ร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภาฯ วาระ 3 แล้ว ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 400 เสียง ของสภาผู้แทนราษฎร เตรียมส่งให้ สว. พิจารณากฎหมายต่อ
- ครม.ไฟเขียว เก็บภาษี 15% โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ไม่ต้องยื่นภาษีอีก
- สภาฯ ลงมติรับร่าง “สมรสเท่าเทียม” 210 ต่อ 180
27 มีนาคม 2567 – ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ 400 เสียง ในวาระที่ 3 ผ่านร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ทั้งฉบับ หรือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในขณะที่มีสมาชิกลงมติไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออดเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พิจารณาต่อ หากผ่านชั้นของวุฒิสภา จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
“สมรสเท่าเทียม” รับรองสิทธิการหมั้น-สมรสของคู่รัก LGBTQ ให้เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายได้
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คือแก้ไขบทบัญญัติรับรองสิทธิการหมั้น-และการสมรสบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้สิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
ที่ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระที่ 2 โดยเริ่มตั้งแต่ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงลำดับมาตราจนจบร่างมีทั้งสิ้น 68 มาตรา ส่วนมาตราที่มีการปรับแก้ไข เช่น แก้ไขอายุการหมั้นให้สามารถทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว จากเดิมที่กำหนดไว้ 17 ปีบริบูรณ์ และคณะกมธ. ได้เพิ่มบัญญัติใหม่อีก 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อลดภาระให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขกฎหมาย และบัญญัติให้หน่วยงานรัฐทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 180 วัน
กมธ.วิสามัญ ชี้ประเทศไทยผ่านร่างกฎหมาย สมรสเท่าเทียม เป็นประเทศแรกของอาเซียน
นายดนุพร ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 4 กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เราทำเพื่อคนไทยทุกคน มีจำนวนทั้งหมด 68 มาตรา โดยสรุป 3 ประเด็นดังนี้
- บทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการใช้ถ้อยคำไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน จึงมีการปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ
- เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสของบุคคล ควรกำหนดไว้ที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ผู้ที่จะทำการหมั้นหรือสมรส มีอายุพ้นจากความเป็นเด็ก และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับเด็ก รวมทั้งหลักการคุ้มครองสิทธิเด็กในการป้องกันปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก จากการบังคังให้เด็กแต่งงาน โดยจะไปเชื่อมกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ฉบับอื่นที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ และ
- เพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่จำนวน 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายฉบับนี้ มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายอื่น ที่ได้กำหนดไว้ให้แก่ “สามี ภรรยา” หรือ “สามี ภรรยาในทันที” ซึ่งจะเป็นการลดภาระให้แก่หน่วยงานต่างๆ ในการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ในความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กฎหมายฉบับใดกำหนดสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภรรยา หรือสามี ภรรยาไว้แตกต่างกัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการทบทวนกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จทันในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
นอกจากนี้ กมธ.มีการตั้งข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้
ประธานคณะกรรมธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อทุกคนในประเทศไทย เพราะหลังจากที่ได้มีการผ่านวาระ 1 ไปแล้ว เราได้ฟังเสียงรอบด้าน และมีการพูดคุยว่ากฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ กมธ.พิจารณาด้วยความรอบคอบ และขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ชายหญิงทั่วไป ท่านเคยได้รับสิทธิอย่างไร ท่านจะไม่เสียสิทธิแม้แต่น้อย สิทธิของท่านในทางกฎหมายยังเท่าเดิมทุกประการ และกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่จะเรียกว่าเป็น LGBTQ ผู้ชายข้ามเพศ หญิงข้ามเพศ หรืออะไรก็ตาม
วันนี้ทุกสังคมไม่ว่าประเทศไทยหรือต่างประเทศ เชื่อว่าทุกคนทราบดี เราไม่ได้มีเพียงแค่เพศชาย เพศหญิง อีกต่อไปแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเกิดมาเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง เขาเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนเหล่านี้เขาเลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ ต้องการที่จะคืนสิทธิให้คนกลุ่มนี้ เราไม่ได้ให้สิทธิเขา แต่เป็นสิทธิเบื้องต้นที่คนกลุ่มนี้เสียสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาพยาบาล การเสียภาษี การลดหย่อนภาษีต่างๆ รวมถึงการเซ็นยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิแบบนี้ ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ และตอนหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมือง บอกว่าอยากจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ
“ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียม กฎหมายฉบับไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมไทย
เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเซาท์ อีสท์ เอเชียและเราจะภาคภูมิใจในเวทีโลกว่าประเทศไทยวันนี้เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเพศ หวังว่าวันนี้พวกเราในฐานะตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ จะร่วมสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย” นายดนุพรกล่าว
ตัวอย่างสิทธิของคู่สมรส LGBTQ ที่จะได้รับเพิ่มเติม
- สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส
- สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา
- สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิตในฐานะคู่สมรส
- สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
- สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส
- สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
- สิทธิอื่นๆ ตามกฎหมายปัจจุบันที่อ้างถึงสิทธิของการเป็นสามีภริยา