ผู้ประกอบการ และคนทำธุรกิจ SMEs อาจจะได้ยินข่าว มาตรการบัญชีเดียวของกรมสรรพากร กันมาบ้าง และสิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนสงสัยว่า กรมสรรพากรมีกฎเกณฑ์อะไรในการแบ่งว่า ธุรกิจประเภทไหนที่จะถูกสรรพากรจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะทำบัญชีหรือยื่นภาษีผิดพลาด และจะต้องโดนตรวจสอบภาษี แน่นอนว่า คุณสามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้ที่ iTAX media
เปิดเกณฑ์ที่สรรพากรใช้ประเมินว่า ธุรกิจของคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
สำหรับเกณฑ์ที่กรมสรรพากรใช้ประเมินว่า ธุรกิจของคุณจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะทำบัญชี หรือยื่นภาษีผิดพลาด และจะต้องทำการตรวจสอบ จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบไปด้วย
1. สินทรัพย์
สินทรัพย์ถือเป็นปัจจัยหลักๆ ในการทำธุรกิจ และเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะให้ความสำคัญอย่างมาก และหากเจ้าของธุรกิจคนใดดำเนินธุรกิจด้วยเงื่อนไขต่อไปนี้ ทำใจได้เลยว่า ธุรกิจของคุณอาจจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของกรมสรรพากร เช่น
ใช้เงินสดเป็นหลัก
เพราะจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จึงเป็นเหตุให้สรรพากรไม่ค่อยเชื่อในธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลักเท่าไหร่นัก และสำหรับคนที่ตั้งคำถามว่า สรรพากรดูเพียงแค่งบการเงินบริษัท แล้วสรรพากรรู้ได้อย่างไรว่า ธุรกิจไหนใช้เงินสดเป็นหลัก เนื่องจากการทำธุรกรรมแบบนี้ไม่สามารถตรวจสอบผ่านระบบ Risk Based Analysis (RBA) ได้
ในส่วนนี้กรมสรรพากรชี้แจงว่า ในปัจจุบันกรมสรรพากรใช้ข้อมูลประกอบการตรวจสอบผู้ประกอบการ 3 ส่วน ได้แก่ การประเมินสถานะผู้ประกอบการ + Data Analytics + RBA ทำให้ทราบได้ไม่ยากว่า ธุรกิจของคุณทำธุรกรรมผ่านช่องทางใดเป็นหลัก ประกอบกับตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น สรรพากรได้ทำการตรวจแนะนำผู้ประกอบการส่วนใหญ่แล้ว และผู้ประกอบการส่วนมากดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ทำให้การจัดกลุ่มประเภทธุรกิจนั้นง่ายมากขึ้น
และ 1 ปีหลังจากนี้ไป สรรพากรจะให้ความสำคัญกับ ธุรกิจที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผ่านธนาคาร กับธุรกรรมที่เกิดจากเงินสดเป็นหลัก เพื่อนำไปใช้ควบคู่กับการประเมินสถานะ และ Data Analytics เพื่อนำไปวิเคราะห์ว่า กลุ่มธุรกิจประเภทใดที่มีพฤติกรรม หรือมักจะทำธุรกรรมโดยการใช้เงินสดเป็นหลัก เพื่อที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกผู้ประกอบการที่มีกลุ่มความเสี่ยงต่อไป
สินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง
เนื่องจากสินค้าคงเหลือจะส่งผลทันที และผู้ประกอบจะทราบได้แทบจะทันทีว่า ธุรกิจของคุณมีสินค้าคงเหลือเท่าไหร่ (สามารถย้อนไปดูตอนปิดงบได้) และสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่า มีจำนวนสินค้าคงเหลือเท่าที่แจ้งหรือไม่? เพราะการที่สินค้าขาด หรือสินค้าเกินอย่างมีนัยยะสำคัญ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า กิจการของคุณอาจมีการแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง
ไม่มีทรัพย์สิน หรือมีทรัพย์สินมากผิดปกติ
สรรพากรให้เหตุผลว่า ในการทำธุรกิจทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ที่มี จะต้องสัมพันธ์กับงบการเงินของธุรกิจ เช่น ในกลุ่มกิจการโรงแรม เป็นธุรกิจที่อยู่ภายในอาคาร หากท่านมีอาคารใหญ่โต มีอาคารเยอะ มีค่าไฟสูง แต่มีรายได้น้อย สรรพากรมองว่าเหตุการณ์แบบนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และการที่ผู้ประกอบการมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือไม่มีทรัพย์สินเลย ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า งบธุรกิจของคุณมีความผิดปกติ
