วิธีแก้ปัญหา Facebook เก็บ VAT 7% ภาษี ยิง ad ของ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

ภาษีธุรกิจ

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ซื้อโฆษณา Facebook Google หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของแพลตฟอร์มต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เมื่อ ยิง ad Facebook โดนเก็บ ภาษี 7% อยู่แล้ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ภาษี e-Service และเกี่ยวข้องกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ซื้อโฆษณา Facebook Google ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหา Facebook เก็บภาษี 7% ของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ได้อย่างถูกวิธี จึงควรทำความเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ด้วย

ภาษี e-Service คืออะไร? เกี่ยวข้องกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ ยิง ad ซื้อโฆษณา Facebook Google อย่างไร?

ภาษี e-Service คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เรียกเก็บจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ ซึ่งเป็นมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ที่ประกาศตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ คืออะไร?

แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ หมายถึง แพลตฟอร์มของบริษัทต่างชาติให้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น

  1. แพลตฟอร์ม E-Commerce ขายของออนไลน์
  2. แพลตฟอร์มโฆษณา ยิง Ad เช่น Facebook, Google
  3. แพลตฟอร์ม Agency จองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง เช่น Booking.com, Agoda
  4. แพลตฟอร์มตัวกลาง เช่น เรียกรถรับส่ง สั่งอาหาร
  5. แพลตฟอร์มบริการออนไลน์ เช่น เกม ดูหนัง ฟังเพลง ระบบ Cloud ประชุมออนไลน์ subscription และ digital content อื่นๆ เช่น App Store, Play Store, PlayStation Store, Netflix, YouTube, Spotify, Zoom, Dropbox

เมื่อเก็บภาษี e-Service แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

  1. ผู้ประกอบการต่างประเทศจะต้องมีต้นทุนที่เท่ากับผู้ประกอบการในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้เล่น
  2. แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติอาจผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด หรือบางส่วน หรืออาจยอมรับภาระไว้เอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ประกอบการต่างชาติ
  3. กรมสรรพากรคาดว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากนโยบายภาษี e-Service เพิ่มขึ้นได้ราว 5,000 ล้านบาท

ภาษี e-Service กระทบกับการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือไม่?

ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เลย เพราะนโยบายภาษี e-Service จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติเท่านั้น

วิธีแก้ปัญหาเมื่อ Facebook, Google เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในไทยต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง?

กรณีเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว

ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทยแล้ว ไม่ต้องปรับตัวอะไร ทำเหมือนเดิมทุกอย่าง เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติจะไม่เรียกเก็บ VAT จากผู้ประกอบการที่แจ้งให้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติทราบว่าได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะนำภาษีมูลค่าเพิ่มไปชำระให้กรมสรรพากรโดยตรงตามปกติ นั่นคือ ยื่น ภ.พ.36 (ซึ่งจะอธิบายต่อไปด้านล่างนี้

กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ยังไม่ได้จด VAT

ถ้าเป็นยังไม่ได้จด VAT ที่จริงก็ไม่ต้องปรับตัวอะไร ยังคงขายของได้ตามปกติ (ไม่มีหน้าที่ต้องยื่น ภ.พ.36) เนื่องจากเป็นภาระของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ เพียงแต่บริการบนบางแพลตฟอร์มอาจปรับราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นเพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนค่าภาษีที่ถูกเรียกเก็บด้วย เช่น ค่าโฆษณา Facebook Google จะมีการเรียกเก็บ VAT เพิ่มเติมอีก 7% ของค่าโฆษณา ทำให้ต้นทุนค่าโฆษณาแพงขึ้น

ซื้อโฆษณาบน Facebook, Google บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่?

ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อโฆษณาบนช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Youtube, Instagram จะสามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณประกอบธุรกิจแบบไหน เนื่องจากธุรกิจแต่ละรูปแบบย่อมมีเงื่อนไขในการบันทึกค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน

1. ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา

ในกรณีที่คุณทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา เราอาจจะต้องไปดูอีกว่า คุณเลือกให้การหักค่าใช้จ่ายของธุรกิจไว้เป็นแบบไหน เพราะการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา กับ การหักค่าใช้จ่ายตามจริงมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

1.1 หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา เนื่องจากกฎหมายถือว่า ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจถูกรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายที่ถูกหักเหมาไปแล้วทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้คุณไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อโฆษณามาหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้อีก

1.2 หักค่าใช้จ่ายตามจริง ในกรณีนี้คุณสามารถนำค่าโฆษณาที่จ่ายไปมาหักค่าใช้จ่ายได้ แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจจริงๆ และคุณจะต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ชัดเจน ต้องระบุได้ว่าค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตอนไหน? เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่? รวมถึง ชื่อผู้ซื้อโฆษณาจะต้องเป็นชื่อตัวคุณเองด้วยเช่นกัน

2. ทำธุรกิจในนามนิติบุคคล

หากคุณทำธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล มีหลักฐานการจ่ายโฆษณาที่ยืนยันได้ว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อบริษัท และมีการจ่ายเกิดขึ้นจริง หรือเป็นการจ่ายในนามบริษัท (จ่ายผ่านบัตรเครดิตบริษัท) ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลใจ เพราะคุณสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อโฆษณาไปหักลดหย่อนได้เลย

แต่ในกรณีที่การจ่ายค่าโฆษณานั้น เป็นการจ่ายเพื่อบริษัทแต่ไม่ได้ถูกจ่ายผ่านบัตรเครดิตในนามบริษัทก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะหากใบเสร็จรับเงินที่คุณได้รับ เป็นใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามบริษัท คุณก็สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาหักค่าใช้จ่ายได้ตามปกติ

อย่าลืมเช็กว่า บริษัทที่เราซื้อโฆษณา อยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ

ก่อนจะทำการขอคืนภาษีซื้อ หรือ นำค่าโฆษณามาหักค่าใช้จ่าย คุณจะต้องรู้ก่อนว่า บริษัทที่คุณไปฝากโฆษณาออนไลน์นั้น เป็นบริษัทในประเทศไทย หรือ ต่างประเทศ เพราะหากบริษัทโฆษณาในไทย คุณสามารถเตรียม ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ และทำการยื่นขอคืนภาษีได้ตามปกติ แต่การซื้อโฆษณาจากบริษัทต่างประเทศไม่ง่ายแบบนั้น

เนื่องจาก คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 104/2544 ว่าด้วย การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้ว่าจ้างหรือผู้ที่จ่ายเงินซื้อโฆษณาจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ให้บริการในต่างประเทศ และจะต้องทำการยื่น ภ.พ. 36 ภายใน 7 วันนับตั้งแต่สิ้นเดือนที่มีการจ่ายค่าโฆษณา

นั่นหมายความว่า หากคุณทำการซื้อโฆษณาออนไลน์จากบริษัทต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น google, facebook, youtube, Instagram คุณจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทนบริษัทโฆษณานั้นๆ ด้วย (ถูกเรียกเก็บ ภาษี เมื่อ ยิง Ad เพราะเป็นค่าบริการ)

ซึ่งตามปกติแล้วเงินที่คุณจ่ายให้กับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศนั้นเป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการ ยังไม่ถูกนับรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และในเมื่อคุณจะต้องทำการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทนบริษัทโฆษณาเหล่านั้น คุณจะต้องทำการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ได้ง่ายๆ โดยนำ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น × 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่าย

มาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า คุณจะต้องเป็นฝ่ายแบกรับภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ฝ่ายเดียว เพราะหลังจากที่คุณจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว คุณจะได้รับใบเสร็จจากกรมสรรพากร และสามารถนำใบเสร็จที่ได้รับมาทำเรื่องขอคืนภาษีซื้อได้ในเดือนถัดไป>

