน์เลี้ยงลูกป่วยติดเตียง โดนเก็บภาษีย้อนหลัง 12 ล้าน โดย อาจารย์มิก ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์
- ภาษีขายของออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เสียภาษีอย่างไร?
- วิเคราะห์ค่าภาษีตามยอดขาย 2565 ขายของได้เท่านี้ ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่?
สรุป 13 ประเด็น แม่น้องแมงปอ ขายของออนไลน์เลี้ยงลูกป่วยติดเตียง โดนเก็บภาษีย้อนหลัง 12 ล้าน
- แม่จันทกร หรือที่ชาวเน็ตเรียกกันว่าแม่น้องแมงปอ เป็นคุณแม่ของน้องแมงปอ อายุ 14 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเป็นผู้ป่วยติดเตียง
- นอกจากน้องแมงปอแล้ว ยังมีคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมและลูกสาวคนโตที่มีอาการป่วยที่สมองด้วยเช่นกัน แม่น้องแมงปอจึงเป็นคนเดียวที่แบกรับภาระดูแลคนในบ้าน 3 คน ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูงและมีความเครียดเรื่องดูแลคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
- เมื่อปี 2561 แม่น้องแมงปอเริ่มหาทางออกให้ชีวิตโดยการเริ่มขายของผ่าน Facebook LIVE โดยช่วงแรกเริ่มจากรับน้ำพริกมาขาย หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายไปขายของกินอื่นๆ เช่น หมูทอด หมูสวรรค์ หมูฝอย ขนมปั้นขลิบ คุกกี้ โดยเป็นสินค้าที่แม่น้องแมงปอทำขายเอง โดยขายผ่านช่องทาง Facebook และ TikTok
- เมื่อเริ่มได้ออกสื่อมากขึ้น ประกอบกับของกินรสชาติดี จึงเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น หลายคนช่วยซื้อจนขายดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในช่วง 3 ปีล่าสุด มีเงินหมุนเวียนเข้าบัญชีธนาคารของแม่น้องแมงปอราว 80 ล้านบาท
- โดยปกติการขายของออนไลน์จะมีภาษี 2 ตัวที่คนขายของต้องรู้ ได้แก่ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามกฎหมายภาษีแล้ว หากมียอดขายเกินปีละ 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปีด้วย และถ้าปีใดมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท ผู้ขายจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ยอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท และจะต้องเริ่มคิด VAT 7% จากราคาสินค้าที่ขายด้วย เช่น ถ้าเดิมขาย 100 บาท จะต้องคิด VAT เพิ่มอีก 7 บาท เพื่อนำ 7 บาทนั้นมาส่งให้สรรพากรเป็นรายเดือน
- ตลอดช่วงเวลาที่ขายของออนไลน์ แม่น้องแมงปอไม่เคยยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ไม่เคยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่เคยทำบัญชีรับจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงไม่เคยเก็บหลักฐานต้นทุนค่าวัตถุดิบสินค้าหรือค่าขนส่งใดๆ ไว้เลย กิจการขายของออนไลน์ของแม่น้องแมงปอจึงเป็นธุรกิจเงินหมุนไปเรื่อยๆ ที่แม้แต่เจ้าของก็ไม่รู้ว่าปีๆ นึงมีรายรับรายจ่าย หรือกำไรขาดทุนเดือนละเท่าไหร่ มีเงินเข้าบัญชีกี่ครั้ง เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญไม่เคยรู้ว่าเรื่องภาษีตนต้องทำอะไรบ้าง
- วันนึงเจ้าหน้าที่สรรพากรเดินทางมาพบที่บ้าน เพื่อชี้แจงว่าแม่น้องแมงปอมีภาษีค้างชำระและถูกประเมินภาษีย้อนหลังเป็นเงินค่าภาษีรวมค่าปรับต่างๆ แล้วเป็นเงินราว 12 ล้านบาท จึงเดินทางมาอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเพื่อเปิดโอกาสให้มาแม่น้องแมงปอชี้แจงเส้นทางการเงินด้วย
