ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด 5 แกนนำ กปปส. พ้น ส.ส. เตรียมเลือกตั้งใหม่ 45 วัน

ทั่วไป

ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด 5 แกนนำ กปปส. พ้นสภาพจากการเป็น ส.ส. เหตุถูกพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ให้จัดเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตใหม่ ภายใน 45 วัน

8 ธันวาคม 2564 – ที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณี 5 แกนนำ กปปส. พ้นสภาพความเป็น ส.ส. หรือไม่ ได้แก่

  1. นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์
  2. นายอิสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
  3. นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
  4. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ
  5. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

โดยในคดีนี้ 5 แกนนำ กปปส. ถูกศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทั้งร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด 5 แกนนำ กปปส. พ้น ส.ส.

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยให้สภาพการเป็น ส.ส. ของแกนนำ กปปส. ทั้ง 5 คน สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 และถือว่าไม่มีคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. ให้ถือว่าคำวินิจฉัยได้ผ่านโดยชอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

กกต. เตรียมจัดเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ภายใน 45 วัน ส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้เลื่อน ส.ส. ลำดับถัดไปขึ้นมาแทนภายใน 7 วัน

เมื่อ ส.ส. แบบแบ่งเขตว่างลงไป กกต. จะต้องประกาศราชกิจจานุเบกษาจัดให้มีการเลือกตั้ง ภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม

ส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องประกาศลงราชกิจจาลำดับถัดไปขึ้นมาแทนภายใน7 วัน นับตั้งแต่วันนี้

ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า แกนนำ กปปส. ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน พ้นสถานะความเป็น ส.ส. จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดังนี้

  1. พรรคพลังประชารัฐ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 22 พรรคพลังประชารัฐ เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน นายพุทธิพงษ์
  2. พรรคประชาธิปัตย์ นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 26 พรรคประชาธิปัตย์ ขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน นายอิสสระ

รายละเอียดคำวินิจฉัย

เมื่อเวลา 15.00 วันที่ 8 ธันวาคม องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายชุมพล จุลใส ผู้ถูกร้องที่ 1 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายอิสสระ สมชัย ผู้ถูกร้องที่ 3 นายถาวร เสนเนียม ผู้ถูกร้องที่ 4 และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ถูกร้องที่ 5 สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 ( 4 ) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สิ้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 บัญญัติว่าบุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ไปบุคคลต้องห้ามเลยให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1)(2)(4) (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล และมาตรา 96 บัญญัติว่า ผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (2) อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

ข้อเท็จจริงตามคำร้องคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 4 เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องที่ 2, 3, 5 เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญา มีคำพิพากษาในคดีอาญา หมายเลขดำ อ.247/2561 หมายเลขแดง อ.317/2564 ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง มาตรา 215 วรรคสอง มาตรา 216 มาตรา 358 มาตรา 365 (2)(3) มาตรา 362 มาตรา 364 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.2550 มาตรา 76 และมาตรา 152 วรรคหนึ่ง ลงโทษผู้ถูกร้องที่ 1 จำคุก 9 ปี 24 เดือน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ลงโทษผู้ถูกร้องที่ 3 จำคุก 7 ปี 16 เดือน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ลงโทษผู้ถูกร้องที่ 5 จำคุก 6 ปี 16 เดือน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ส่วนผู้ถูกร้องที่ 2 และ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง มาตรา 215 วรรคสอง มาตรา 216 มาตรา 358 มาตรา 365 (2)(3) มาตรา 362 และมาตรา 364 ลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 จำคุก 7 ปี และลงโทษผู้ถูกร้องที่ 4 จำคุก 5 ปี ในวันดังกล่าวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาญา มีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งและออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งตัวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาญาจึงมีหมายปล่อยชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ในระหว่างอุทธรณ์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564

เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) บัญญัติให้สมาชิกสภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยมาตรา 98 (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตาม มาตรา 96 (2) คือ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ และมาตรา 98 (6) คือ ต้องถามพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 มาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ตามมาตรา 101 เนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ส.ส. ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและลักษณะต้องห้าม เพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลนั้นจะต้องมีความประพฤติและคุณสมบัติอันเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่เชื่อถือของสาธารณชน ปฎิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการปฎิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มาตรา 96(2) มาตรา 98 (6) บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้สมาชิกภาพ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือให้  จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลโดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อน

