เทคนิคการเลือกกองทุนลดหย่อนภาษี RMF

กองทุนรวม

กองทุน RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) แม้จะเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็มีเป้าหมายไว้เพื่อการลงทุนและการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาว ดังนั้น การลดหย่อนภาษีนั้นเป็นแค่เรื่องรองเท่านั้น ถ้าเราตั้งเป้าหมายผิดก็อาจได้ผลประโยชน์ไม่เต็มที่ เทคนิคการเลือกกองทุนลดหย่อนภาษี RMF จึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียภาษีควรทราบด้วย

เป้าหมายหลักที่ควรมีเมื่อลงทุนในกองทุนรวม RMF

เทคนิคการเลือกกองทุนลดหย่อนภาษี RMF เบื้องต้น คนส่วนใหญ่จะสนใจลดหย่อนภาษีจนไม่ได้ดูถึงการเลือกกองทุนที่ดีในระยะยาว ก็จะทำให้เราพลาดผลตอบแทนแบบ 2 ต่อ คือแทนที่จะได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน + เงินเหลือจากการลดหย่อนภาษี ก็กลายเป็นขาดทุนเงินลงทุน และลามไปถึงขาดทุนเงินที่ลดหย่อนภาษี เช่น สมมติว่าประหยัดภาษีได้ 10% แต่ต้องมาขาดทุนเงินต้นจากการลงทุนในกองทุน RMF ไป 15% ก็คงไม่คุ้มค่าแน่นอน

ดังนั้น ถ้าเราคิดว่าเราอยากสะสมเงินเกษียณเพิ่มเติมนอกจากเงินสะสมจากการทำงาน เช่น ประกันสังคม หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) หรือ กบข. (ถ้ามี) ซึ่งหากสะสมแค่ 2 อย่างนี้ไม่พอ การลงทุนใน RMF เพิ่มเติมก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้

ดังนั้น ถ้าหากเราสามารถวางแผนการลงทุนได้ชัดเจนและถูกต้องตามเป้าหมาย และใช้การลดหย่อนภาษีเป็นตัวเสริมสิทธิประโยชน์ไปด้วยกัน ผมเชื่อครับว่า การลงทุนของเราจะถูกต้องและประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเลยครับ


หลักการเลือกกองทุน RMF

คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าการเลือกกองทุนที่ดีต้องคำนึงถึงอะไรกันบ้าง เพื่อที่จะได้กองทุนที่ถูกใจ และถูกกองทุนด้วย

1. หากองทุนผลตอบแทนดีสม่ำเสมอที่เราพอใจ

แน่นอนว่า ผลตอบแทนของกองทุนนั้น เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างที่ผมได้บอกมาก่อนหน้านี้ว่า ถ้าเราได้ผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมา แต่มาขาดทุนผลตอบแทนก็คงไม่คุ้มค่าเป็นแน่ครับ ดังนั้น เราเองก็ต้องพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนด้วยนะครับ โดยเราควรจะพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลัง 3-5 ปี เป็นหลัก ถึงแม้ผลตอบแทนย้อนหลังจะไม่ได้ยืนยันผลตอบแทนในอนาคต แต่ก็พอจะตอบได้บ้างว่า กองทุนที่ผลตอบแทนย้อนหลังที่ดีในระยะยาว ๆ จะมีแนวโน้มที่จะทำผลตอบแทนที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง

2. ลงทุนในความเสี่ยงที่เรารับได้

ความเสี่ยง เป็นของคู่กันกับผลตอบแทน แต่เราไม่ค่อยจะพิจารณามันเสียเท่าไหร่ ซึ่งในความเป็นจริง เราอาจจะต้องนึกถึงเรื่องนี้ก่อนข้อแรกเสียด้วยซ้ำ

สำหรับผู้รับความเสี่ยงได้น้อยสามารถเลือกลงทุนกับกองทุน RMF ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ หรือ RMF ที่เป็นกองทุนผสมระหว่างตราสารหนี้ กับ หุ้น จะดีกว่า

กองทุน RMF นั้น เราสามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย หรือจะผสมหุ้นต่างประเทศ หรือ จะลงทุนในอสังหาฯ ก็ได้ โดยอาจจะมีทองคำผสมเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยประมาณ 5-10% ของเงินลงทุนทั้งหมด ก็น่าจะเหมาะจะเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ

หรือ เราอาจจะใช้กลยุทธ์ หรือ วิธีการลงทุนแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความผันผวนได้ เช่น เราอาจจะจัดพอร์ต/จัดสัดส่วนในการลงทุน โดยจัดสรรเงินตามความเสี่ยงที่เรารับได้ หรือจะทยอยลงทุนทุกเดือน ก็สามารถลดความผันผวน ได้เช่นกัน

3. สไตล์การลงทุน หรือ แนวทางการจัดการกองทุนของแต่ละ บลจ.

