www.prachachat.netลูกจ้างในระบบประกันสังคม (กฎหมายเรียกลูกจ้างว่า ‘ผู้ประกันตนตามมาตรา 33’) ที่ขณะนี้ว่างงานเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ววันนี้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th โดยไม่ต้องเดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ซึ่งมีขั้นตอนการลงทะเบียน ดังนี้
ขั้นตอนการลงทะเบียนสำหรับลูกจ้าง ที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย
1. เข้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ที่หน้าแรกเลือก ‘กรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทน คลิกที่นี่’ ที่อยู่ด้านล่างของจอ
2. ที่หน้าขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานและชราภาพ Online (e-form for SSO benefits) ไปที่ ‘1. กรณีว่างงาน (สำหรับผู้ประกันตน)’ และเลือก ‘แบบฟอร์มขอรับประโยชน์ กรณีว่างงาน (สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน)’ เพื่อให้ลูกจ้างกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มออนไลน์
3. หลังจากนั้นจะพบกับแบบฟอร์มเพื่อให้ลูกจ้างกรอกในรูปแบบ Google Form โดยคุณสามารถกรอกข้อมูลลงไปได้เลย ทั้งนี้ กรุณากรอกข้อมูลทุกอย่างตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างเอง
4. ในส่วนแรกระบบจะถามข้อมูลทั่วไปและข้อมูลติดต่อปัจจุบัน กรุณาตอบตามความเป็นจริงเพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้สามารถติดต่อกลับได้ ส่วนอีเมลติดต่อนั้นแม้ระบบจะไม่ได้บังคับ แต่ถ้ากรอกไว้ด้วย สำนักงานประกันสังคมจะส่งอีเมลยืนยันการได้รับคำร้องของท่านให้ในภายหลังได้
5. เมื่อตอบข้อมูลเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ระบบจะเริ่มถามข้อมูลเกี่ยวกับนายจ้าง วันที่ออกหรือหยุดจากงาน และสาเหตุการออกจากงานด้วย โดยให้ตอบตามความเป็นจริงเช่นกัน
หมายเหตุ : ในกรณีที่ลูกจ้างตอบสาเหตุการออกจากงานว่า รัฐสั่งปิดกิจการ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ หรือสัมผัส ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรคระบาด (ตอบ 3, 5, 6 หรือ 7) สำนักงานประกันสังคมจะต้องรอเอกสารยืนยันจากนายจ้างเพื่อยืนยันความถูกต้องด้วย ซึ่งอาจทำให้การส่งเงินให้ลูกจ้างล่าช้าขึ้น
6. ส่วนต่อมาระบบจะถามข้อมูลบัญชีธนาคารสำหรับรับเงินจากสำนักงานประกันสังคม ให้กรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร 1 ใน 9 แห่งที่ปรากฏตามตัวเลือกของระบบ
7. ในส่วนสุดท้าย ระบบจะให้เลือกว่าต้องการยื่นเรื่องกับสำนักงานประกันสังคมเขตไหน และรับรองข้อมูลที่กรอกไว้ทั้งหมด โดยติ๊กที่ช่องหน้าคำว่า ‘รับรองและยืนยันตามข้อมูลที่ได้กรอกข้างต้น’ จากนั้นให้กดส่งฟอร์ม เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการลงทะเบียน
ขั้นตอนการลงทะเบียนการแจ้งปิดกิจการชั่วคราวจาก COVID-19 สำหรับนายจ้าง
นายจ้างที่ได้รับกระทบจากจาก COVID-19 ก็ต้องลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมด้วย เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมมีข้อมูลที่ตรงกันกับลูกจ้าง และเป็นการยืนยันว่า การหยุดงานที่มีสาเหตุจากการปิดกิจการมีอยู่จริง โดยขั้นตอนการลงทะเบียนดังนี้
1. ไปที่เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th เช่นกัน แต่นายจ้างจะต้องไปที่ 3. กรณียืนยันการปิดกิจการชั่วคราวอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (สำหรับนายจ้าง) แล้วเลือก ‘แบบฟอร์มยืนยันการปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (สำหรับ นายจ้าง)’ เพื่อกรอกข้อมูล
2. เมื่อมาถึงหน้านี้แล้ว ในส่วนแรกให้นายจ้างกรอกแบบฟอร์มสำหรับนายจ้างเพื่อยืนยันการปิดกิจการชั่วคราวอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยและรับรองช่วงเวลาการหยุดงานของลูกจ้าง ซึ่งจะเป็นข้อมูลทั่วไปของนายจ้าง ได้แก่ ชื่อสถานประกอบการ เลขที่บัญชีประกันสังคม (10 หลัก) ประเภทธุรกิจ (เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ) และจังหวัดที่ตั้งสถานประกอบการ รวมถึงระบุสาเหตุที่ลูกจ้างไม่สามารถมาทำงานได้