- แม่น้องแมงปอยอมรับว่าที่ผ่านมาตัวเองผิดจริงที่ละเลยไม่ใส่ใจเรื่องภาษีมาก่อน หลังจากสรรพากรชี้แจงสถานการณ์ทำให้ตนเข้าใจมากขึ้นและมีความตั้งใจอยากทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ด้วยค่าภาษีที่ค้างอยู่จำนวนสูงมาก จึงต้องการขอผ่อนและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สรรพากร แต่ไม่ขอรับบริจาคจากประชาชน ขอแค่ให้อุดหนุนสินค้าของตนก็พอ
- โดยปกติ เมื่อสรรพากรประเมินภาษีจะประเมินยอดขายที่คาดว่าเกิดขึ้น (เช่น ดูจากรายการเดินบัญชีเงินฝากธนาคาร) และหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% จากยอดขาย (คำนวณภาษีโดยเหมาว่ามีกำไร 40%) อาจทำให้เสียภาษีในอัตราที่สูง ซึ่งผู้เสียภาษีมีสิทธิ์โต้แย้ง และขอให้คำนวณภาษีโดยหักต้นทุนค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขี้นจริงได้ แต่เนื่องจากแม่น้องแมงปอไม่เคยทำบัญชี ไม่เคยเก็บหลักฐานรายจ่ายใดๆ เลย ทำให้ชี้แจงต้นทุนที่แท้จริงได้ยากว่าเป็นเท่าไหร่กันแน่ และค่ารักษาพยาบาลของน้องแมงปอก็ไม่สามารถนำมาหักเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายทางธุรกิจได้ เพราะเป็นรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
- เมื่อถูกประเมินภาษีย้อนหลังในกรณีไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน นอกจากจะต้องจ่ายภาษีที่ค้างชำระแล้ว จะมีบทลงโทษทั้งเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ค้าง และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) อีก 1.5% ต่อเดือนจนกว่าจะชำระภาษีครบ เช่น หากถูกประเมินภาษีย้อนหลัง 1,000 บาท นอกจากต้องจ่ายค่าภาษี 1,000 บาทแล้ว ยังต้องจ่ายเบี้ยปรับอีก 2,000 บาท (รวมเป็น 3,000 บาท) และดอกเบี้ยอีกราวปีละ 18% ทำให้ทุกครั้งโดนภาษีย้อนหลัง บทลงโทษจึงรุนแรง
- รองอธิบดีกรมสรรพากร ดร.วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่าเคสลักษณะนี้สรรพากรก็เห็นใจและยินดีช่วยเหลือ ซึ่งกรมสรรพากรมีมาตรการผ่อนปรนบทลงโทษได้อยู่แล้ว และสามารถขอผ่อนค่าภาษีค้างชำระได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดตามกฎหมายที่ผู้เสียภาษีต้องทำตามมาตรฐานตามกรอบของกฎหมายด้วย
- โฆษกกรมสรรพากรก็ชี้แจงเพิ่มว่าไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับใคร และให้คำแนะนำว่าหากประชาชนมีข้อสงสัยก็สามารถเข้ามาสอบถามที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้ และเตรียมเปิดห้องเรียนภาษีออนไลน์ให้มาอบรมรับความรู้ภาษีที่ถูกต้องด้วย
- สถานการณ์แบบนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมอยากทำ iTAX bnk บัญชีธนาคารจัดการภาษีอัตโนมัติสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดยไม่ต้องรู้ภาษี (www.itax.in.th/bnk) เพราะผมก็หวังว่าจะไม่มีใครต้องเจอเหตุการณ์แบบแม่น้องแมงปออีกเช่นกัน
หวังว่าเหตุการณ์ของแม่น้องแมงปอจะเป็นอุทาหรณ์ให้แม่ค้าออนไลน์ใส่ใจเรื่องภาษีมากขึ้น ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกถูก เราจะสามารถทำธุรกิจได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอีกต่อไป