“สรรพากร” ชี้แจงแล้ว ปมเก็บภาษี รายได้ต่างประเทศ เพื่อความเป็นธรรม พร้อมร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศต่อไป
- นำ รายได้จากต่างประเทศ เข้าไทยปีไหนเสียภาษีปีนั้น เริ่ม 1 ม.ค.67
- คำนวณภาษีเงินเดือน 2566 เงินเดือนเท่าไหร่ถึงเสียภาษีเงินได้
18 กันยายน 2566 – นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางการค้าและการลงทุนอย่างมากประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes และได้ลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือ ด้านการบริหารภาษี (MAC) และความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทางการเงินแบบอัตโนมัติ (MCAA CRS) ทำให้กรมสรรพากรจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษี ให้เกิดความเป็นธรรมให้มากขึ้นระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับ การพิสูจน์การมีเงินได้และช่วงเวลาในการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษี จากผู้ที่มีแหล่งเงินได้นอกประเทศลดลงไปอย่างมากแล้ว
การปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2566 เป็นการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศเนื่องจากหน้าที่การงาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ให้ชัดเจนและสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีต่อเมื่อนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ หากผู้มีเงินได้ถูกเก็บภาษีไว้ในประเทศแหล่งเงินได้แล้ว ผู้มีเงินได้สามารถ นำภาษีที่ถูกประเทศแหล่งเงินได้ที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยเก็บไว้มาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน
โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและลงนามผูกพัน ในความตกลงพหุภาคีดังกล่าว เสริมสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ และยกระดับความโปร่งใสในการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง ทั้งนี้ กรมสรรพากร จะร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้ จากแหล่งเงินได้นอกประเทศต่อไป”
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 คืออะไร? เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเก็บภาษีผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศ?
ตามที่มีการเผยแพร่ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินได้จากต่างประเทศที่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ในสาระสำคัญแตกต่างจากที่เคยมีการประกาศใน คำสั่งกรมสรรพากร ที่ กค. 0802/696 ตั้งแต่ปี 2537 โดยมีรายละเอียดดังนี้
คำสั่งกรมสรรพากรนี้เป็นการสั่งการภายในกรมสรรพากร เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานสรรพากรให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยคำสั่งฉบับนี้เกี่ยวข้องกับแนวทางการตรวจและแนะนำผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันในปีปฏิทินเดียวกัน (ปีภาษี) ที่มีรายได้จากต่างประเทศและนำรายได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย
ดังนั้น หากคุณไม่มีรายได้จากต่างประเทศที่นำเข้ามาในประเทศไทยเลย คำสั่งฉบับนี้ไม่กระทบกระเทือนอะไรกับคุณอย่างแน่นอน
คำสั่งนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อไหร่?
เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีผลสำหรับผู้เสียภาษีที่มีรายได้จากต่างประเทศแล้วนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ 1 มกราคม 2567
คำสั่งนี้จะมีสาระสำคัญอย่างไร?
หากคุณอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันในปีปฏิทินเดียวกัน (ปีภาษี) และนำรายได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่ารายได้จากต่างประเทศนั้นจะเกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกันหรือคนละปีภาษี รายได้ดังกล่าวจะต้องนำมายื่นภาษีด้วย โดยให้จัดเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีในปีที่นำเงินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
โดยเกณฑ์ใหม่นี้จะยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ กค. 0802/696 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 ที่เคยวางหลักเกณฑ์ไว้ว่าหากเป็นเงินได้จากต่างประเทศที่นำเข้ามาคนละปีภาษีกับปีที่มีรายได้ เช่น เกิดรายได้จากต่างประเทศเมื่อปี 2565 แต่นำเข้ามาในประเทศเมื่อปี 2566 จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมายื่นภาษีซ้ำเพราะนำเข้ามาคนละปีภาษีกัน เป็นต้น
ดังนั้น เกณฑ์ใหม่นี้จึงเป็นการยกเลิกมาตรฐานเดิมสำหรับเงินได้จากต่างประเทศที่ใช้มาเกือบ 37 ปี และวางหลักเกณฑ์การเสียภาษีตามหลักถิ่นที่อยู่แบบใหม่แทน
ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 รายได้ต่างประเทศ ที่นำเข้ามาในไทย จะถูก สรรพากร เก็บภาษีทุกกรณีหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม ตามเกณฑ์ใหม่นี้ หากผู้เสียภาษีอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วันในปีภาษีที่นำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามา จะยังได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินดังกล่าวมายื่นภาษีในไทยอยู่ดี แม้ว่าปีนั้นจะได้นำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยก็ตาม
นอกจากนี้ ผู้เสียภาษียังอาจได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาภาษีซ้อนหากประเทศไทยมีความตกลงกับรัฐบาลของบางประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถนำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องนำมายื่นภาษีซ้ำอีกแม้ว่าตนจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีนั้นแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องศึกษาเป็นรายกรณี และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเพื่อวางแผนภาษีให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
หลักเกณฑ์การเสียภาษีของไทยสำหรับเงินได้จากต่างประเทศ
โดยทั่วไป กฎหมายภาษีของไทย (ประมวลรัษฎากร) วางหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ 2 หลัก ได้แก่
- หลักแหล่งเงินได้ – ประเทศไทยจะเก็บภาษีเมื่อบุคคลธรรมดามีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย
- หลักถิ่นที่อยู่ – ประเทศไทยจะเก็บภาษีเมื่อบุคคลธรรมดาอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีปฏิทินเดียวกัน (ปีภาษี) มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ และนำรายได้จากต่างประเทศนั้นเข้ามาในประเทศไทยด้วย
ดังนั้น กรณีบุคคลธรรมดามีรายได้จากต่างประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าเกณฑ์ตามหลักถิ่นที่อยู่นั่นเอง
รายได้จากต่างประเทศหมายถึงอะไรได้บ้าง?
รายได้จากต่างประเทศสามารถเป็นได้ทั้งรายได้ที่เกิดจากหน้าที่งานในต่างประเทศ หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น ค่าจ้างจากงานที่ทำในต่างประเทศ กำไรจากการขายทรัพย์สินในต่างประเทศ เงินปันผลจากหุ้นต่างประเทศ ดอกเบี้ยจากต่างประเทศ ค่าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ เป็นต้น