3. ในส่วนต่อมา ระบบจะให้นายจ้างกรอกข้อมูลลูกจ้างในรูปแบบ ดังนี้
- คำนำหน้า ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเริ่มหยุดงาน-วันสุดท้ายที่หยุดงาน,
- คำนำหน้า ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเริ่มหยุดงาน-วันสุดท้ายที่หยุดงาน,
- คำนำหน้า ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเริ่มหยุดงาน-วันสุดท้ายที่หยุดงาน
เช่น นาย ประวุตร จันทร์สุวรรณ 1234567890123 9/2/2563-15/3/2563,
โดยในช่องยืนยันการรับรู้ คำชี้แจงการกรอกข้อมูล จะต้อง ‘ท่านได้อ่าน และทำความเข้าใจถึงวิธีการกรอกข้อมูลแล้ว’ แล้วเริ่มกรอกชื่อลูกจ้างที่หยุดงานในช่อง ‘รายชื่อ ลูกจ้างที่หยุดงาน มีดังนี้’
หมายเหตุ :
- การกรอกข้อมูลแต่ละชุดจะต้องเว้นวรรคระหว่างกัน
- วันเดือนปีที่เริ่มหยุดงานและวันเดือนปีสุดท้ายที่หยุดงานจะใช้ เครื่องหมาย (/) คั่นระหว่างวัน เดือน และปี โดยปีต้องใช้เป็นปี พ.ศ.
- วันเดือนปีที่เริ่มหยุดงานและวันเดือนปีสุดท้ายที่หยุดงานจะเชื่อมด้วยเครื่องหมาย (-) โดยไม่เว้นวรรค
- หากต้องกรอกข้อมูลลูกจ้างมากกว่า 1 คนให้ใส่เครื่องหมาย (,) ปิดท้ายก่อนขึ้นบรรทัดใหม่แล้วกรอกข้อมูลของคนต่อไป ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงคนสุดท้ายก็ไม่ต้องปิดท้ายด้วยเครื่องหมาย (,) แล้ว
4. ในส่วนสุดท้าย ให้นายจ้างเลือกสำนักงานประกันสังคมเขตที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ระบุชื่อ-นามสกุลของนายจ้าง/ผู้รับมอบอำนาจจากนายจ้าง เลือก ‘ข้าพเจ้ารับรองและยินยอมตามข้อความดังกล่าว’ แล้วกดส่งฟอร์ม เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการส่งข้อมูลการปิดกิจการชั่วคราวฯ
ข้อควรระวัง
1. ขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับผลประโยชน์จากประกันสังคมกรณีว่างงานข้างต้น เป็นการลงทะเบียนสำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เป็นเหตุสุดวิสัยเท่านั้น
2. ผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะได้รับเงินชดเชยก็ต่อเมื่อ นายจ้างทำการลงทะเบียนแล้วด้วยเช่นกัน เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมต้องตรวจสอบว่า “เป็นการว่างงานที่เกิดขึ้นจริง”
3. สำหรับผู้ประกันตนที่ต้องการลงทะเบียนว่างงาน กรณีเลิกจ้างหรือลาออกที่ไม่เกี่ยวกับ COVID-19 หากต้องการลงทะเบียนเพื่อรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จะต้องไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน https://empui.doe.go.th/auth/index ไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิที่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมได้
ทบทวนสิทธิ์ของผู้ประกันตนที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคม
ตามนโยบายช่วยเหลือล่าสุดของรัฐบาล หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) สิ่งที่คุณจะได้รับจากกองทุนประกันสังคม จะแบ่งออกเป็นกรณีดังนี้
1. ว่างงานเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID–19)
เดิมโรคระบาดไม่จัดเป็นเหตุสุดวิสัยจนนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ จึงทำให้การตีความเหตุสุดวิสัยแบบเดิมไม่ครอบคลุมกรณี COVID-19 ด้วย แต่คณะกรรมการประกันสังคมให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ รวมทั้งภัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น และรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้
- กรณีลูกจ้างไม่ได้ทำงาน หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงาน จะได้รับเงินประโยชน์ทดแทนช่วยเหลือ ในอัตรา 50% ของค่าจ้างปกติ แต่จะได้สูงสุดไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 180 วัน
- กรณีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราวของรัฐ จะได้รับเงินประโยชน์ทดแทนช่วยเหลือ ในอัตรา 50% ของค่าจ้างปกติ แต่จะได้สูงสุดไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน
2. ว่างงานจากการหยุดกักตัว 14 วัน เนื่องจากมีความเสี่ยงติดโควิด-19
ในกรณีที่นายจ้างมีมาตรการให้ลูกจ้างกักตัว 14 วัน เนื่องจากสงสัยว่าลูกจ้างหรือพนักงานมีความเสี่ยงที่จะติดไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และไม่จ่ายค่าจ้างนั้น ลูกจ้างสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยได้
และลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา 62% ของอัตราค่าจ้างรายวัน เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน (เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 7,080-8,000 บาท) ตามที่นายจ้างรับรอง หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคมีคำสั่งให้กักตัว โดยมีข้อแม้ว่า นายจ้างและลูกจ้าง จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ผ่านระบบ e-form ที่เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news
อ้างอิงข้อมูลจาก www.prachachat.net
หมายเหตุ
1. มาตรการชดเชยการว่างงานจากการกักตัว 14 วันข้างต้น อยู่ระหว่างแก้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ม. 79/1
2. จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ยังไม่ลาออก และไม่ถูกเลิกจ้าง
3. ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนมีคำสั่งให้กักตัว
4. จะต้องมีหนังสือรับรองจากนายจ้าง หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค
5. การรับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของสำนักงานประกันสังคม (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ : www.sso.go.th )
3. ว่างงานเนื่องจากลาออก / ถูกเลิกจ้าง
กรณีว่างงานเนื่องจากลาออกหรือถูกเลิกจ้างในช่วงเวลานี้ คณะกรรมการประกันสังคมได้เพิ่มเพดานเงินประโยชน์ทดแทนเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง ดังนี้
- กรณีลูกจ้างว่างงาน เพราะลาออกโดยสมัครใจ จะได้รับเงินประโยชน์ทดแทนช่วยเหลือ ในอัตรา 45% ของค่าจ้างปกติ แต่จะได้สูงสุดไม่เกินเดือนละ 6,750 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน
- กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินประโยชน์ทดแทนช่วยเหลือ ในอัตรา 70% ของค่าจ้างปกติ แต่จะได้สูงสุดไม่เกินเดือนละ 10,500 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 200 วัน
3. แบ่งเบาภาระประกันสังคมให้นายจ้างและลูกจ้าง
3.1. ปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
- นายจ้าง ปรับลดจากเดิม 5% เหลือ 4% (คำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ทำให้เพดานเงินสมทบจากนายจ้างจากเดิมสูงสุด 750 บาท เหลือ 600 บาท
- ลูกจ้าง ปรับลดจากเดิม 5% เหลือ 1% (คำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ทำให้เพดานเงินสมทบจากนายจ้างจากเดิมสูงสุด 750 บาท เหลือ 150 บาท
3.2 ขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง และ ผู้ประกันตน
ออกไปอีก 3 เดือน สำหรับค่าจ้างระหว่างมีนาคม – พฤษภาคม 2563 ดังนี้
- งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 นำส่งเงินภายใน 15 กรกฎาคม 2563
- งวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 นำส่งเงินภายใน 15 สิงหาคม 2563
- งวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กันยายน 2563
สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) และมีข้อสงสัยอื่นๆ เพิ่มเติมคุณสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือ สายด่วน 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)