เยียวยานายจ้าง 3 เดือน ครม.เห็นชอบ เริ่ม พ.ย. 64 – ม.ค. 65

ครม. มีมติเห็นชอบ เยียวยานายจ้าง 3 เดือน ในอัตรา 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน เพื่อช่วยพยุงการจ้างงานของ SME ไทย ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ถึงมกราคม 2565 รวมเป็นเวลา 3 เดือน ตามมติของ ศบศ.
- ตรวจสอบสิทธิมาตรา 40 ล่าสุด – เช็คเงินเยียวยา ประกันสังคม
- ปรับอัตราประกันสังคม 2.5% ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว
5 ตุลาคม 2564 – นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ตุลาคม 2564 มีมติเห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน ตลอดจนสร้างความแข็งแรงให้แก่ธุรกิจ
มอบ แรงงาน-คลัง ศึกษาแนวทาง ‘เยียวยานายจ้าง’
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงแรงงานประสานกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแนวการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการในส่วนของรายได้จากเงินอุดหนุนดังกล่าว พร้อมให้กระทรวงแรงงานจัดทำรายละเอียดข้อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เปิดแนวทาง เยียวยานายจ้าง 3 เดือน และคุณสมบัติผู้เข้าร่วมส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs
- เป็นนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม
- มีการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยไม่เกิน 200 คน
- ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในเดือนตุลาคม 2564
- รับเงินอุดหนุนในเดือนที่ 1 – 3 (ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ถึงมกราคม 2565)
เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุน 3,000 บาท เยียวยานายจ้าง
- รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงานให้แก่นายจ้าง ให้กับลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวนไม่เกิน 200 คน
- จ่ายในอัตรา 3,000 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- เงินอุดหนุนคำนวณตามยอดการจ้างจริงทุกเดือน โดยพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม
- นายจ้างจะต้องรักษาการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่างร่วมโครงการ
- หากการจ้างงานต่ำกว่าร้อยละ 95 จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น
- ในกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริง ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนลูกจ้างสัญชาติไทย ณ วันเริ่มโครงการ
เยียวยานายจ้างหวังรักษาการจ้างงานลูกจ้างกว่า 5 ล้านคน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า คาดว่ามาตรการนี้จะรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 ราย ที่มีสถานประกอบการจํานวน 480,122 แห่ง และจะสามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างได้จำนวน 5,040,176 คน