สรุป 26 คำถาม “สรรพากร” เก็บภาษีขายหุ้น ชี้แจงทุกประเด็นเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หลังกระทรวงการคลังประกาศเตรียม ภายในปี 2566
- ภาษีขายหุ้น อัตรา 0.055% ครม.เห็นชอบแล้ว คาดเริ่มปี 66
- วันหยุดธันวาคม 2565 เช็กวันหยุดยาว เดือนธันวาคม
26 คำถาม “สรรพากร” เก็บภาษีขายหุ้น (ภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์)
กรมสรรพากรตอบ 26 คำถามเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ‘ภาษีขายหุ้น’ หลังกระทรวงการคลังประกาศเตรียมจัดเก็บภาษีดังกล่าวในปี 2566 โดยมีรายละเอียดดังนี้
เหตุผลความจำเป็น “สรรพากร” เก็บภาษีขายหุ้น
1. เหตุใดต้องมีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
- ประเทศไทยได้มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีทางอ้อม (ภาษีการค้า (ในอดีต) และภาษีธุรกิจเฉพาะ) จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2525 ถึงปัจจุบัน) รวมทั้งยังได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับกําไร (Capital Gains) จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอากรแสตมป์สําหรับการขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
- ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ได้โตขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน ดังนั้น เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ําในการกระจายรายได้ จึงสมควรยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
2. เหตุใดเลือกจัดเก็บ Financial Transaction Tax (FTT) แต่ไม่เลือกจัดเก็บ Capital Gains Tax (CGT)
- การจัดเก็บ FTT หรือ CGT ต่างเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ แต่เมื่อพิจารณาหน้าที่ทางภาษีของผู้ลงทุนและ Broker ตลอดจนผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยแล้ว การจัดเก็บ FTT เหมาะสมกว่า
3. คาดการณ์ว่าจะจัดเก็บรายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะได้เป็นจํานวนเท่าไร
- ในปีแรกซึ่งมีการลดอัตราภาษีลงครึ่งหนึ่งจะจัดเก็บได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท
- ในปีต่อๆ ไปจะจัดเก็บได้ประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท
4. รายได้จากการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์จะนําไปใช้อย่างไร
นําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินซึ่งนําไปใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสําคัญแก่การจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น รายได้ ภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 16,000 ล้านบาทจะมีส่วนช่วยในการจัดทํางบประมาณเพื่อ แก้ไขป้ญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ําทางเศรษฐกิจและสังคม
5. แนวทางการจัดเก็บภาษีจากการขายหลักทรัพย์ของต่างประเทศ
- ประเทศอื่น (ในและนอกอาเซียน) มีการจัดเก็บภาษีจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ แบ่งเป็น
- จัดเก็บ FTT หรืออากรแสตมป์ (Stamp Duty: SD) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน (จัดเก็บจากรายรับจากการขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ) หรือ
- จัดเก็บ CGT (Capital Gain Tax)
- บางประเทศอาจจัดเก็บอย่างใดอย่างหนึ่งหรือจัดเก็บ 2 อย่างก็ได้
- ตัวอย่างประเทศที่จัดเก็บ FTT/SD เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน
- ตัวอย่างประเทศที่จัดเก็บ CGT เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา
- ตัวอย่าง ประเทศที่จัดเก็บ FTT/SD และ CGT เช่น สหราชอาณาจักร
ประเทศ | Financial Transaction Tax / Stamp Duty | Capital Gain Tax |
---|---|---|
Indonesia |
0.1% จากการขาย | ยกเว้น |
Vietnam |
0.1% จากการขาย | ยกเว้น |
Malaysia |
0.15% จากการขายและการซื้อ แต่ไม่เกิน 1,000 ริงกิต | ยกเว้น |
Singapore |
ยกเว้นกรณีไร้ใบหลักทรัพย์ | ยกเว้น |
Philippines |
0.6% จากการขาย | ยกเว้น |
China |
0.1% จากการขาย | ยกเว้น |
Hong Kong |
0.13% จากการขายและการซื้อ | ยกเว้น |
Japan |
ยกเว้น | อัตราคงที่ 20.315% |
South Korea |
0.23% จากการขาย | ยกเว้น |
Taiwan |
0.3% จากการขายหุ้นหรือใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น 0.1% จากการขายหุ้นกู้และหลักทรัพย์อื่นๆ |
ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 |
UK |
0.5% จากการขาย | 0%, 10% หรือ 20% |
US |
ยกเว้น |
กําไรระยะสั้น (≤ 1ปี): รวมคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราก้าวหน้า 10-37%) กําไรระยะยาว: 0%, 15% หรือ 20% |
ผลกระทบ
6. มีการศึกษาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาด หลักทรัพย์หรือไม่ อย่างไร
กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพากรศึกษาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งจากการศึกษาพบว่า
- อาจส่งผลต่อต้นทุนการทําธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้
- ต้นทุนสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% (ต้นทุนที่รวมทั้งการซื้อและการขาย)
- ต้นทุนยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ํากว่าของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% และสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย ทั้งนี้ ในปีแรก ของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนจะอยู่ที่ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์
- อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ดี จากการศึกษากรณีตัวอย่างของ ต่างประเทศ (ฝรั่งเศสและอิตาลี) หากมีผลต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะส่งผลให้สภาพคล่องลดลงในระยะสั้นเท่านั้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระยะยาว
7. การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์จะทําให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันหรือไม่
ฮ่องกง สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และไต้หวันมีการจัดเก็บ FTT/Stamp Duty แต่ตลาดหลักทรัพย์ของเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ยังเป็นตลาดหลักของโลก
8. มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่
มีการลดอัตราภาษีลงครึ่งหนึ่งในปีแรกของการจัดเก็บภาษีจาก 0.1% เหลือ 0.05% และการยกเว้นภาษีให้แก่ Market Maker และกองทุนบํานาญ
9. ผู้ลงทุนรายย่อยจะได้รับผลกระทบหรือไม่
ผู้ลงทุนทุกรายมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่า มูลค่าการขาย 95% ของมูลค่าการขายทั้งหมดเป็นของผู้ลงทุนรายใหญ่ (มีมูลค่าขายสะสม 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป) ซึ่งมีจํานวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ 11% ของจํานวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด
10. กระทรวงการคลังยังส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่หรือไม่
- แม้จะมีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังยังมีนโยบายส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
- กระทรวงการคลังยังมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นที่ส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งทางตรง และทางอ้อมหลายประการ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับ Capital Gains จาก การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ สําหรับเงินป้นผลที่ได้รับจากบริษัทอื่น การให้บุคคลธรรมดาหักลดหย่อนค่า ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น
หลักการจัดเก็บภาษี
11. การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์จัดเก็บจากอะไร
เป็นการจัดเก็บจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ มิใช่จากกําไรจากการขาย (Capital Gains) โดย จัดเก็บในอัตรา 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่น) ในปี 2566 และอัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น) ในปี 2567 เป็นต้นไป
12. การขายหลักทรัพย์ใดในตลาดหลักทรัพย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย
- หุ้นสามัญ
- หุ้นบุริมสิทธิ
- ใบสําคัญแสดงสิทธิ (Warrant)
- ใบสําคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant: DW)
- กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF)
- ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipt: DR)
- หน่วยลงทุน
- ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
13. ภาษีท้องถิ่นคืออะไร
- เป็นภาษีที่กฎหมายว่าด้วยรายได้ท้องถิ่น เช่น พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2479 กําหนดให้จัดเก็บอีกในอัตรา 10% ของอัตราที่กรมสรรพากรจัดเก็บ โดยให้กรมสรรพากร จัดเก็บพร้อมกันกับการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะของกรมสรรพากรแล้วส่งมอบให้ท้องถิ่น
- ตัวอย่าง ในปี 2566 จะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.05% ดังนั้น จะต้องรวมภาษี ท้องถิ่นเข้าไปอีก 10% จึงทําให้อัตราภาษีที่จัดเก็บทั้งหมดจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น 0.055%
14. ผู้ใดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
- ผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
- เพื่อความสะดวกในการเสียภาษี ประมวลรัษฎากรได้กําหนดให้ Broker ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ขายหักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีแทนผู้ขายในนามของ Broker เอง โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก และให้ถือว่า Broker เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีนี้ด้วย ผู้ลงทุนจึงไม่มีภาระการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี
15. Broker คือผู้ใด
โบรคเกอร์ (Broker) คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขาย หลักทรัพย์จากสำนักงาน ก.ล.ต. และเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมี 39 บริษัท
16. ความถี่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษี เป็นอย่างไร
Broker มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชําระภาษีเป็นรายเดือนภาษี
- กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นกระดาษ ให้ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
- กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ให้ยื่นภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
17. การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์จะตราเป็นกฎหมายใด
ตราพระราชกฤษฎีกา โดยมีสาระสําคัญดังนี้
- ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสําหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.05 (อัตราลด) ในปีแรกที่กฎหมายใช้บังคับ และในอัตราร้อยละ 0.1 (อัตราปกติ) ในปีที่ 2 เป็นต้นไป
- กําหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
18. พระราชกฤษฎีกาจะมีผลใช้บังคับเมื่อใด
- วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมี Grace Period ประมาณ 90 วัน เพื่อให้ Broker มีระยะเวลาเพียงพอแก่การพัฒนาระบบหักและนําส่งภาษี
- ตัวอย่าง หากประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนมกราคม 2566 จะเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีเต็มเดือน เพื่อให้สอดคล้องกันกับการปฏิบัติหน้าที่ ทางภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งประมวลรัษฎากรกําหนดไว้เป็นเดือนภาษี
19. มีการเตรียมความพร้อมสําหรับ Broker และผู้ลงทุนอย่างไร
กรมสรรพากรได้เตรียมความพร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) และการชําระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้ว โดยได้มีการหารือกันกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
20. การขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
ไม่ต้อง แต่อาจเสียภาษีอื่น เช่น ภาษีเงินได้ อากรแสตมป์ หากไม่มีกฎหมายยกเว้นภาษีดังกล่าว
การยกเว้นภาษี
21. มีการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ อย่างไร
- เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการออมเพื่อการเกษียณอายุ จึงมีการยกเว้นภาษีให้แก่ Market Maker และกองทุนบํานาญ (Pension Fund) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย รวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด
- ตัวอย่างประเทศที่มีการยกเว้น FTT/SD ให้แก่ Market Maker เช่น ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ส่วนประเทศที่ยกเว้น FTT ให้แก่ Pension Fund เช่น อิตาลี เบลเยียม
22. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) คืออะไร
ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่สมาชิกและได้รับการรับรองการเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องจากสมาชิก เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยมีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง (Continuous Quotes) เพื่อให้มีราคาปรากฏในระบบการซื้อขายอย่างต่อเนื่องและมีสภาพคล่อง และอาจได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาซื้อขายหรือเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย Market Maker จะได้รับยกเว้นภาษีสําหรับการขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
23. Market Maker ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์ใด
ส่วนใหญ่คือ Derivative Warrant, Depository Receipt, Infrastructure Fund, REIT
24. Market Maker เป็นนักลงทุนรายใหญ่ ใช่หรือไม่
Market Maker มิใช่นักลงทุนรายใหญ่ แต่เป็นผู้ทําให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีสภาพคล่อง จึงส่งผลให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกเหนือไปจากหุ้นอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนโดยตรงในการมีทางเลือกเพิ่มขึ้น
25. กองทุนบํานาญคืออะไร คําตอบ
กองทุนบํานาญ (Pension Fund) คือ กองทุนที่ผู้จ่ายเงินสมทบหรือเงินสะสมเข้ากองทุนสามารถหักลดหย่อนเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวในการคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ
โดยกองทุนบํานาญที่จะได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่
- สํานักงานประกันสังคม
- กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (PVD)
- กองทุนบําเหน็จบํานาจข้าราชการ (กบข.)
- กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กองทุนสงเคราะห์ กระทรวงศึกษาธิการ)
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
- กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตาม 2 – 6 ข้างต้นเท่านั้น
26. การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสําหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ Market Maker และกองทุนบํานาญมีกําหนดเวลาหรือไม่ อย่างไร
- ไม่มี
ก.คลัง ชี้แจงเกี่ยวกับการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
2 ธันวาคม 2565 – กรมสรรพากรเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เรื่อง กระทรวงการคลัง ชี้แจงเกี่ยวกับการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสาระสำคัญดังนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบ ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา (Grace Period ประมาณ 90 วัน)”
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจาย รายได้ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยแบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้
- ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.05 (ร้อยละ 0.055 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
- ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 (ร้อยละ 0.11 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่
- ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
- สำนักงานประกันสังคม
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
- กองทุนการออมแห่งชาติ
- กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายหน่วยลงทุน ในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3 – 7 เท่านั้น
อนึ่ง ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก”
การยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจากร้อยละ 0.17 เป็นร้อยละ 0.22 แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.29 และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.38 แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.20 เล็กน้อย
ทั้งนี้ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ ร้อยละ 0.055 ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 0.195 ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากที่ได้มีการนำเสนอข่าวการเก็บภาษีหุ้น ว่าจะมี การยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริง คือ มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่ นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวได้นำเสนอ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด”
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161