เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 Facebook กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ได้เปิดเผยตัวเลขเงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมือง ที่ผู้เสียภาษีได้ทำการบริจาคให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ ส่วนพรรคไหนจะได้รับเงินจากผู้เสียภาษีไปเท่าไหร่ iTAX รวมมาให้แล้ว
ทบทวนที่มาของ การอุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมือง
การอุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมือง หรือ การบริจาคภาษีที่ชำระให้แก่พรรคการเมือง คือสิทธิที่ผู้เสียภาษีสามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่า อยากให้ส่วนหนึ่งของเงินภาษีที่จ่ายไปนั้น ถูกนำไปสนับสนุนพรรคการเมืองใด โดยคุณสามารถเลือกบริจาคภาษีได้ตามความพอใจของตัวผู้เสียภาษีเอง (เลือกได้เพียง 1 พรรคการเมืองเท่านั้น) และในขณะเดียวกัน คุณสามารถเลือกที่จะไม่อุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมืองได้เช่นกัน
เรื่องที่มักจะเข้าใจผิดบ่อย
หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า หากเราเลือกที่จะอุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมือง จะทำให้เราต้องเสียภาษีเงินได้ประจำปีมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว
ไม่ว่าคุณจะเลือกบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองหรือไม่ ย่อมไม่มีส่วนทำให้คุณเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด
เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ผู้เสียภาษีที่มีความประสงค์บริจาคเงินภาษีอุดหนุนพรรคการเมือง สามารถบริจาคเงินอุดหนุนนักการเมืองได้ภายในวงเงินภาษีที่ต้องเสีย และอุดหนุนได้ไม่เกิน 500 บาท โดยสามารถทำการบริจาคเงินภาษีเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง ผ่านการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีเท่านั้น
ปีภาษี 2560 พรรคการเมืองไหน รับเงินจากผู้เสียภาษีมากที่สุด
สำหรับข้อมูลเงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมืองที่ กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ได้เปิดเผย iTAX พบว่า ในปีภาษี 2560 มีผู้เสียภาษีแจ้งความประสงค์อุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมืองทั้งหมด 33 พรรค รวมเป็นเงินทั้งหมด 5.287 ล้านบาท ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนเงินภาษีจากผู้เสียภาษี เรียงตามลำดับได้ดังต่อไปนี้
อันดับ | พรรคการเมือง | เงินสนับสนุน (บาท) |
1 | พรรคประชาธิปัตย์ | 4,080,500 |
2 | พรรคเพื่อไทย | 812,100 |
3 | พรรคเสรีรวมไทย | 83,900 |
4 | พรรคครูไทยเพื่อประชาชน | 48,500 |
5 | พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย | 41,800 |
6 | พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย | 33,100 |
7 | พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย | 27,700 |
8 | พรรคภูมิใจไทย | 21,500 |
9 | พรรคชาติไทยพัฒนา | 20,000 |
10 | พรรคอนาคตไทย | 14,800 |
11 | พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน | 14,800 |
12 | พรรคประชากรไทย | 13,300 |
13 | พรรคชาติพัฒนา | 11,200 |
14 | พรรคแทนคุณแผ่นดิน | 9,700 |
15 | พรรคความหวังใหม่ | 7,900 |
16 | พรรคพลังคนกีฬา | 7,300 |
17 | พรรคเพื่อแผ่นดิน | 7,000 |
18 | พรรคประชาธิปไตยใหม่ | 5,600 |
19 | พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย | 4,900 |
20 | พรรคพลังสหกรณ์ | 3,500 |
21 | พรรคไทรักธรรม | 2,900 |
22 | พรรคมหาชน | 2,300 |
23 | พรรครักท้องถิ่นไท | 2,300 |
24 | พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล | 1,800 |
25 | พรรคเพื่อธรรม | 1,600 |
26 | พรรคพลังประชาธิปไตย | 1,300 |
27 | พรรครักษ์ธรรม | 1,100 |
28 | พรรคเพื่อชีวิตใหม่ | 1,100 |
29 | พรรคภราดรภาพ | 900 |
30 | พรรคพลังไทยรักชาติ | 900 |
31 | พรรคพลังท้องถิ่นไท | 700 |
32 | พรรคเพื่อชาติ | 600 |
33 | พรรคผึ้งหลวง | 400 |
สถิติการอุดหนุนเงินภาษีแก่พรรคการเมือง ระหว่างปีภาษี 2559 และ 2560
ปีภาษี 2559 | ปีภาษี 2560 | ||||
อันดับ | พรรคการเมือง | เงินสนับสนุน | อันดับ | พรรคการเมือง | เงินสนับสนุน |
1 | ประชาธิปัตย์ | 5,781,800 | 1 | พรรคประชาธิปัตย์ | 4,080,500 |
2 | เพื่อไทย | 1,048,400 | 2 | พรรคเพื่อไทย | 812,100 |
3 | เพื่อฟ้าดิน | 137,400 | 3 | พรรคเสรีรวมไทย | 83,900 |
4 | เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย | 56,800 | 4 | ครูไทยเพื่อประชาชน | 48,500 |
5 | ครูไทยเพื่อประชาชน | 55,700 | 5 | รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย | 41,800 |
รวม | 69 พรรค | 7,605,200 ล้านบาท | รวม | 33 พรรค | 5.287 ล้านบาท |
หมายเหตุ
- ในปีภาษี 2559 พรรคเสรีรวมไทย ได้รับการอุดหนุนเงินภาษี จำนวน 46,300 บาท
- ในปีภาษี 2559 พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (ชื่อเดิม พรรคทวงคืนผืนป่าแก่ประเทศไทย) ได้รับเงินอุดหนุนภาษี จำนวน 52,600 บาท
- เนื่องจากในปีภาษี 2560 มีพรรคการเมืองเพียง 33 พรรค (จากทั้งหมด 69 พรรค) ที่ดำเนินการถูกต้องตาม คำสั่งคสช. ที่ 13/2561 จึงเป็นเหตุให้จำนวนพรรคการเมืองที่ได้รับเงินอุดหนุนภาษีมีจำนวนลดลง
- พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นภายหลังปีภาษี 2560 ถือเป็นพรรคการเมืองที่ยังไม่เข้าระบบ จึงเป็นสาเหตุให้ไม่ได้รับเงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมืองของรอบปีภาษี 2560
ย้ำอีกครั้งว่า
การบริจาคเงินภาษีเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ผู้เสียภาษีชื่นชอบนั้น ไม่ได้มีส่วนทำให้ ผู้เสียภาษีต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการสมทบทุนเพื่อกิจกรรมของพรรคการเมืองเท่านั้น และหากท่านต้องการทราบสถิติเงินภาษีสนับสนุนพรรคการเมืองย้อนหลัง ตั้งแต่ปีภาษี 2551 – ปีภาษี 2559 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ สถิติบริจาคเงินภาษีพรรคการเมือง
ข้อมูลจาก