แจ้งลาออกต้องบอกล่วงหน้านานแค่ไหน?

ทั่วไป

ลูกจ้างลาออกมีผลได้ทันที ไม่แจ้งล่วงหน้า 30 วัน

กฎหมายแรงงานไม่บังคับลูกจ้างให้ต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งโดยปกติสัญญาจ้างแรงงานทั่วไปมักจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาหรือวันสิ้นสุดสัญญาจ้างที่แน่นอน ดังนั้น พนักงานจึงสามารถลาออกได้ทันที แต่ถ้าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดแน่นอน เช่น สัญญาปีต่อปี จะไม่สามารถลาออกได้ทันทีหากยังทำงานไม่ครบตามสัญญา พนักงานต้องเจรจาให้นายจ้างอนุมัติจึงจะมีผลให้ลาออกได้

การกำหนดเรื่องบอกกล่าวล่วงหน้า โดยปกติจะเป็นกรณีท่ีนายจ้างเป็นฝ่ายจะเลิกจ้างพนักงาน ที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องแจ้งลูกจ้างอย่างน้อย 1 รอบค่าจ้าง เช่น นายจ้างต้องแจ้งพนักงานล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนว่าจะเลิกจ้างถ้าจ่ายค่าจ้างกันเป็นรายเดือน

แต่ที่นายจ้างกำหนดให้พนักงานต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 30 วัน ก็เพื่อให้นายจ้างมีเวลาเตรียมจัดหาคนมาดูแลงานแทนส่วนที่ลูกจ้างเคยรับผิดชอบ และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างกันเองด้วย

การลาออกไม่ต้องรอนายจ้างอนุมัติ เพราะเป็นสิทธิของลูกจ้าง

การลาออกของพนักงานจะมีผลสมบูรณ์โดยตัวเองอยู่แล้ว นายจ้างไม่มีสิทธิพิจารณาว่าจะยินยอมให้ลาออกหรือไม่

การลาออกสามารถพูดปากเปล่าได้และมีผลทางกฎหมาย แต่เพื่อเป็นหลักฐานที่ชัดเจนพนักงานควรเขียนจดหมายลาออกเป็นหนังสือส่งถึงนายจ้างเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

แต่ถ้าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดแน่นอน เช่น สัญญาปีต่อปี พนักงานต้องเจรจาให้นายจ้างอนุมัติจึงจะมีผลให้ลาออกได้ เพราะยังทำงานไม่ครบตามสัญญาจึงไม่สามารถลาออกได้ทันที

การลาออกมีสิทธิขอเงินทดแทนจากประกันสังคมได้

เมื่อลาออกแล้ว พนักงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมและส่งเงินประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน จะมีสิทธิขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ใกล้บ้านได้ ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ พนักงานที่ลาออกจะมีสิทธิได้เงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตรา 30% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกินเดือนละ 4,500 บาท ตลอดช่วงเวลาที่ว่างงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน

การลาออกไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้าง

พนักงานจะได้รับค่าชดเชยก็ต่อเมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น หากเป็นกรณีท่ีพนักงานลาออกเองจะได้มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างเลย แม้ว่าจะมีอายุงานหลายปีแล้วก็ตาม

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)