2. หนี้สินและทุน
ภาระหนี้สินและเงินทุนก็เป็นสิ่งที่จะต้องสัมพันธ์กัน เพราะหากสรรพากรทำการตรวจสอบและพบว่า ตัวเลขเงินทุนและหนี้สินของธุรกิจมีความผิดปกติ ธุรกิจของคุณอาจจะถูกจับตามองจากกรมสรรพากรได้เช่นกัน
มีเงินกู้ยืมกรรมการมาก และไม่สามารถชี้แจงได้
หลายๆ ครั้ง เจ้าหน้าที่สรรพากรมักตรวจพบว่า บริษัทมีการกู้ยืมเงินไปจากกรรมการ โดยที่เจ้าของธุรกิจหรือตัวกรรมการไม่รู้ตัวว่า ให้บริษัทกู้ยืมไปเท่าไหร่? เจ้าของธุรกิจหลายคนอาจจะรู้สึกว่า การกู้ยืมเงินจากกรรมการย่อมเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ จนอาจทำให้คุณรู้สึกว่าหลักเกณฑ์นี้ฟังดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก
เราอยากให้คุณใจเย็นขึ้นมาอีกนิด เพราะกรรมสรรพากรก็เข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดี และยังบอกย้ำว่า การกู้ยืมเงินกรรมการสามารถทำได้ แต่จะต้องเป็นการกู้ยืมที่มีที่มาที่ไป ตัวกรรมการต้องตอบได้ว่า เงินกู้ยืมนี้มาจากไหน? กรรมการจะต้องจำได้ว่า เคยให้บริษัทกู้เงินไปเมื่อไหร่? ตอนไหน? และจะต้องมีเส้นทางการเงินเมื่อกู้เงินด้วย แน่นอนว่า หากธุรกิจของคุณไม่มีตรงนี้ สรรพากรจะมองว่า นี่คือความผิดปกติทันที
รวมถึง กิจการที่มีการกู้ยืมเงินกรรมการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยที่ไม่มีการคืนเงินที่กู้มาสักครั้ง หากเจ้าของกิจการท่านใดทีตรวจเช็กและพบว่า ธุรกิจคุณมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น สรรพากรแนะนำให้คุณแจ้งนักบัญชีและขอปรับปรุงแก้ไขงบที่ผิดพลาดทันที เพื่อให้บริษัทหรือธุรกิจของคุณมีงบการเงินที่ถูกต้องและสมบูรณ์
ขาดทุนสะสมเป็นเวลานาน
ระบบ Data Analytics ของสรรพากรสามารถตรวจสอบได้ว่า ธุรกิจของคุณมีการขาดทุนสะสมหรือไม่ เพราะหลายๆ ครั้งสรรพากรพบว่า หลายๆ ธุรกิจมีการขาดทุนสะสมที่ยาวนาน และในบางครั้งมีการขาดทุนจนเกินทุน แต่กิจการกลับมีเงินให้กรรมการกู้เงิน ซึ่งสรรพากรมองว่า นี่คือจุดอ่อนของบริษัทที่มีการใช้เงินสดทำธุรกรรมเป็นหลัก
หลายๆ คนมักจะคิดว่า การทำธุรกรรมแบบใช้เงินสดเป็นหลัก จะช่วยแก้ไขปัญหาเมื่อกรมสรรพากรตรวจสอบในกรณีที่ธุรกิจของคุณแสดงรายได้ไม่ครบถ้วนได้ แต่กรมสรรพากรยืนยันแล้วว่า ความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิด เพราะงบการเงินเป็นเรื่องที่ธรรมชาติมาก เพราะเมื่อธุรกิจของคุณมีการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากไป งบอีกฝั่งจะโผล่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ และมักจะแก้ไขในภายหลังไม่ได้
3. รายได้
บันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง
ในกรณีนี้ อาจจะไม่ต้องย้อนไปตรวจเช็กว่านักบัญชีลงรายได้ถูกหรือไม่ เพราะเจ้าของธุรกิจสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้จาก ใบกำกับภาษี เพราะท่านสามารถตรวจเช็กได้เลยว่า ท่านได้ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือไม่? เพราะหากธุรกิจของท่านออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือบริการ ก็สามารถมั่นใจได้เลยว่า รายได้ของท่านถูกต้อง 100% แน่นอน
บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน
ต้องบอกก่อนว่า ในแง่ของภาษี ไม่ใช่รายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าเท่านั้นที่จะถูกนับเป็นรายได้ เพราะมีรายได้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอีกมาก เช่น รายได้ที่เกิดจากการส่งเสริมการขาย เป็นต้น เพราะหากบริษัทของคุณได้รับรางวัลในส่วนนี้ จะถูกนับเป็นรายได้ด้วย เพราะถือเป็น ประโยชน์หรือทรัพย์สินซึ่งอาจคำนวณได้เป็นตัวเงิน