เงื่อนไขการขอคืนภาษีซื้อจากการจ่ายค่าโฆษณา (ยิง ad) ให้ Facebook / Google

  1. จะต้องเป็นค่าโฆษณาหรือค่าใช้จ่ายของบริษัทเท่านั้น ค่าใช้จ่ายส่วนตัวจะไม่สามารถทำการขอคืนภาษีซื้อได้
  2. จะต้องมี ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการจ่ายเงิน เช่น Statement บัตรเครดิต (ในกรณีนี้หากจ่ายค่าโฆษณาด้วยบัตรเครดิตของบริษัทจะสะดวกมาก)
  3. นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แทน Facebook / Google โดยการยื่นแบบ ภ.พ. 36 (ดาวน์โหลด ภ.พ. 36 ได้ที่ rd.go.th)
  4. นำใบเสร็จรับเงินที่ได้จากการกรมสรรพากร ไปทำเรื่องขอคืนภาษีซื้อได้ในเดือนถัดไป

วิธียื่น ภ.พ.36 และวิธีกรอกแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 36

วิธีกรอก ภ.พ. 36

การกรอกแบบฟอร์มนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 36) จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. ข้อมูลของผู้นำส่งภาษี (กิจการของเรา) ได้แก่

  • เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก
  • ชื่อผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ที่อยู่

2. การจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการ ได้แก่

  • ชื่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเงิน
  • ที่อยู่ หรือ ที่ตั้งบริษัทที่เป็นผู้รับเงิน
  • จ่ายเงินชำระราคาสำหรับอะไร

ตัวอย่าง

ถ้าคุณซื้อโฆษณาผ่าน Facebook ก็จะต้องระบุชื่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเงินว่า Facebook Ireland Limited ที่อยู่ 4 Grand Canal Square, Grand Canel Harbour, Dublin 2, Ireland เป็นต้น โดยระบุเป็นค่าโฆษณา

3. การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • จำนวนเงินที่จ่าย
  • จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง (ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น x 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่าย)
  • จำนวนค่าปรับและเงินเพิ่ม ในกรณีที่นำส่งภาษีเกินเวลา หรือ จ่ายไม่ถูกต้อง (ถ้ามี)

ตัวอย่าง

ถ้าคุณซื้อโฆษณาผ่าน Facebook เป็นเงิน 10,000 บาท ก็ให้ระบุจำนวนเงินที่จ่าย 10,000 บาท และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม 700 บาท (7% ของค่าโฆษณา 10,000 บาท)

ทั้งนี้ หากคุณทำการซื้อโฆษณาผ่านบริษัทต่างประเทศ และไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ไม่ยื่นแบบฟอร์มนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 36) ให้เรียบร้อย คุณจะต้องจ่ายค่าปรับและเงินเพิ่มเช่นเดียวกับการไม่ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีอื่นๆ

แต่หากคุณทำการยื่นแบบฟอร์มนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 36) และชำระให้เรียบร้อย นอกจากธุรกิจของคุณจะไม่เสี่ยงต่อการโดนตรวจสอบย้อนหลังแล้ว คุณจะยังได้รับเงินคืนจากภาษีซื้อหรือภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไปอีกด้วย

อย่างไรก็ดี หลายคนเข้าใจผิดว่าหากไม่ได้ยื่น ภ.พ. 36 จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายจากค่าโฆษณาได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะ การนำค่าโฆษณาไปหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการนั้นเป็นเรื่องภาษีเงินได้ หากรายจ่ายนั้นเกิดขึ้นตามจำเป็นและสมควรกับกิจการ และตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงินจริงได้ ย่อมสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ส่วนการไม่ยื่น ภ.พ. 36 เป็นเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน จึงไม่ทำให้สิทธิในการนำค่าโฆษณามาหักเป็นค่าใช้จ่ายสูญเสียไปแต่อย่างใด

หากคุณต้องการจดทะเบียนบริษัท หรือ ต้องการใช้บริการนักบัญชีมืออาชีพ คุณสามารถเลือกใช้บริการนักบัญชีจาก iTAX sme ได้ เรากล้ารับรองว่า นักบัญชีของเราจะช่วยให้คุณปวดหัวกับการจัดการภาษีน้อยลง และมีเวลาสำหรับวางแผนธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน สอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)