เปิดคำสั่งแบบเต็มๆ อัยการสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ เพราะไม่ได้ขับรถเร็ว

ทั่วไป

อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส) ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ในความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2555 นั้น เนื่องจากพบข้อเท็จจริงใหม่จากพยานในที่เกิดเหตุและผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมว่าขณะเกิดเหตุ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเป็นความประมาทของผู้ตายเองที่เปลี่ยนเลนจากซ้ายสุดมาขวาสุดจนมาขวางหน้ารถยนต์ของนายวรยุทธในระยะกระชั้นชิด นายวรยุทธจึงไม่สามารถหยุดรถหรือหลบรถได้ทัน อัยการจึงมีความว่าเหตุดังกล่าว นายวรยุทธไม่มีความผิดฐานฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และญาติฝ่ายผู้ตายก็ไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับนายวรยุทธอีกต่อไปแล้ว

ตามที่ปรากฏข่าวอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ในทุกข้อหา จากคดีขับรถชน ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ จนเสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยมี พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการสอบสวน ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ เป็นผู้ลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งเด็ดขาดอัยการไม่สั่งฟ้อง

คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าวสรุปย่อโดย นายสมพงษ์ ภุชงค์โสภาพันธุ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 มีความยาว 4 หน้า โดยมีข้อความดังต่อไปนี้

คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ

คดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1

ข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหายและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 05.20 นาฬิกา ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 1 กำลังขับขี่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อเฟอรารี่ คันหมายเลขทะเบียน ญญ-1111 กรุงเทพมหานคร ไปทางถนนสุขุมวิทฝั่งขาออก ในช่องทางเดินรถที่ 3 ติดกับเกาะกลางถนน จากบริเวณปากซอยสุขุมวิท 45 มุ่งหน้าไปทางพระโขนง เมื่อถึงบริเวณระหว่างปากซอยสุขุมวิท 47 และปากซอยสุขุมวิท 49 ได้ชนท้ายรถจักรยานยนต์ ตราโล่ห์ คันหมายเลขทะเบียน 51511 ซึ่งมีผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่ล้มลงครูดไถลไปตามพื้นถนนหยุดที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 ร่างของผู้ต้องหาที่ 2 พลัดตกจากรถจักรยานยนต์ขึ้นไปกระแทกกระจกด้านหน้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ แล้วตกลงไปที่พื้นถนนชิดเกาะกลางถนน ถึงแก่ความตาย ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่ได้หยุดรถภายหลังเกิดเหตุแต่ได้ขับขี่หลบหนีเข้าไปภายในบ้านพักเลขที่ 8 ซอยสุขุมวิท 53 พนักงานสอบสวนได้เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จากการสืบสวนพบคราบน้ำมันซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่จากบริเวณที่เกิดเหตุเข้าไปหยุดที่บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 9 จึงได้นำหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้เข้าตรวจค้นภายในบ้านหลังดังกล่าว พบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุจอดอยู่ชั้นใต้ดิน และพบผู้ต้องหาที่ 1 แสดงตัวเป็นเจ้าของบ้าน นำตัวผู้ต้องหาที่ 1 มอบต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ กองพิสูจน์หลักฐานเดินทางไปตรวจเก็บวัตถุพยานจากรถยนต์คันดังกล่าว และยึดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันดังกล่าวเป็นของกลาง ส่งตรวจร่องรอยความเสียหายทางวิทยาการพร้อมกับรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่ขณะเกิดเหตุ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาที่ 1 ไปตรวจหาสารเสพติดและปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ในวันเดียวกัน

ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ให้การปฏิเสธ ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย

พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหายและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำวินิจฉัย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้มีความเห็นและคำสั่งทางคดี โดยสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันที และขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย จึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 2 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถของผู้อื่นเสียหาย ต่อมาได้เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไปยังอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีสำคัญที่ประชาชนสนใจ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อนให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันที และขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(2), 160 ตรี และมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 2 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถของผู้อื่นเสียหาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157 ซึ่งต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ในระหว่างเสนอสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม แต่ในระหว่างรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม ปรากฏว่าข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน จะขาดอายุความฟ้องร้องในวันที่ 3 กันยายน 2556 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 จึงมีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวนให้ส่งตัวผู้ต้องหาที่ 1 มาพบพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดี แต่ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่มาตามกำหนดนัดโดยมอบอำนาจให้ทนายความมาขอเลื่อน สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เห็นว่าผู้ต้องหาที่ 1 มีพฤติการณ์หลบหนีจึงมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการร้องขอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 แล้วจัดส่งมาให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เป็นเหตุให้ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินขาดอายุความ พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 67, 152, 157 เพราะเหตุคดีขาดอายุความ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 54(6)

ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 อัยการสูงสุดมีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 สำนัดงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 จึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้พนักงานสอบสวนส่งหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 ให้แก่พนัดงานอัยการ แต่พนักงานสอบสวนก็ไม่ดำเนินการ ทั้งผู้ต้องหาที่ 1 ก็ยื่นหนังสือขอเลื่อนการฟังคำสั่งทางคดีของพนักงานอัยการโดยตลอด จนกระทั้งวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้ส่งสำเนาหมายจับและตำหนิรูปพรรณของผู้ต้องหาที่ 1 มายังพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขอให้จัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหาที่ 1 มาฟ้องคดีภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2560 พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 ตามหมายจับมาส่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อยื่นฟ้องได้เป็นเหตุให้ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง ขาดอายุความ พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง ตามตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 เพราะเหตุคดีขาดอายุความ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 54(6)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติเรื่องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 ไปแล้วผู้ต้องหาที่ 1 ยังคงยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดอีกหลายครั้ง รวมถึงยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. 2557) ด้วย อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมอีกหลายครั้ง

ต่อมา รองอัยการสูงสุด (นายเนตร นาคสุข อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ขณะรักษาการในตำแหน่ง รองอัยการสูงสุด) พิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว มีความเห็นว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเฉพาะข้อกล่าวหาของผู้ต้องหาที่ 1 ว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 291 ตามที่อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้อง ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะกลับความเห็นและคำสั่งเดิมหรือไม่ อย่างไร ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเหตุที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 (โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้) มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ เนื่องจากได้ความจากพันตำรวจตรีธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับ แล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้ตรวจสอบยืนยันว่าการคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร (80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2522 ข้อ 1 (3) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2522 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 67 วรรคแรก การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ได้มีการสอบสวนพยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ พันตำรวจโทสมยศ แอบเนียม และพันตำรวจโทสุรพล เดชรันตวิไชย พยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจดูสภาพความเสียหายของรถทั้งสองคันเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเฉี่ยวชนในคดีอื่นแล้วต่างให้การประเมินความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ผู้ห้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่ ว่าไม่ใช่ความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจากการสอบสวนของศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ (เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560) ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้ความว่า ความเร็วของรถยนต์ Ferrari FF ก่อนเกิดเหตุ จะได้ความเร็วประมาณ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของพันตำรวจโทสมยศที่ตรวจร่องรอยความเสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว สันนิษฐานว่ารถทั้งสองคันแล่นน่าจะแล่นด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเห็นของพันตำรวจโท ธนสิทธิ แตงจั่น (ยศในขณะให้การเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559) ว่าจากการคำนวณหาความเร็วโดยวิธีใหม่ได้ความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ประมาณ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมา เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีกและมีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมคือ พลอากาศโทจักรกฤช ถนอมกุลบุตร และจารุชาติ มาดทอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ได้ความว่าพยานทั้งสองขับรถยนต์แล่นตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปรากฏในภาพวงจรปิด) ให้การว่าผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 50 – 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อพยานทั้งสองปากเป็นประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคดี ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 3 ชิดเกาะกลางถนนด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีนายจารุชาติ มาดทอง ขับรถยนต์กระบะแล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 2 ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 1 (ด้านซ้าย) แล้วผู้ต้องหาที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องทางที่ 1 ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 ที่นายจารุชาติขับรถมา นายจารุชาติชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายมือเพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา แต่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาได้แล่นเข้าไปในช่องทางเดินรถที่ 3 ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาชนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถเข้าไปในช่องทางเดินรถที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาเพื่อความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะกระชั้นชิดทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 2 ที่เปลี่ยนช่องทางเดินทางรถในระยะกระชั้นชิด การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกลับความเห็นและคำสั่งเดิมตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 6 วรรคท้าย, 45

อนึ่ง ฝ่ายผู้ต้องหาที่ 2 (ผู้ตาย) ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายผู้ต้องหาที่ 1 จนเป็นที่พอใจ และไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ต้องหาที่ 1 อีกต่อไปแล้ว

จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1

ฐาน กระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4

(นายสมพงษ์ ภุชงค์โสภาพันธุ์)

อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1

ผู้สรุปย่อคำสั่ง

ข้อสังเกต

  1. ข้อเท็จจริงใหม่ว่านายวรยุทธไม่ได้ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจนนำมาสู่คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการนั้น มาจากการสืบพยานเพิ่มเติมอีกรวม 5 คน โดยพยานทั้ง 5 คนลงความเห็นว่ารถยนต์ที่นายวรยุทธขับขี่ไม่ได้แล่นด้วยความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกอบด้วยพยานขณะเกิดเหตุการณ์ (ประจักษ์พยาน) และผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่
    1. พลอากาศโทจักรกฤช ถนอมกุลบุตร (พยานในเหตุการณ์)
    2. จารุชาติ มาดทอง (พยานในเหตุการณ์) Update เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563
    3. พันตำรวจโทสมยศ แอบเนียม (ผู้เชี่ยวชาญ)
    4. พันตำรวจโทสุรพล เดชรันตวิไชย (ผู้เชี่ยวชาญ)
    5. ศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม (ผู้เชี่ยวชาญ)
  2.  คดีนี้ใช้คำว่า ‘ผู้ต้องหา’ แทนที่จะใช้คำว่า ‘จำเลย’ เพราะตามกฎหมายแล้วจะเรียกบุคคลใดว่า ‘จำเลย’ ได้ก็ต้องเมื่อมีการรับฟ้องคดีในศาลแล้วเท่านั้น เมื่อคดีนี้ไม่มีการฟ้องคดีเกิดขึ้นในศาลจึงคงใช้คำว่า ‘ผู้ต้องหา’ เท่านั้น
app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)