เรียกเงินคืนโครงการรัฐ ‘เราชนะ’ เพราะผู้ประกอบการฝ่าฝืนเงื่อนไขของโครงการฯ ออกหนังสือแจ้งแล้ว 2,099 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ได้ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา
โครงการ “เราชนะ” คืออะไร?
โครงการเราชนะ เป็น โครงการภาครัฐ เพื่อออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ที่ลงทะเบียน เราชนะ.com สำเร็จเป็นเงินเดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 รวมเป็นเงิน 7,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิ์เราชนะ จะไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ แต่สามารถใช้ผ่านแอป “เป๋าตัง” สำหรับชำระค่าสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม และบริการต่างๆ ณ ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าที่ลงทะเบียนคนละครึ่ง รวมถึงร้านค้าและผู้ให้บริการอื่นๆ ที่ลงทะเบียนเราชนะ
ทำไมพ่อค้าแม่ค้าหลายรายจึงถูกภาครัฐ เรียกเงินคืนโครงการรัฐ?
11 ตุลาคม 2564 – นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีนี้ว่า กระทรวงการคลังตรวจพบลักษณะธุรกรรมที่ผิดเงื่อนไข อาทิ ร้านค้ารับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด มีการสแกนเงินเต็มจำนวนวงเงินสิทธิ 1,000 2,000 บาท จำนวนมาก โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตรวจพบและร้านค้าออนไลน์ที่รับสแกนซื้อ-ขายข้ามจังหวัด ทำให้จุดรับเงินขยับไปมาเกิน 7,000 กิโลเมตรใน 1 วัน หรือบางรายอยู่นอกพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการเราชนะ
“จึงจำเป็นต้องมีหนังสือประทับตราแจ้งคำสั่งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการ 2,099 ราย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ ผู้ประกอบการที่ขาดคุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการเราชนะ เป็นร้านค้าจากโครงการคนละครึ่ง แต่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ผู้ประกอบการที่ชี้แจงแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับธุรกรรมที่ตรวจพบ”
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง พร้อมแสดงหลักฐานให้ทบทวนผลการพิจารณาต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกระทรวงการคลังมีขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ตั้งแต่การระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ชั่วคราวจนถึงการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ รวมทั้ง ยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อย่างใกล้ชิดด้วย
ภาครัฐวอนสังคมเห็นใจ ทำตามหน้าที่เพราะต้องยึดตามระเบียบ
โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนเห็นใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ทุกอย่างต้องยึดตามระเบียบและกฎหมายรองรับ ซึ่งผู้ประกอบการที่สมัครใจร่วมโครงการฯ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วม “โครงการเราชนะ”
“หากมีการดำเนินการที่ละเมิดกติกาหรือผิดวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ส่วนราชการที่รับผิดชอบก็มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามข้อบังคับ เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของประชาชน และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม เนื่องจากเงินทุกบาทที่นำใช้จ่ายมาจากภาษีของคนไทยทุกคน ขณะเดียวกันก็ฝากย้ำเตือนไปยังผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ฯ อย่าได้มีธุรกรรมเสี่ยง เพราะพบว่ามีการผิดเงื่อนไข อาจเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการอื่นของรัฐอื่นๆ ในอนาคต ด้วย”
สศค. พบการรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด ฝ่าฝืนเงื่อนไขโครงการฯ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจงว่าที่ผ่านมา สศค. ตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อย่างใกล้ชิด ในกรณีที่พบการกระทำที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของโครงการภาครัฐ เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด ก็จะดำเนินการระงับสิทธิการเข้าร่วมโครงการเราชน และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนต่อไป
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้ระงับสิทธิถาวรผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ แล้วจำนวน 2,099 ราย และได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” เพื่อคืนเงินที่ได้รับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ประกอบการขออุทธรณ์ได้ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา
“เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของท่าน จึงขอให้ผู้ประกอบการชี้แจงเหตุผล พร้อมยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อ สศค. ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงต้นทุนสินค้า หลักฐานการจัดส่งสินค้า เอกสารแสดงสินค้าคงคลัง รวมถึงภาพถ่ายสถานประกอบการ เป็นต้น เพื่อนำสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานฯ และกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป”
มาตรการที่ภาครัฐดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ มีดังนี้
- การระงับสิทธิชั่วคราวการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เมื่อพบพฤติกรรมที่ผิดปกติในธุรกรรมการใช้จ่าย เช่น จุดรับเงินของแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ขยับไปมาระยะไกล ธุรกรรมเต็มจำนวนวงเงินสิทธิเป็นจำนวนมาก เป็นต้น และแจ้งให้ผู้ประกอบการให้ติดต่อกลับเพื่อชี้แจงโต้แย้ง ภายใน 14 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้ว จะนำเอกสารชี้แจงโต้แย้งของผู้ประกอบการที่ได้รับเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานฯ
- เมื่อได้พิจารณาเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบการแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์เราชนะ ดังกล่าวจริง หรือกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ชี้แจงโต้แย้งพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้มีหนังสือประทับตราแจ้งผลวินิจฉัยและขอให้ชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ และผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวนี้
- เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามข้อ 2. แล้ว กรณีไม่มีการชี้แจงหรือข้อมูลหลักฐานประกอบการอุทธรณ์ หรือไม่มีการชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ รวมถึงกรณีอุทธรณ์มาแต่คณะทำงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ก็จะได้มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการอีกครั้ง โดยหากผู้ประกอบการยังไม่ชำระเงินคืน ก็จะต้องดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการต่อไป
สรุปวิธีอุทธรณ์กรณีถูก ‘เรียกเงินคืนโครงการรัฐ’
- ยื่นอุทธรณ์ผลวินิจฉัยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา
- เตรียมชี้แจงเหตุผลโต้แย้ง และยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงต้นทุนสินค้า หลักฐานการจัดส่งสินค้า เอกสารแสดงสินค้าคงคลัง รวมถึงภาพถ่ายสถานประกอบการ เป็นต้น
- ยื่นเอกสารชี้แจง ต่อ สศค.
- ในกรณีต้องการเวลารวบรวมเอกสารและหลักฐานเพิ่ม สามารถขอขยายเวลาการจัดส่ง โดยจัดทำคำร้องพร้อมชี้แจงเหตุผล
ช่องทางส่งเอกสารชี้แจงและขยายเวลาเมื่อถูก เรียกเงินคืนโครงการรัฐ
ผู้ที่ประสงค์จะส่งเอกสารหรือหลักฐาน หรือต้องการขอขยายเวลาการจัดส่ง ให้ส่งเอกสารหรือคำร้องมาได้ 2 ช่องทาง ได้แก่
- ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือ
- อีเมล [email protected]