กกต. มาจากไหน?
คุณสมบัติหลักๆ ของการเป็น กกต. คือ ต้องไม่เป็นข้าราชการมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ดำรงตำแหน่งใดๆ ก็ตามในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งบันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด และจะต้องไม่ประกอบวิชาชีพอิสระใดๆ
และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันทั้ง 7 คน มีที่มาจากการรับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ โดยผ่านความเห็นชอบให้เป็น กกต. จาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี พ.ศ. 2561 (ข้อมูลจาก workpointnews.com)
อำนาจและหน้าที่ของ กกต.
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของ กกต. ไว้ว่า
- กกต. มีหน้าที่ดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว. ครอบคลุมถึง การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ
- กกต. มีหน้าที่ควบคุมและดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและยุติธรรม ควบคุมการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจสืบสวนหรือไต่สวนได้
- เมื่อผลการสืบสวน หรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุให้สงสัยว่าการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติไม่สุจริต กกต. สามารถสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง รวมถึง มีอำนาจในการสั่งยกเลิกหรือสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้ง หรืออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วย หรือ ทุกหน่วยได้
- กกต. สามารถสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ในกรณีที่พบหลักฐานว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง
- กกต. มีหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
- รวมถึงอำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด
งบประมาณ กกต. มาจากไหน?
งบประมาณ กกต. ที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง มาจากช่องทางดังนี้
- เงินอุดหนุนที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (งบประมาณแผ่นดิน a.k.a ภาษีประชาชน )
- รายได้จากค่าธรรมเนียมหรือทรัพย์สินของสำนักงาน กกต.
- ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงาน กกต. **ทรัพย์สินที่ได้รับจะต้องนึกถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่เป็นหลัก
- ดอกผลหรือผลประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินของสำนักงาน กกต.
และเมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณสำนักงาน กกต จะต้องทำรายงานรายรับ – รายจ่าย เสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี (อ้างอิงข้อมูลจาก www.ect.go.th )
เงินเดือน กกต. ชุดล่าสุด
อ้างอิงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 28 ธันวาคม 2561 (www.ratchakitcha.soc.go.th)ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2561 ได้กำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของประธานและกรรมการการเลือกตั้งไว้ว่า
ตำแหน่ง |
เงินเดือน |
เงินประจำตำแหน่ง |
รวม |
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง |
81,920 |
50,000 |
131,920 |
กรรมการการเลือกตั้ง |
80,540 |
42,500 |
123,040 |
ข้อควรรู้
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และ กรรมการการเลือกตั้ง 5 คน ได้รับการแต่งตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561 และกรรมการการเลือกตั้ง 2 คน เข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันนี้ ยังได้รับการมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 28 ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
กกต. มีจุดเริ่มต้นจาก นายอานันท์ ปันยารชุน ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องการที่จะให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการสอดส่องและดูแลขั้นตอนและกระบวนการการเลือกตั้งให้เกิดความโปร่งใส สุจริต และยุติธรรม จึงมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 3/2535 ลงวันที่ 8 มกราคม 2535 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ในขณะนั้นอยู่ภายใต้ชื่อ “องค์กรกลาง” เป็นองค์กรอิสระที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเป็นหน่วยงานอิสระไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับการเลือกตั้ง และมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม