จูงใจหัวกะทิกลับไทย ลดภาษีบุคคลธรรมดา เหลือ 17%

มาตรการภาษีจูงใจให้คนไทยที่มีศักยภาพสูงในต่างประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดย ลดภาษีบุคคลธรรมดา แบบเหมาเหลือ 17% ส่วนนายจ้างหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว
- ครม.เคาะ Thai ESGX ลดภาษี 5 แสน เริ่มกลางปี 2568
- เช็กสถานะเงินคืนภาษี 2567 ผ่านระบบ D-MyTax กรมสรรพากร
25 มีนาคม 2568 – ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 793) พ.ศ. 2568 โดยมีผลใช้บังคับแล้ว เพื่อดึงดูดคนไทยในต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวชาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ด้วยมาตรการลดภาษีให้ทั้งหัวกะทิจากต่างประเทศและนายจ้างไทย
ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหัวกะทิและนายจ้างไทย
สาระสำคัญของมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. กรณีลูกจ้าง ลดภาษีบุคคลธรรมดา 17%
สำหรับลูกจ้างตามคุณสมบัติที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายสูงกว่า 17% ให้ลดเหลือ 17% ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย เริ่มได้สิทธิตั้งแต่วันที่กรมสรรพากรได้รับแจ้งจากนายจ้าง โดยต้องเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง 31 ธันวาคม 2572
2. กรณีนายจ้าง หักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้เป็น 1.5 เท่า
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด สามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างตามคุณสมบัติ ระหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ได้จำนวน 1.5 เท่า
คุณสมบัติของลูกจ้างตามมาตรการดึงดูดหัวกะทิกลับไทย
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย
- มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
- ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี
- กลับเข้าไทยตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง 31 ธันวาคม 2568
- เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
- ไม่เคยทำงานในไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้
- ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธิอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าอยู่ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ
- ในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น ต้องอยู่ไทยรวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วัน เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้าย ที่ใช้สิทธิจะอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้
- มีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีอะไรบ้าง?
กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) ได้กำหนด 14 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้
1. อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility)
อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หมายถึง อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และเซ็นเซอร์ สามารถเชื่อมต่อสื่อสารกันได้ เช่น ระบบ ride-sharing มีระบบสนับสนุนการขับ เช่น ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Energy-efficient ICE) เช่น รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์
2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics)
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หมายถึง อุตสาหกรรมที่ออกแบบและผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์และซอฟต์แวร์ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อสื่อสารกับอุปกรณ์และผู้ใช้ด้วยเทคโนโลยีเครื่องรับรู้ (Sensors) และวงจรรวม (Integrated Circuits) การนำอุปกรณ์เครื่องใช้มาติดตั้งระบบสมองกลฝังตัวเพื่อให้มีคุณสมบัติใหม่ สามารถสื่อสารระหว่างกันอย่างอิสระผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เช่น ระบบการจราจรอัจฉริยะ ระบบควบคุมพลังงานในอาคารแบบฉลาด ระบบเซนเซอร์ ไบโอเซนเซอร์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์อัจฉริยะ
3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ High Wealth and Medical Tourism
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หมายถึง การท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่า การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายค่อนข้างสูง
4. อุตสาหกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advance Agriculture and Biotechnology)
อุตสาหกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หมายถึง อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการเกษตร หรือเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การปรับปรุงพันธ์ การพัฒนาจุลินทรีย์ในการใช้ประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อการพัฒนาคุณภาพและผลิตภาพของสินค้าและบริการ
5. อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food For the Future)
อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หมายถึง อุตสาหกรรมอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากผลผลิตทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการแปรรูปและแปลงสภาพให้เป็นอาหารที่ผู้บริโภคต้องการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- อาหารออแกนิค (Organic Food) หมายถึง อาหารที่แปรรูปมาจากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมี
- อาหารใหม่ (Novel Food) หมายถึง อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบหรือมีส่วนประกอบของอาหารที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้น ๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
- ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ (Functional Food) หมายถึง อาหารที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถของกลไกในร่างกายในการดูแลสุขภาพหรือป้องกันโรค
- อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) หมายถึง อาหารที่ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อช่วยผู้ป่วยให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อโรค
6. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Industrial Robotics)
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม หมายถึง อุตสาหกรรมการผลิตและให้บริการหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- หุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะ ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบ “แขนหุ่นยนต์” ที่มีแกนเคลื่อนที่ “แบบหมุน (Articulated Robot)”
- หุ่นยนต์ที่ใช้ในกระบวนการอัดฉีดพลาสติก โดยมีทั้งแขนหุ่นยนต์ที่เป็นรูปแบบแขนหุ่นยนต์ที่มีแกนเคลื่อนที่ “แบบหมุน (Articulated Robot)” และรูปแบบแกนเคลื่อนที่ “แบบเชิงเส้น (Linear Gantry Robot)”
- หุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ปฏิบัติการทางการแพทย์ มีระบบประสาทสัมผัสด้านความปลอดภัย มีการเรียนรู้คำสั่งและสามารถควบคุมได้
7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ หมายถึง อุตสาหกรรมการบริการการบิน การฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน การซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และกิจกรรมทางโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบไปด้วยกิจการที่เกี่ยวข้อง คือ
- กิจการสาธารณูปโภคและการบริการเพื่อการขนส่ง (Logistics and Infrastructure) ประกอบไปด้วย กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า (Inland Container Depot หรือ ICD) และกิจการขนส่งทางรางและสนามบินพาณิชย์ โดยรวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานให้เป็นเขตอุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High-value Manufacturing) หรือธุรกิจที่ต้องการความเร็วจากการขนส่งทางอากาศ
