‘สรรพากร’ ชง หักรายจ่ายภาษีได้ 2 เท่า ช่วย SMEs ใช้เครื่องมือดิจิทัล

ภาษีธุรกิจ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมเพื่อก้าวทันเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้ว ในวันสุดท้าย ของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ หรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ ให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ หรือ ผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วน ที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 ต้องไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์นั้น ตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

3.โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) หมายความว่า โปรแกรมหรือชุดคำสั่ง ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ ที่ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจด้านต่าง ๆ เช่น โปรแกรมที่ใช้ในองค์กร โปรแกรมสมองกลฝังตัว โปรแกรมด้านการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ โปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมและหรือเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมและหรือเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

4.โปรแกรมที่ใช้ในงานสนับสนุนการผลิต รวมไปถึงโปรแกรมที่ให้บริการในรูปแบบโปรแกรมบริการ (Software as a Service : SaaS) ที่ผู้ใช้สามารถเรียกใช้บริการได้ตามความต้องการใช้งาน โดยทั่วไปโปรแกรมบริการนี้จะถูกจัดเก็บ อยู่บนเครื่องแม่ข่าย (Server) ของผู้ให้บริการที่ผู้ใช้บริการ สามารถเรียกใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตหรือเป็นโปรแกรม ที่จะถูกดาวน์โหลดลงสู่ตัวเครื่องของผู้ใช้บริการโดยผู้ใช้บริการสามารถใช้งานได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนด เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดก็จะไม่สามารถเข้าใช้โปรแกรมดังกล่าวได้อีกต่อไป

จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่แพร่กระจายรวดเร็วและรุนแรง เป็นตัวเร่งให้ทั่วโลก ต้องปรับตัวเปลี่ยนพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตสู่ความปกติใหม่ (นิว นอลมอล) มาตรการภาษีข้างต้น จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี มีการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจและเติบโตอยู่รอดได้ โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมในการเกื้อกูลกันระหว่าง เอสเอ็มอี ด้านดิจิทัลและ เอสเอ็มอี ในธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ภายในประเทศ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“ดีอีเอส-ดีป้า” ร่วมแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย SMEs จับมือ “กรมสรรพากร” ดันมาตรการภาษี 200% สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ ยกระดับธุรกิจ ปรับตัวยุคชีวิตวิถีใหม่

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และขยายขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมบริการ โดยมอบหมายให้ ดีป้า บูรณาการการทำงานกับ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พร้อมเร่งประกาศหลักเกณฑ์การรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่ต้องการเข้าสู่มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

“ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความประสงค์จะนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมบริการที่ได้มาตรฐานมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหา พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมรองรับชีวิตวิถีใหม่ ก่อนก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการเข้าสู่มาตรการฯ และขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีจะต้องเลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือบริการโปรแกรมบริการจากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า เท่านั้น โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) และมีมาตรฐาน ISO29110 และ CMMI จำนวนกว่า 100 ราย ซึ่งขณะนี้ยังเปิดรับผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ผ่านระบบฐานข้อมูลที่ www.depa.or.th/tax200

สำหรับประเภทและลักษณะของโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโปรแกรมบริการที่สามารถใช้สิทธิได้ ประกอบด้วย
  1. ERP (โปรแกรมบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร)
  2. CRM (โปรแกรมบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า)
  3. POS (โปรแกรมบริการ ณ จุดขาย)
  4. MRP (โปรแกรมบริหารจัดการและวางแผนการผลิต)
  5. Account (โปรแกรมบัญชี)
  6. Personnel (โปรแกรมบริหารงานบุคคล)
  7. Logistics (โปรแกรมบริหารการขนส่ง)
  8. Inventory (โปรแกรมบริหารงานคลังสินค้า)
  9. Service Management System (โปรแกรมบริหารงานบริการ)
  10. AI Software (โปรแกรมที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์)
  11. Data Analytics (โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล)
  12. IoT System (ชุดโปรแกรมอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง)
  13. Smart Farm (โปรแกรมบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ)
  14. e-Payment System (ชุดโปรแกรมชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์)

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้ทาง www.depa.or.th/tax200

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)