เครดิตเทอม สูงสุดไม่เกิน 30-45 วัน ห้ามเอาเปรียบรายเล็ก มีผลบังคับใช้ 16 ธันวาคม 2564 กขค. ขอผู้ประกอบการธุรกิจศึกษาไกด์ไลน์และเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามที่กำหนด ฝ่าฝืนโดนปรับ 10% ของรายได้
เริ่ม 16 ธ.ค. 64 ห้ามกำหนด ‘เครดิตเทอม’ เกิน 30-45 วัน
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ มีผลบังคับใช้ 16 ธันวาคม 2564 นี้ เอกชน ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมทำความเข้าใจ ก่อนจะบังคับใช้ตามกฎหมาย
โดยนายสันติชัย สารถวัลแพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า กขค. ออกประกาศ เรื่องแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้า หรือบริการ หรือไกด์ไลน์ Credit Term ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 นี้ ทั้งนี้ กขค. ได้ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามที่ไกด์ไลน์กำหนด
ไกดไลน์การกำหนด เครดิตเทอม ที่ถูกต้อง ฝ่าฝืนถูกปรับ 10% ของรายได้
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจหน้าท่ีในการกำกับดูแลธุรกิจ ให้มีความเป็นธรรมทางการค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีโอกาสถูกเอาเปรียบจากการมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า อันอาจทำให้ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจให้กับ SMEs อย่างยั่งยืน เห็นสมควรกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) ที่เหมาะสมเป็นระยะเวลา 30 ถึง 45 วัน ให้กับ SMEs ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้มีการชี้แจงรายละเอียดของประกาศฯ ให้กับผู้ประกอบธุรกิจทราบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีประเด็นคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติเช่นกัน จึงอยากทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ให้ผู้ประกอบธุรกิจได้ทราบเป็นแนวปฏิบัติ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจให้เตรียมความพร้อมก่อนที่ประกาศ จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ดังนี้
1. ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามประกาศฯ
ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจทุกรายในภาคการผลิต การค้าและบริการ ซึ่งครอบคลุมผู้ซื้อทั้งผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ประกอบธุรกิจ SMEs
2. หลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ประกอบธุรกิจ SMEs
- กรณีการผลิตสินค้า ต้องมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาท
- กรณีการให้บริการ กิจการค้าส่ง หรือกิจการค้าปลีก ต้องมีการจ้างงานไม่เกิน 100 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 300 ล้านบาท
โดยแนวทางในการพิจารณาเมื่อเข้าองค์ประกอบการจ้างงาน หรือรายได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ตามประกาศ
3. การกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term)
- กรณีเป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป กำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 45 วัน
- กรณีสินค้าเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 30 วัน
การเริ่มนับระยะเวลา จะพิจารณาเมื่อมีการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ครบถ้วนถูกต้องตามจำนวน ประเภท คุณภาพและมาตรฐานของสินค้าหรือบริการที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ โดยมีการตรวจรับเรียบร้อย และส่งมอบเอกสารครบถ้วน เช่น ใบแจ้งหนี้ (Invoice) ที่มีใบกำกับภาษีการลงนามถูกต้อง หรือใบส่งมอบสินค้า (D/O) ที่มีการลงนาม รับสินค้าหรือบริการแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งตามการค้าปกติที่เคยปฏิบัติกันมา
4. การชำระสินเชื่อการค้า (Credit Term)
- กรณีผู้ซื้อสินค้า หรือบริการ ต้องแสดงรายละเอียดและขั้นตอนการจ่ายเงินให้ชัดเจน โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการชำระเงินเช่น ระบบการวางบิล รอบวันการวางบิล ระบบบัญชี เพื่อให้สามารถชำระสินเชื่อการค้าได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ
- กรณีผู้ขายสินค้าหรือบริการที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ต้องแสดงหลักฐานจำนวนการจ้างงานหรือเอกสารแสดงรายได้ต่อปี เช่น งบการเงินที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การชำระหนี้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากร เอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคม หรือเอกสารอื่นใดที่หน่วยงานราชการยอมรับว่าเป็น SMEs หากไม่มีจริง ๆ สามารถใช้เอกสารจ้างงานหรือรายได้ที่จัดทำขึ้นเองและรับรองความถูกต้องของเอกสารให้แก่คู่ค้าตามที่ตกลงกัน เป็นต้น
- อย่างไรก็ดีอาจมีการตกลงยกเว้นไม่ต้องแสดงเอกสารใด ๆ ก็ได้ หากคู่ค้าเชื่อถือและยอมรับหรือมีวิธีการตรวจสอบของตนอยู่แล้ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะเผยแพร่คำอธิบายไกด์ไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจชัดเจนและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องนอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีเกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) ได้แก่
- การประวิงเวลาการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการเกินกว่าระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าหรือเงื่อนไขอื่นภายใต้สัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- พฤติกรรมอื่น ๆ อันเป็นการบังคับโดยผู้ประกอบธุรกิจรายใดซึ่งเป็นคู่ค้ากับ SMEs อย่างไม่เป็นธรรม
บทลงโทษ
หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีการกระทำผิดตามประกาศฯ จะมีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
ช่องทางร้องเรียน
หากพบผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้ตามช่องทางต่อไปนี้
- โทรศัพท์ 02-199-5444
- อีเมล์ [email protected]
- เว็บไซต์ www.otcc.or.th