- การให้บริการขนส่งทางรางทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า ได้แก่ การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจและสังคม นโยบายขนส่งสาธารณะ การวางแผนการขนส่งสาธารณะ การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและสินค้าทางราง การพัฒนาโดยรอบสถานี การผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศ มาตรฐานระบบราง ระบบการออกแบบและก่อสร้างทางโยธาและการวางราง ขบวนรถไฟ ระบบเครื่องกลไฟฟ้าและการสื่อสาร ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการวางแผนจัดการเดินรถ ระบบการซ่อมบำรุง ระบบงานสถานี ระบบตั๋วโดยสาร และแอพลิเคชันระบบสนับสนุนการให้บริการเดินทาง
- การให้บริการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน (Specialist Development) ซึ่งประกอบไปด้วยนักบินและลูกเรือ (Pilot and Cabin Crew) บุคลากรด้านเทคนิค (Technician) รวมถึงบุคลากรด้านซ่อมบำรุง และพนักงานภาคพื้น (Ground Staff)
- การบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance) ซึ่งประกอบไปด้วยการซ่อมบำรุงชิ้นส่วน การซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน
- ศูนย์รวมกิจการโลจิสติกส์ทันสมัย (Logistics Hub) ประกอบไปด้วย การขนส่งทางอากาศ (Air Cargo) ศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย (International Distribution Center หรือ IDC) การขนส่งแบบ Cold Chain และการขนส่งที่ใช้ Big Data and Analytics
8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Bio-based Energy & Chemicals)
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ หมายถึง อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนหรือแปรรูปสารอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มชนิดอื่น ๆ โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจรที่พัฒนาต่อยอดจากอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลและเคมีในปัจจุบัน รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)
9. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry)
อุตสาหกรรมดิจิทัล หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ประกอบไปด้วยกิจการที่เกี่ยวข้อง 6 ด้าน คือ
- ธุรกิจพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ ทั้ง Embedded Software, Enterprise Software และ Digital Content และสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่นิคม Software Park
- ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งในและต่างประเทศ (Domestic and International E-commerce Player) ซึ่งรวมถึงการยกระดับภาคการค้าปลีกของไทยสู่การใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเริ่มต้นธุรกิจ และ Startup สำหรับผู้บริโภคในประเทศ และดึงดูดผู้ประกอบการ E-commerce ต่างชาติให้เข้ามาลงทุน
- ศูนย์รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค (Analytics and Data Center) เพื่อให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลเจาะลึกของตลาด (Consumer Insights) แก่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่นิคม Data Center
- การบริการเกี่ยวกับหน่วยจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผลออนไลน์ (Cloud Computing) และการป้องกันอันตรายในโลกออนไลน์ (Cyber Security)
- การพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของอุปกรณ์ต่าง ๆ (Internet of Things – Enabled Smart City)
- อุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์และแอนิเมชัน (Creative Media and Animation)
10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หมายถึง การให้บริการทางการแพทย์และด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กิจการด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และกิจการด้านเวชภัณฑ์ ประกอบไปด้วยกิจการที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน คือ
- การให้บริการด้านการแพทย์ผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน (eHealth and mHealth)
- การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการรักษา วินิจฉัยและติดตามผลระยะไกล (Remote Health Monitoring Device)
- การวิจัยยาและการผลิตยาที่ทันสมัย (Next-generation Medicine)
- การวิจัยและผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilar)
- การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism)
11. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (National Defense Industry)
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หมายถึง การวิจัยพัฒนา การออกแบบ การผลิต การปรับปรุง การซ่อมบำรุง การแปรสภาพ หรือการให้บริการผลิตภัณฑ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ
12. อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึง อุตสาหกรรมที่มีการวางแผนให้ทรัพยากรในระบบการผลิตทั้งหมดสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยมุ่งเน้นการคงคุณค่าผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุด ส่งเสริมการใช้ซ้ำ สร้างของเสียในปริมาณที่ต่ำที่สุด และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่
13. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย จะครอบคลุมถึงกิจกรรมการส่งเสริมการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพที่มีหลักสูตรอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นพัฒนาทักษะทางอาชีพและทักษะเฉพาะทางเทคนิค เพื่อนำความรู้ในเชิงทฤษฎีมาใช้จริง สนับสนุนการเรียนการสอนทักษะในยุคดิจิทัล และผลิตบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม และกิจกรรมการวิจัยพัฒนาที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม
14. อุตสาหกรรมอื่นๆ
อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจจัดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต
ทำไมต้องดึงหัวกะทิกลับไทย?
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 793) พ.ศ. 2568 ได้ระบุเหตุผลว่า โดยที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการภาษีเพื่อดึงดูดให้ผู้มีทักษะที่เคยทำงานในต่างประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศ
จึงสมควรลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่เคยทำงานในต่างประเทศ และเดินทางเข้ามาทำงานในกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจ้างงานบุคคลดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572
ต้องได้เงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะคุ้มกับอัตราภาษี 17%?
หากในปี 2567 บุคคลธรรมดามีเงินเดือนเดือนละ 183,141.03 บาท (รวมทั้งปี 2,197,692.36 บาท) และมีค่าลดหย่อนเพียง 2 รายการ ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนเงินประกันสังคม 9,000 บาท จะคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ 373,607.69 บาท คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้ตลอดทั้งปี ((ค่าภาษี 373,607.69 ÷ รายได้ทั้งปี 2,197,692.36) × 100)
ดังนั้น หากบุคคลธรรมดามีเงินเดือนมากกว่าเดือนละ 183,141.03 บาท การถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 17% เป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด (Final tax) ย่อมช่วยให้ประหยัดภาษีมากกว่าตามมาตรการดึงดูดคนไทยในต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวขาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย