เรื่องต้องระวัง ก่อนซื้อประกันลดหย่อนภาษี

ลดหย่อนภาษี

ถ้าจะพูดถึงสินค้าลดหย่อนภาษีที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้นการทำประกัน แม้ทุกคนจะรู้อยู่แล้วว่า ค่าเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ประกันเหล่านี้ให้ความคุ้มครองและมีเงื่อนไขลดหย่อนภาษีที่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างมากแค่ไหน ต้องระวังอะไร iTAX รวมมาให้แล้ว

เปรียบเทียบผลประโยชน์ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีก่อนตัดสินใจซื้อที่ iTAX shop

ไป iTAX shop >

ประกันแบบไหน ใช้ลดหย่อนภาษีได้

1. ประกันชีวิต

รูปแบบของ เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ประกอบไปด้วย

1.1 ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) คือ

ประกันชีวิตตลอดชีพ คือ ประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองระยะยาว หากคุณเลือกทำประกันรูปแบบนี้ คุณจะต้องจ่ายเบี้ยประกันระยะเวลาหนึ่ง อาจจะ 5 – 20 ปี (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์) ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ หากคุณต้องการเน้นความคุ้มครองชีวิต หรือต้องการสร้างความมั่นคงให้กับคนในครอบครัว นี่อาจจะเป็นประกันชีวิตที่คุณมองหาอยู่

1.2 ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) คือ

ประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองระยะสั้น คุณสามารถเลือกช่วงเวลาจ่ายค่าเบี้ยประกันและช่วงเวลาที่ต้องการรับความคุ้มครองได้เอง เป็นกรมธรรม์ที่มีค่าเบี้ยประกันค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเบี้ยแบบปีต่อปี และไม่สามารถเวนคืนได้ หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่อยากได้ความคุ้มครองชีวิตเพิ่มเติม แต่มีงบประมาณในการทำประกันค่อนข้างจำกัด เราคิดว่า ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา เหมาะกับคุณมากกว่า

1.2 ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ (Endowment) คือ

ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน คุณจะได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ สามารถเลือกทำได้ทั้งแบบตั้งแต่ 3-5 ปี หรือ เลือกแบบระยะยาว 25-30 ปี และเพราะประกันออมทรัพย์ เป็นประกันที่เน้นการออมเงิน จึงเหมาะกับคนที่ต้องการสร้างวินัยทางการเงิน และอยากได้ความคุ้มครองด้านชีวิตเพิ่มมากที่สุด

ประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?

หากคุณต้องการ ซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี คุณจะต้องซื้อประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องเป็นประกันชีวิตที่มีผลตอบแทนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี คุณสามารถใช้ค่าเบี้ยประกันชีวิตที่คุณจ่ายไปในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เรื่องที่ต้องระวัง :

ประกันชีวิตที่ใช้ลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นประกันชีวิตที่ไม่ถูกเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบอายุสัญญา หากคุณทำการเวนคืนหรือยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา คุณจะต้องคืนภาษีที่เคยลดหย่อนและเสียเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ให้กรมสรรพากร 1.5% ดังนั้น ก่อนซื้อประกันชีวิต หรือตัดสินใจยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต คุณอาจจะต้องคิดให้รอบคอบก่อน

2. ประกันสุขภาพ

โดยรูปแบบของ เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นประกันสุขภาพที่

  • ให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บ
  • คุ้มครองและชดเชยการทุพพลภาพ และการสูญเสียอวัยวะจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • ประกันอุบัติเหตุที่ให้ความคุ้มครองการรักษาทุพพลภาพสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว

ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี ได้เท่าไหร่?

คุณสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายไป มาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป จะสามารถใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมแจ้งบริษัทประกัน หรือตัวแทนประกันว่าต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วยนะ

3. ประกันบำนาญ

ประกันชีวิตบำนาญ คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ คุณจะต้องออมเงินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ เพื่อให้คุณได้รับเงินคืนจากแบบประกันอย่างต่อเนื่องทุกๆปี ตั้งแต่กำหนดเกษียณไปจนถึงช่วงเวลาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ (เป็นประกันที่มีรูปแบบคล้ายประกันออมทรัพย์ แต่ได้ผลตอบแทนที่สูงและมีระยะเวลาเงินคืนที่นานกว่า)

สำหรับ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ จะมีเงื่อนไขที่ใช้ลดหย่อนภาษี มากกว่า ประกัน 2 แบบแรก ดังนั้น หากคุณเลือกที่ซื้อประกันบำนาญคุณจะต้องศึกษาเงื่อนไขและความคุ้มครองอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็น

  • ระยะเวลาความคุ้มครอง ประกันบำนาญลดหย่อนภาษี จะต้องมีระยะเวลาความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
  • เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตบำนาญที่ทำกับบริษัทประกันในไทย
  • การจ่ายผลประโยชน์สม่ำเสมอ (จะจ่ายเป็นเงินเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาก็ได้)
  • เป็นแผนประกันที่จ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันมีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป (ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา)
  • ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์

ประกันบำนาญลดหย่อนภาษี ได้เท่าไหร่?

ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินที่คุณจ่ายเข้า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (กองทุน RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

แน่นอนว่า การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ แม้จะนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่นั่นถือเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ผลประโยชน์หลักๆ ของการทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพยังคงเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านชีวิตและสุขภาพ รวมถึงการวางแผนการเงินเพื่ออนาคต หากคุณคิดจะใช้ประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่ เราแนะนำให้คุณเลือกใช้ กองทุน SSF RMFเพื่อลดหย่อนภาษีจะดีกว่า

ในทางกลับกัน ถ้าคุณต้องการความคุ้มครองด้านชีวิตและประกันสุขภาพ หรือไม่อยากลงทุนกับกองทุนที่มีความผันผวนสูง ประกันชีวิตก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะทำประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพด้วยเหตุผลอะไร ควรศึกษารายละเอียดของประกันแต่ละประเภทให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหรือการเวนคืนกรมธรรม์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

หรือหากยังสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับประกันแบบไหน หรืองบประมาณที่เตรียมไว้เพียงพอกับการซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีหรือไม่ ลองให้ iTAX shop ช่วยค้นหาแผนประกันที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณได้ เรารับรองว่า คุณจะได้รับประสบการณ์ดีๆ จากการซื้อประกันลดหย่อนภาษีกับเราแน่นอน!

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)