ซึ่งคุณจะต้องนำรายได้ส่วนนี้มาบันทึกเป็นรายได้ให้ถูกต้องด้วย (ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ระบุไว้ว่า รางวัลในส่วนนี้ให้นับเป็นประโยชน์หรือทรัพย์สินซึ่งอาจคำนวณได้เป็นเงินจึงต้องเสียภาษีด้วย) และสรรพากรมักจะพบว่า หลายๆ กลุ่มกิจการถูกจัดว่าเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงเพราะ ไม่ได้นำรายได้ที่ได้รับจากการท่องเที่ยวหรือ รายได้ที่ได้รับจากการได้เงินรางวัล ไปเป็นรายได้ในการบันทึกบัญชี
4. ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่รายได้ลดลง
สรรพากรมองว่า เมื่อธุรกิจของคุณมีรายได้ลดลง สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ ลดรายจ่ายลงด้วย แต่หากธุรกิจของคุณมีรายได้น้อยลง แต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สรรพากรจะถือว่านี่คือความผิดปกติ และแน่นอนว่า ผู้ประกอบการจะสามารถรับรู้ความผิดปกตินี้ได้ด้วยตัวเอง
ค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้
บอกก่อนว่า เจ้าหน้าที่สรรพากรไม่ได้ตัดสินทุกอย่างจากธุรกิจของคุณเท่านั้น แต่สรรพากรจะทำการเปรียบเทียบธุรกิจของคุณกับธุรกิจหรือกิจการอื่นๆ ในประเภทเดียวกันไปด้วย เช่น การเปรียบเทียบ ณ รอบบัญชีเดียวกัน และ เปรียบเทียบความเติบโตของผู้ประกอบการ Time Series เช่น การย้อนกลับไปดูว่า ในช่วง 3 ปีหลัง กิจการของคุณเติบโตมากแค่ไหน เป็นต้น
สร้างค่าใช้จ่ายเท็จ
ในปัจจุบันเจ้าของกิจการหลายคนมีการสร้างค่าใช้จ่ายเท็จขึ้นมาในรูปแบบของ ค่าที่ปรึกษา ค่านายหน้า ค่าขนส่ง และค่าแรงต่างๆ รวมถึง การหาตัวแทนมารับเงิน (ใช้บัตรประชาชน) แน่นอนว่าการทำแบบนี้ผิดกฎหมาย และผู้ประกอบการอาจจะลืมนึกไปว่า กลุ่มคนที่คุณยืมชื่อ หรือยืมบัตรประชาชนมาให้รับรายได้แทนนั้น บางคนได้ไปทำการลงทะเบียนบัตรผู้มีรายได้น้อยไว้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน สรรพากรแจ้งว่า ข้อมูลเหล่านี้สรรพากรสามารถตรวจสอบได้ และข้อมูลรายได้นั้นเชื่อมต่อกันทั้งหมด
และสรรพากรอยากฝากไว้อีกนิดว่า การใช้บัตรประชาชนไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นถือเป็นคดีอาญา และการใช้วิธีการหัก ณ ที่จ่ายแบบนี้เป็นเรื่องผิด และการหัก ณ ที่จ่ายรูปแบบนี้ ไม่การันตีว่าสามารถใช้ในการหักค่าใช้จ่ายได้
และตราบใดที่กรมสรรพากรมีการตรวจสอบว่า ค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าท่านจะทำการหัก ณ ที่จ่ายเรียบร้อยแล้ว สรรพากรก็ยังถือว่า ค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าใช้จ่ายเท็จ (หรือที่เรียกในทางภาษีว่า ค่าใช้จ่ายต้องห้าม)
และการหักค่าใช้จ่ายแบบนี้จะส่งผลให้งบการเงินของธุรกิจของคุณไม่สวยงาม และเมื่อสถาบันการเงินใช้วิเคราะห์งบ จะทำให้ธุรกิจของท่านถูกมองว่า มีค่าใช้จ่ายที่มากจนเกินไป
หากธุรกิจของคุณดำเนินการด้วยลักษณะใดลักษณะหนึ่งข้างต้น เราแนะนำให้คุณทำการปรับปรุงและแก้ไขให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะต้องระแวงว่า ธุรกิจของคุณจะถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตรวจสอบเมื่อไหร่? และอาจเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบบัญชีและภาษีย้อนหลังได้ หรือหากรู้ตัวดีว่า เคยทำบัญชีและภาษีผิดพลาด ก็สามารถเข้าร่วม มาตรการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มและโทษทางอาญาของกรมสรรพากร ได้ และสามารถลงทะเบียนที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร newstartup.rd.go.th ตั้งแต่ 1 เม.ย. 62 – 30 มิ.ย. 62
ส่วนเจ้าของธุรกิจท่านใดที่ไม่มีเวลาจัดการบัญชีและวางแผนภาษี หรือไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นตรงไหนอย่างไร สามารถติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787 เรากล้าการันตีว่า คุณจะได้รับทั้งความสะดวกและความแม่นยำในการจัดทำบัญชีและวางแผนภาษีที่ถูกต้องตามหลักของกรมสรรพากรแน่นอน