เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่?

ทั่วไป

เงินบำนาญชราภาพ เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 (ผู้ที่ทำงานประจำ) สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยสามารถติดต่อขอเลือกรับสิทธิเงินชราภาพ ในรูปแบบเงินบำเหน็จชราภาพหรือเงินบำนาญชราภาพ (แล้วแต่กรณี) ตามเงื่อนไขและระยะเวลาการส่งเงินสมทบกรณีชราภาพที่ได้ออมไว้ขณะเป็นผู้ประกันตน

เงินบำนาญชราภาพ ของผู้ประกันตน

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับ เงินบำนาญชราภาพ

  • ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป (หรือประมาณ 15 ปี)
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (เช่น ออกจากงาน)

ประกันสังคมจ่าย เงินบำนาญชราภาพ เท่าไหร่?

สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็น “รายเดือน” โดยจะจ่ายให้ผู้ประกันตน “ตลอดชีวิต” ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะคำนวณจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ต้องจ่ายรายเดือนดังนี้

วิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ

กรณีจ่ายครบ 180 เดือน (15 ปี)

คำนวณจาก 20% ของค่าจ้างเฉลี่ยช่วง 60 เดือนสุดท้าย (5 ปี) ก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยจะคำนวณโดยใช้ฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (ฐานค่าจ้างต่ำสุด 1,650 บาท)

สูตรคำนวณกรณีจ่ายครบ 180 เดือน = (20 x อัตราค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย) ÷ 100

เช่น หากคุณอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ไปแล้ว และได้รับเงินเดือนเฉลี่ยช่วง 5 ปีล่าสุด เกิน 15,000 บาท จะใช้ฐานเงินเดือน 15,000 บาท สำหรับคำนวณเงินบำนาญชราภาพ โดยจะจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้สูงสุดเดือนละ 3,000 บาทให้ผู้ประกันตนไปตลอดชีวิต

กรณีจ่ายเกิน 180 เดือน (เกิน 15 ปี)

คำนวณจาก 20% ของค่าจ้างเฉลี่ยช่วง 60 เดือนสุดท้าย (5 ปี) ก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยจะคำนวณโดยใช้ฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (ฐานค่าจ้างต่ำสุด 1,650 บาท) เช่นกัน และจะได้รับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญให้อีก 1.5% ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือนที่เกิน 60 เดือนแรก (ได้รับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย + 1.5% ทุกๆ 1 ปีที่เกิน 5 ปี)

สูตรคำนวณกรณีจ่ายเกิน 180 เดือน = [20 + (1.5 x จำนวนปีส่วนเกิน 180 เดือน) x อัตราค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย] ÷ 100

เช่น หากคุณอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ไปแล้ว จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี และได้รับเงินเดือนเฉลี่ยช่วง 5 ปีล่าสุด เกิน 15,000 บาท จะใช้ฐานเงินเดือน 15,000 บาท สำหรับคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ทำให้อัตราเงินบำนาญชราภาพสำหรับกรณีนี้ คือ 20% + (1.5% x 15 ปี) = 27.5% โดยจะจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้สูงสุดเดือนละ 4,125 บาท (ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 x 27.5%) ให้ผู้ประกันตนไปตลอดชีวิต

ตารางสรุปเงินบำนาญชราภาพตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ

กรณีผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพและได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายในอัตรามากกว่าเดือนละ 15,000 บาท จะสามารถคำนวณเงินบำนาญชราภาพที่ตนจะได้รับ ดังนี้

ระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ อัตราร้อยละของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับต่อเดือน
ไม่ครบ 15 ปี ไม่มีสิทธิ์ได้รับ ไม่มีสิทธิ์ได้รับ
15 ปี 20% ฿3,000
16 ปี 21.5% ฿3,225
17 ปี 23% ฿3,450
18 ปี 24.5% ฿3,675
19 ปี 26% ฿3,900
20 ปี 27.5% ฿4,125
21 ปี 29% ฿4,350
22 ปี 30.5% ฿4,575
23 ปี 32% ฿4,800
24 ปี 33.5% ฿5,025
25 ปี 35% ฿5,250
26 ปี 36.5% ฿5,475
27 ปี 38% ฿5,700
28 ปี 39.5% ฿5,925
29 ปี 41% ฿6,150
30 ปี 42.5% ฿6,375
31 ปี 44% ฿6,600
32 ปี 45.5% ฿6,825
33 ปี 47% ฿7,050
34 ปี 48.5% ฿7,275
35 ปี 50% ฿7,500

หมายเหตุ

กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน (5 ปี) นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ทายาทจะมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

เช่น หากผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ เดือนละ 3,000 บาท แต่เสียชีวิตภายใน 5 ปีนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในกรณีนี้ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 30,000 บาท

เงินบำเหน็จชราภาพ ของผู้ประกันตน (กรณีส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี)

สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน (15 ปี) แม้จะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ แต่ก็สามารถขอรับเงินบำเหน็จชราภาพจากสำนักงานประกันสังคมได้

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับ เงินบำนาญชราภาพ

  • ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือนขึ้นไป (ไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์)
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (เช่น ออกจากงาน)

ประกันสังคมจ่าย เงินบำเหน็จชราภาพ เท่าไหร่?

สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็น “เงินก้อนครั้งเดียว” ให้ผู้ประกันตน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะคำนวณจำนวนเงินบำเหน็จชราภาพที่ต้องจ่ายดังนี้

วิธีคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ

กรณีจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน (ไม่ถึง 1 ปี)

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินดังต่อไปนี้

  • เงินออมชราภาพของผู้ประกันตนฝ่ายเดียว
กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 12-179 เดือน (ครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี)

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินดังต่อไปนี้

  • เงินออมชราภาพของผู้ประกันตน
  • เงินสมทบนายจ้าง และ
  • ผลประโยชน์ตอบแทน ตามยอดเงินชราภาพ

ช่องทางสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์เงินชราภาพและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้ประกันตน

  • สายด่วน 1506 บริการตลอด 24 ชั่วโมง
  • เว็บไซต์ www.sso.go.th
  • ไลน์ LINE OFFICIAL ACCOUT: @ssothai
  • สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ใกล้บ้าน
app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)