หลังจากที่เราได้พูดถึงเงินเดือนและสวัสดิการที่ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กันไปในรอบที่แล้ว ครั้งนี้เราจะพาผู้เสียภาษีไปดูเงินเดือนและสวัสดิการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะได้รับกันบ้าง มาดูกันดีกว่าว่า ผู้แทนราษฎรที่เราเลือกให้เป็นตัวแทนของเราในสภานั้น ได้รับเงินเดือนกันเท่าไหร่? และได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง
รู้จัก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เบื้องต้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรไทยประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน โดยแบ่งเป็น
- สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 350 คน
- สมาชิกที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง 150 คน
โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
หน้าที่ของ ส.ส.
ส.ส. มีหน้าที่โดยตรงในทางนิติบัญญัติ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ด้วยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วย อาทิ
- การให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
- การตั้งกระทู้ถาม หรือ การเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี เป็นต้น
ส.ส. กับผลตอบแทนที่จะได้รับ
สำหรับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ ส.ส. จะได้รับสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
ตำแหน่ง |
อัตราเงินเดือน |
เงินประจำตำแหน่ง |
รวมทั้งหมด |
ประธานสภาผู้แทนราษฎร |
75,590 |
50,000 | 125,590 |
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร | 73,240 | 42,500 | 115,740 |
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร | 73,240 | 42,500 | 115,740 |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | 71,230 | 42,330 | 113,560 |
ส.ส. กับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
สำหรับการเบิกค่าเดินทางของ ส.ส. นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ
1. การเดินทางมาประชุมรัฐสภา
ในกรณีที่ ส.ส. พักอาศัยอยู่นอกจังหวัดที่ตั้งรัฐสภา ส.ส. จะได้รับค่าพาหนะในการเดินทางจากจังหวัดที่อาศัยอยู่เพื่อเข้าประชุมที่รัฐสภาได้ แต่มีข้อแม้ว่า จะสามารถเบิกค่าเดินทางในการเข้ามาประชุมได้เพียงครั้งแรกที่เดินทางเข้ารัฐสภาเพื่อมารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะคำนวณตามระยะทางของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเท่านั้น และสามารถรับค่าพาหนะในการเดินทางจากรัฐสภากลับไปจังหวัดที่อาศัยอยู่ได้ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วเท่านั้น
สำหรับ ส.ส. ที่เข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะต้องจัดใบเบิกค่าเดินทางให้แก่ ส.ส. เพื่อใช้สำหรับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- ค่าโดยสารรถไฟ : มีผู้ติดตามได้ 1 คนในชั้นเดียวกัน
- รถยนต์ประจำทาง : มีผู้ติดตามได้ 1 คนในชั้นเดียวกัน
- เครื่องบิน
สำหรับการเดินทางกลับเมื่อประชุมสภาเสร็จแล้ว ส.ส. หรือคณะกรรมาธิการ ที่เดินทางโดยรถยนต์หรือพาหนะส่วนตัว สามารถขอรับสิทธิเงินชดเชยค่าพาหนะในการเดินทางได้ตามประกาศกำหนดสำหรับราชการของกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ : การเบิกค่าเดินทางไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์ประจำทางนั้น สงวนสิทธิ์เฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
2. การเดินทางไปราชการต่างประเทศ
ในกรณีที่ ส.ส. นั้นต้องเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ส.ส. สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ก็ต่อเมื่อมีหนังสืออนุมัติจากประธานรัฐสภา หรือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดให้
- ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับนายกรัฐมนตรี คือ สามารถเบิกค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศได้ตามที่จ่ายจริง
- รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับรองนายกรัฐมนตรี คือ สามารถเบิกค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศได้ตามที่จ่ายจริง
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง โดยสามารถเบิกค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศได้ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปราชการเป็นหมู่คณะ หรือเดินทางไปราชการคนเดียว แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไข
- กรณีเดินทางไม่เกิน 15 วัน สามารถเบิกจ่ายค่าเดินทางได้ไม่เกิน 67,000 บาท
- กรณีเดินทางเกิน 15 วัน สามารถเบิกจ่ายค่าเดินทางได้ไม่เกิน 100,000 บาท
(อ้างอิง ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550)
สวัสดิการรักษาพยาบาลของ ส.ส.
พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานและรองประธานวุฒิสภา, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ ได้แก่
- เงินชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการตรวจสุขภาพประจำปี
- การรักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน
- การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล
และสามารถนำหลักฐานการขอเบิกเงิน หรือหลักฐานการจ่ายเงิน ให้นำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกได้ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ออกใบเสร็จรับเงิน ส่วนในกรณีที่หลักฐานการจ่ายค่ารักษาพยาบาลหายก็สามารถเบิกได้ตามปกติ ตามระเบียบของทางราชการ
สิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ข้อที่ | รายละเอียดค่ารักษาพยาบาล | จำนวนเงินไม่เกิน (บาท) | หมายเหตุ |
1 | การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของราชการและเอกชน | ||
1.1 กรณีรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน | |||
1.1.1 ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) | 4,000 | รวมค่าบริการการพยาบาล | |
– ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู./ซี.ซี.ยู./วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) | 10,000 | ไม่รวมค่าผ่าตัด | |
1.1.2 ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง | 100,000 | ||
– ค่ารถพยาบาล | 1,000 | ||
1.1.3 ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง | 120,000 | รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด เช่น ค่าแพทย์ผ่าตัด ค่าวิสัญญีแพทย์ ค่าใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในห้องผ่าตัด ค่าเครื่องมือดมยา ค่าผ่าตัดด้วยกล้อง เป็นต้น | |
1.1.4 ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) | 1,000 | ||
1.1.5 ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง | 4,000 | ||
1.1.6 การคลอดบุตร | |||
– คลอดธรรมชาติ | 20,000 | ||
– คลอดโดยการผ่าตัด | 40,000 | ||
1.1.7 การรักษาทันตกรรม/ปี | 5,000 | ||
1.2 กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก | |||
– ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี | 90,000 | รวมการรักษาภายใน | |
– อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน/ครั้ง | 20,000 | 15 วัน ไม่รวมกับค่าใช้จ่ายทั่วไป | |
2 | การตรวจสุขภาพประจำปี | 7,000 |
ทั้งหมดนี้คือ เงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ที่ ส.ส. ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะได้รับ และหากมีประกาศสวัสดิการและเงินเดือนที่อาจจะเพิ่มในอนาคต ทีมงาน iTAX จะรีบอัปเดตให้ผู้เสียภาษีได้ทราบต่อไป
ข้อมูลจาก