ข้อโต้แย้งที่ว่าการกระทำผิดอาญาของผู้ถูกร้อง 1, 3, 4, 5 มาจากการชุมนุมเพื่อแสดงออกความเห็นทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิในการชุมนม ดังปรากฏในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหลายคำสั่งนั้น เห็นว่า คำสั่งที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แม้ปรากฏถ้อยคำว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นใดเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึง เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้รับรองการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าคำสั่งศาลอาญาที่ส่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีความอาญา มาตรา 106 มาตรา 107 มาตรา 108 และมาตรา 108/1 และระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว 2548 ข้อ 5 การที่ศาลอาญา ออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา และส่งตัวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่ใช่การคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เห็นว่า การที่ศาลอาญา ไม่ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ในระหว่างอุทธรณ์โดยสั่งในคำร้องว่าส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งเป็นการใช้ดุลยพินิจสั่งคำร้องในคดีของศาลอาญา โดยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 106 (4) ให้อำนาจไว้เมื่อยังไม่มีคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ศาลอาญาต้องออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา ตามผลของคำพิพากษาลงโทษจำคุกและส่งตัวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์อันเป็นการพิจารณาคดีที่อยู่ในขอบเขตการใช้อำนาจของศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 194 และการที่ผู้ถูกร้องทั้ง 5 ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการถูกคุมขังโดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ที่บัญญัติให้การคุมขังอยู่โดยหมายของศาลอันเป็นเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ต้องเป็นการถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นั้นเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่ามันเป็นการคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่ารัฐธรรมนูญ 125 วรรคสี่บัญญัติให้ความคุ้มครองกับ ส.ส. ระหว่างสมัยประชุม การที่ศาลอาญาและอ่านคำพิพากษาและออกหมายขังผู้ถูกร้องทั้ง 5 ระหว่างรอคำสั่งคำร้องปล่อยชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ เป็นการขัดขวางต่อการที่ ส.ส.จะมาประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น เห็นว่าการคุ้มกันสมาชิก ส.ส. เป็นสถานะพิเศษที่รัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้นเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาสามารถมาประชุมหรือปฎิบัติหน้าที่ในสมัยประชุมได้ตามปกติโดยไม่อาจถูกจับคุมขังหรือหมายเรียกตัวไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา หรือการพิจารณาคดีอาญาต้องไม่มีลักษณะขัดขวางต่อการที่สมาชิกรัฐสภาผู้นั้นจะมาประชุมสภาฯ รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ เป็นบทบัญญัติกรณีการฟ้องสมาชิก ส.ส.ในคดีอาญา ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตสภาก่อนเพียงแต่การพิจารณาคดีของศาลต้องไม่ขัดขวางต่อการที่สมาชิก ส.ส.จะมาประชุม

แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎว่ามีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พ.ศ.2563 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2563 และมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 การอ่านคำพิพากษาศาลอาญาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การคุมขังตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีการะหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในระหว่างสมัยประชุมก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (8) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติให้การพิจารณาหมายความว่ากระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาด ตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันสืบการพิจารณาหรือภายในสามวันนับแต่วันสืบคดี ถ้ามีเหตุสมควรจะเลื่อนไปอ่านวันอื่นได้แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้ ดังนั้น การอ่านคำพิพากษาและการคุมขังตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาจึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาก่อนศาลชี้ขาดตัดสินตัดสินคดีแต่เป็นกระบวนการหลังศาลตัดสินชี้ขาดคดีแล้วไม่อยู่ในความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ เมื่อผู้ถูกร้องทั้ง 5 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล แม้จะเป็นหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของส.ส.โดยไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุด แสดงว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ มุ่งคุ้มครองสมาชิก ส.ส. เฉพาะกรณีคดีอยู่ ระหว่างการพิจารณา แต่กรณีที่การพิจารณาคดีของศาลเสร็จสิ้น จนถึงขั้นตอนการอ่านคำพิพากษาย่อมไม่อาจอ้างความคุ้มกันของสมาชิก ส.ส.ได้ ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาโดยไม่เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ ข้อโต้แย้งหรือฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (4)(6) บัญญัติเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.เพื่อควบคุมคุณสมบัติของบุคคลก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้นเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 กำหนดเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกสภาพ ส.ส.และมาตรา 98 กำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาใช้เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) หากสมาชิก ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (4) (6) ระหว่างการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ย่อมเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ว่าการดำรงตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะที่ผู้ถูกร้องใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.เท่านั้น ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