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอีกประการที่คนมักจะมองข้าม และไม่รู้ว่าแต่ละ บลจ. นั้นจะมี นโยบายการลงทุน การจัดการความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกันเลย มีหลากหลายสไตล์

ซึ่งเราเองก็ต้องเลือกให้เหมาะกับนิสัย หรือ ความชอบของนักลงทุนด้วย เพราะว่าจะทำให้เราลงทุนกับกองทุนแล้วสบายใจ เวลาลงทุนไปแล้วจะได้ไม่เครียด นอนหลับได้สบายใจมากขึ้น โดยไม่ต้องไปทะเลาะกับผู้จัดการกองทุนภายหลังว่าทำไม ไม่ขายตัวนั้น ตัวนี้ หรือ ซื้อหุ้นตัวนั้นที่กำลังขึ้นสิ

นักลงทุนที่ชอบความหวือหวา ก็อาจจะเลือกกองทุนที่เน้นเทคนิค ซื้อมา-ขายไปอย่างรวดเร็ว หรือ บางคนอาจจะชอบกองทุนที่เลือกหุ้นสไตล์พื้นฐานดี ถือกันไปนาน ๆ หรือ บางคนอาจจะชอบกองทุนที่มีการจัดการกองทุนที่เป็นระบบ โปร่งใส ทำให้มีความเสี่ยงต่ำ ก็สามารถเลือกกันได้ตามใจเลยครับ

4. สุดท้ายคือ ค่าธรรมเนียม ต้องสมเหตุสมผล

นักลงทุนจำนวนมากไม่ทราบว่าค่าธรรมเนียมกองทุนลดหย่อนภาษี RMF จะสูงกว่าค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมทั่วๆ ไป ดังนั้น ประเด็นค่าธรรมเนียมจึงควรเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องพิจารณาด้วย เพราะเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งด้วย หากลงทุนนาน ๆ ค่าธรรมเนียมที่เก็บระหว่างการลงทุนทุก ๆ วัน ที่หักจากหน่วยลงทุนก็ยิ่งมีผลทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เศรษฐกิจขาลงและกองทุนได้รับผลตอบแทนลดลง

ดังนั้น ค่าธรรมเนียมจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนเองก็คงต้องพิจารณาเป็นพิเศษ แต่คิดเผื่อด้วยว่าค่าธรรมเนียมถูกแล้วบริหารไม่ดี ก็ไม่ควรเลือกกองทุนลักษณะนี้เช่นกัน


สรุป

  • ซื้อ RMF ทั้งที ได้ลดภาษีแล้ว ต้องได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย
  • เลือก RMF หากต้องการวางแผนเกษียณ เมื่อได้ลงทุน ตามแผนเกษียณครบตามเป้าหมาย
  • หากองทุนผลตอบแทนดีสม่ำเสมอที่เราพอใจ (ผลตอบแทนต้องสม่ำเสมอ 3-5 ปี) ดู 5 กองทุนแนะนำได้ที่ iTAX shop 
  • ลงทุนในความเสี่ยงที่เรารับได้ เพราะว่าการลงทุนในกองทุนต้องใช้เวลานาน ถ้าผันผวนเกินกว่าที่จะรับได้ การขายกองทุนออกไปก่อน อาจจะทำให้พลาดผลตอบแทนที่ดี
  • เข้าใจสไตล์การลงทุน หรือ แนวทางการจัดการกองทุนของแต่ละ บลจ. เพราะว่าการเข้าใจสิ่งที่ลงทุนอยู่ จะทำให้นักลงทุนเองมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น จะทำความเสี่ยงลดลงไปได้เยอะมาก
  • สุดท้ายคือ ค่าธรรมเนียม ต้องสมเหตุสมผล คืออาจจะเลือกกองทุนที่ค่าธรรมเนียมแพงได้ แต่ต้องให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เนื่องจากค่าธรรมเนียม ในการบริหารกองทุนนั้น จะถูกเก็บในราคาหน่วยลงทุนทุกวัน ถ้าหากลงทุนระยะยาว จะมีผลต่อผลตอบแทนโดยรวมได้
app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)