ข้อโต้แย้งที่ว่าคดีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 96 (2) ต้องเป็นกรณีคดีถึงที่สุดเห็นว่า สมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดเมื่อเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 96 (2) บุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่จึงเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะต้องห้ามการใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคล
มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาโดยเพิ่มความว่า”ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด แล้วหรือไม่” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่ว่าคำพิพากษาของศาลย่อมมีผลใช้บังคับได้จนกว่าศาลสูงจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพลัน ตามรัฐธรรมนูญ 96 (2) และเข้าลักษณะต้องห้ามของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามมาตรา 98 (4) การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวมาเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) โดยไม่ต้องรอให้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุด เนื่องจาก ส.ส.จะต้องปฎิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎรการที่ ส.ส.ผู้ใดกระทำความผิดจนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอันต้องด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 96 (2) แล้ว สมาชิก ส.ส.ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะ ที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมืองอื่นอีกด้วย

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของส.ส. มีการใช้ถ้อยคำแตกต่างกันแยกได้หลายลักษณะ เช่น กรณีรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (9) ใช้คำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต หรือกรณีมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) ใช้คำว่าเคยต้องคำพิพากษา อันถึงที่สุดว่าการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกรณี มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (11) ใช้คำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุ หลายประการตามบริบทของข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ขัดแย้งกันเองหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง ข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้เป็นกรณีมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) ซึ่งใช้คำว่าอยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่ โดยไม่ได้ใช้คำว่าคำพิพากษาอันถึงที่สุด บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรมีความชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นย่อมหมายความว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อนข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

ข้อโต้แย้งที่ว่าการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามกรณีต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (13) ต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเห็นว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส.โดยใช้ถ้อยคำ การต้องคำพิพากษาและการจำคุกแตกต่างกันเป็นหลายลักษณะเช่นรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) ใช้คำว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (9) ใช้คำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำผิดตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13 ) ใช้คำว่าต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแม้จะมีการรอลงอาญาแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ ให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุผลหลายประการ ตามข้อเท็จจริงของผลแห่งคำพิพากษาที่แตกต่างกัน เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ซึ่งใช้คำว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล โดยไม่มีคำว่าถึงที่สุด จึงมีความหมายว่าสมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกเท่านั้นโดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน กรณีของผู้ร้องทั้ง 5 จึงตกอยู่ภายใต้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 101 (6) โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดตามมาตรา 101 (13 ) ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้ง 5 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาลอาญา โดยผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุให้ผู้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ดังนี้ 1.สมาชิกภาพสมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) มาตรา 96 (2) 2.สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) 3.สมาชิกภาพส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 3 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) มาตรา 96 (2) 4.สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) 5. สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) มาตรา 96 (2)

เมื่อวินิจฉัยว่าสมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแล้ว สมาชิกภาพของ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใดรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (2) บัญญัติว่าเมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีคดีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นกระทำไปก่อนพ้นตำแหน่ง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันที่ 7 เมษายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 พ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่หยุดปฎิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้นสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 (2) นับแต่วันที่ 7เมษายน 2564 เป็นต้นไป

เมื่อสมาชิกภาพ ส.ส. ผู้ถูกร้องที่ 1,4 สิ้นสุดลงทำให้มีตำแหน่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง และต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงคือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันอ่านคือวันที่ 8 ธันวาคม 2564

เมื่อสมาชิกภาพ ส.ส. ผู้ถูกร้องที่ 2, 3 สิ้นสุดลงทำให้มีตำแหน่งสมาชิก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องประกาศให้ผู้มีรายชื่อในลำดับถัดไปในรายชื่อพรรคการเมืองนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิก ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิก ส.ส.ว่างลงคือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันอ่านคือวันที่ 8 ธันวาคม 2564

สำหรับ กรณีสมาชิกภาพส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 5 ว่างลงนับแต่เมื่อใดนั้นเห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 5 มีหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ต่อมามีประกาศจากสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เลื่อนขึ้นมาเป็นส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 (1) (2) ในวันดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) และสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 2, 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมี   คำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง คือวันที่ 7 เมษายน 2564 และให้ถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่านคือวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1, 2, 3, 4 ว่างลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง(1) ประกอบมาตรา 102 และมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2)

ดูย้อนหลัง ศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่อง กกต. ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า 5 แกนนำ กปปส. พ้นสภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)